xs
xsm
sm
md
lg

ไต้หวันกอบกู้ธุรกิจเมโมรี-ชิป รวมกิจการ6บริษัทไว้สู้เกาหลีใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซี – รัฐบาลไต้หวันเตรียมแผนกอบกู้อุตสาหกรรมเมโมรี-ชิป (memory chip) โดยการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งเพื่อรวมผู้ผลิตในประเทศทั้ง 6 แห่งเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างอำนาจแข่งขันกับคู่แข่งจากเกาหลีใต้ หวังดึงพันธมิตรที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าจากญี่ปุ่นและสหรัฐฯ มาร่วมส้งฆกรรม

รัฐบาลวางแผนก่อตั้งบริษัทไต้หวัน เมโมรี โค เพื่อประสานงานให้บริษัทผู้ผลิตเมโมรี-ชิปบนเกาะไต้หวันทั้ง 6 แห่งร่วมมือกันมากขึ้น หรือหากเป็นไปได้ก็อาจเป็นการควบรวมกิจการ โดยมีบริษัท โปรโมส์ เทคโนโลยี อิงค์, หนันย่า เทคโนโลยี คอร์ป, พาวเวอร์ชิป เซมิคอนดัคเตอร์ คอร์ป, วินบอนด์ อิเลคทรอนิคส์ คอร์ป, เร็กซ์ชิป อิเลคทรอนิคส์ โค และ อิโนเทรา เมโมรีส์ อิงค์

โดยรัฐบาลไต้หวันจะอัดฉีดเงินเพื่อก่อตั้งบริษัทแห่งใหม่ แต่ยังไม่มีการระบุว่าเป็นเงินจำนวนเท่าใด ขณะเดียวกันก็จะหาบริษัทพันธมิตรที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้ามาร่วมกิจการ ซึ่งอาจเป็น เอลพิด้า เมโมรี อิงค์ จากญี่ปุ่น หรือไมครอน เทคโนโลยี อิงค์ จากสหรัฐฯ

แผนดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากบริษัทผู้ผลิต เมโมรี ชิป ที่เรียกว่า DRAM หรือ dynamic random access memory ต้องประสบปัญหาเนื่องจากราคาในท้องตลาดลดลงอย่างรวดเร็ว

“นี่คือภารกิจที่ยากมาก แต่แผนการนี้จะใช้ได้ผล” จอห์น เซวียน ผู้ทรงคุณวุฒิในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ที่ได้รับมอบหมายให้จัดตั้งบริษัทแห่งนี้ ระบุ

ขณะที่ จอยซ์ หยาง นักวิเคราะห์จาก DRAMeXchange บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยอุตสาหกรรม กล่าวว่า หากรัฐบาลไต้หวันตั้งบริษัทนี้สำเร็จ จะทำให้มีผู้ผลิต DRAM เพียง 2 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ผลิตเกาหลี และกลุ่มผู้ผลิตที่ไม่ใช่เกาหลี

รายงานจากบริษัทวิจัย iSuppli Corp ระบุว่า เมื่อปีที่แล้วราคา DRAM ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ผลิตจากทั่วโลกประสบภาวะขาดทุนคิดเป็นมูลค่ารวมกันถึง 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากมูลค่าการขายทั้งหมด 2.36 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ

โดยบริษัทจากไต้หวัน ซึ่งผลิต DRAM ชิปออกสู่ตลาดโลกคิดเป็นปริมาณ 1 ใน 3 และประสบภาวะขาดทุนคิดเป็นมูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท และเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา บริษัท Qimonda AG ผู้ผลิตเมโมรี ชิป รายใหญ่จากเยอรมนี ได้ถูกฟ้องล้มละลาย ในปีที่แล้ว DRAM ที่ผลิตในสหรัฐฯ มีอยู่ในท้องตลาดคิดเป็น 9 เปอร์เซ็นต์ ส่วน DRAM ที่ผลิตจากญี่ปุ่นมีอยู่ในตลาดคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์

“นี่คือช่วงเลวร้ายที่สุดของอุตสาหกรรม DRAM และประสบการณ์ด้านการจัดการก็ไม่ช่วยอะไรได้” นั่นเป็นความเห็นของนักวิเคราะห์จากมอร์แกน สแตนลีย์ นายแฟรงค์ หวัง (Frank Wang)

DRAM คือหน่วยเก็บข้อมูลที่ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญในเครื่องคอมพิวเตอร์ และถือเป็นธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่ยากที่สุด เพราะผู้ผลิตจะต้องผลิตให้ได้มาตรฐานตามสเปคที่กำหนดไว้ แถมยังต้องมีการแข่งขันในเรื่องราคา ผลก็คือบรรดาซัพพลายเออร์จะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาลเพื่อผลิตชิปเก็บข้อมูล ขณะเดียวกันก็ต้องใช้เครื่องจักรเพื่อให้ผลิตได้จำนวนมากจะได้มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าคู่แข่ง

