เอเอฟพี - โวเซอร์ (Woeser) เป็นนักเขียนชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดคนหนึ่งของทิเบต และเมื่อดูจากภูมิหลังแล้ว ไม่น่าจะเป็นไปได้ว่า เธอยังเป็นนักวิพากษ์วิจารณ์การปกครองของจีนในดินแดนหลังคาโลกอีกด้วย
สตรีวัย 43 ปีผู้นี้ แม้เป็นบุตรสาวของนายทหารจีนเชื้อสายฮั่น กับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เชื้อสายทิเบต ทว่าเธอก็เป็นพวกเดียวกับชาวทิเบตอย่างเต็มหัวใจ
“ มันเป็นไปได้ยังไงกัน ที่ในดินแดนของตัวเอง ชาวทิเบตกลับมีเสรีภาพน้อยเหลือเกิน?” โวเซอร์สนทนากับนักข่าวเอเอฟพีทางโทรศัพท์ด้วยภาษาจีนกลางอย่างคล่องแคล่ว ก่อนหน้าจะถึงช่วงสัปดาห์ครบรอบ 50 ปีของเหตุการณ์ชาวทิเบตก่อจลาจลต่อต้านการปกครองของจีน
โวเซอร์ใช้ชื่อเดียวเหมือนอย่างชาวทิเบตอีกหลายคน เธอปฏิเสธการให้สัมภาษณ์แบบเห็นหน้าค่าตากัน เพราะวิตกเรื่องที่เจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์คอยติดตามความเคลื่อนไหวของเธอทุกฝีกก้าว โดยมีการดักฟังโทรศัพท์ และสะกดรอยตาม แต่สตรีผู้นี้ก็ยังคงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลจีนต่อทิเบตผ่านทางบล็อกของเธอในอินเตอร์เน็ตอย่างชนิดกัดไม่ปล่อย
โวเซอร์เกิดในกรุงลาซา พออายุได้ 4 ขวบก็ย้ายมาอยู่มณฑลเสฉวนทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนตามบิดา ซึ่งย้ายตำแหน่งงานในกองทัพ
และในช่วง 26 ปีแรกของชีวิต ไม่มีสิ่งใดเลย ที่จะบ่มเพาะชีวิตของ
โวเซอร์ ให้กลายมาเป็นนักต่อต้านได้
“การศึกษาที่เราได้รับนั้น สอนเราในลักษณะว่าทิเบตเลวร้าย เรายังเด็ก ก็เชื่อ” โวเซอร์พูดถึงการเล่าเรียนหนังสือสมัยวัยเยาว์
ทว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย และหวนกลับคืนสู่กรุงลาซาในปี 2533 เธอก็ได้สัมผัสความจริงด้วยตนเองเกี่ยวกับการปกครองของรัฐบาลจีนในดินแดนหิมาลัยแห่งนี้ โวเซอร์จึงตัดสินใจทุ่มเทชีวิต เพื่อป่าวประกาศความจริง
ในฐานะบรรณาธิการนิตยสารด้านวรรณกรรมทิเบต โวเซอร์กับเพื่อนร่วมงานถูกบังคับให้ “เข้าเรียนการเมือง” ทุกวันพฤหัสฯ
"เป็นการประกาศในทันทีว่า คุณจะไปวัดไม่ได้นะ หรือจะไหว้พระพุทธเจ้าไม่ได้” โวเซอร์ ซึ่งเป็นชาวพุทธผู้เลื่อมใสศรัทธาเล่า
โวเซอร์ยังได้รู้จักกับชาวทิเบตมากมาย มีพระลามะหลายรูป เล่าให้เธอฟังว่า ท่านถูกกักบริเวณ ทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพ หรือถูกกระทำทารุณอยู่บ่อยครั้ง
นอกจากนั้น ชาวทิเบตยังระทมขมขื่นกับการเหยียดเชื้อชาติ, การกดขี่ทางการเมืองและศาสนา ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่รัฐบาลจีนปฏิเสธ โดยอ้างว่า รัฐบาลได้ปรับปรุงให้มาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ที่นั่นดีขึ้นกว่าเดิมต่างหาก นับตั้งแต่เข้าไป “ปลดแอก” ทิเบตในปี 2494
นับเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ที่โวเซอร์ร้อยเรียงอารมณ์ความรู้สึกเกี่ยวกับทิเบต ถ่