จิม แฮนดี้ นักวิเคราะห์ด้านวิจัยตลาด ประมาณการว่า เงินลงทุนเพื่อตั้งโรงงานผลิตชิปแห่งใหม่จะเพิ่มขึ้น 12 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ขณะที่รายได้จากอุตสาหกรรมนี้จะลดลงกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีบริษัทใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันในธุรกิจนี้น้อยลง และการรวมตัวกันของบริษัทผู้ผลิตชิปอาจจะยังไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่เพียงพอ

ไต้หวันถือเป็นดินแดนที่เจอปัญหานี้มากที่สุด เพราะบริษัทในไต้หวันครองส่วนแบ่งแลปท๊อปในตลาดโลกถึง 93 เปอร์เซ็นต์ และยังครองส่วนแบ่งโทรศัพท์มือถือ มอนิเตอร์จอแบน และสารกึ่งตัวนำ (เซมิคอนดัคเตอร์) จำนวนมากในตลาดโลก

ที่ผ่านมา ผู้ผลิต DRAM รายใหญ่ในไต้หวันทั้ง 3 บริษัท ใช้เงินลงทุนด้านการผลิตรวมกันถึง 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลและยังไม่ต้องจ่ายภาษี ทุกวันนี้ทั้ง 3 บริษัทดังกล่าวต้องประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจขาลง และมูลค่าการตลาดของทั้ง 3 บริษัทรวมกันมีมูลค่าน้อยกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ในขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ควบรวมกิจการบริษัทผู้ผลิต DRAM เข้าด้วยกันเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีในเกาหลีเหลือเพียง 2 บริษัท คือซัมซุงและไฮนิกซ์ แต่ปัจจุบันรัฐบาลไต้หวันทำได้เพียงการจำกัดเงินอุดหนุนและความช่วยเหลือด้านภาษีแก่บริษัทผลิต DRAM และบริษัทเหล่านี้ก็มีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะพัฒนาเทคโนโลยีในยุคต่อไปได้

ดังนั้น บริษัทไต้หวัน เมโมรี โค จึงจะมุ่งเน้นไปที่ภาคส่วนการผลิตเท่านั้น ส่วนความสามารถทางด้านเทคโนโลยีจะได้การจัดสรรให้จากหุ้นส่วนในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลไต้หวันยังไม่ได้ตัดสินใจว่า จะร่วมทุนกับเอลพิด้าจากญี่ปุ่น หรือไมครอน จากสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมาสำนักข่าวบลูมเบิร์กได้รายงานว่า ทางบริษัทผู้ผลิตเมโมรี-ชิปยักษ์ใหญ่ในเกาะไต้หวันจะดำเนินการตามแผนของตัวเอง ไม่ทำตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจของรัฐบาลไต้หวัน

โดยบริษัทพาวเวอร์ชิป เซมิคอนดัคเตอร์ คอร์ป และบริษัทลูก เร็กซ์ชิป อิเลคทรอนิคส์ เปิดเผยว่า บริษัทจะฟื้นการเจรจาเพื่อควบรวมกิจการกับเอลพิด้า เมโมรี่ของญี่ปุ่น โดยบริษัทญี่ปุ่นได้กล่าวไว้ในอีเมล์ว่า ทางบริษัทจะตัดสินใจว่าจะร่วมทุนกับรัฐบาลไต้หวันหรือไม่ หลังจากทำการศึกษาแผนจัดตั้งบริษัทอย่างถี่ถ้วนแล้ว

ทางด้านหนันย่า และอิโนเทร่า เมโมรี่ส์ ก็ระบุว่า จะไม่เข้าร่วมแผนการที่รัฐบาลเสนอให้ก่อตั้งบริษัทโฮลดิ้ง “ไต้หวัน เมโมรี่” เพื่อซื้อโรงงานจากผู้ประกอบการชิปในไต้หวัน และจะรักษาความสัมพันธ์กับไมครอน เทคโนโลยีต่อไป โดยซึ่งปัจจุบันไมครอนก็ร่วมทุนกับหนันย่า เพื่อดำเนินกิจการในนามบริษัทอิโนเทราอยู่แล้ว

บีแวน เย่ ซึ่งรับผิดชอบบริหารจัดการสินทรัพย์ 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐที่บริษัท พรูเดนเชียล ไฟแนนเชียล ซิเคียวริตี้ส์ อินเวสต์เม้นท์ ทรัสต์ เอ็นเตอร์ไพรส์ในไทเป แสดงความคิดเห็นต่อการที่รัฐบาลไต้หวันคิดตั้งบริษัทโฮลดิ้งว่า “มันมีช่องว่างสูงมากระหว่างความฝันกับความเป็นจริง ดังนั้นการทบทวนแผนนี้ใหม่อาจเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมในระยะยาว เนื่องจากบริษัทที่อ่อนแอจะปิดกิจการหรือล้มละลาย ซึ่งจะเป็นการช่วยลดปัญหาการผลิตล้นเกินและกระตุ้นราคาชิปด้วย”
กำลังโหลดความคิดเห็น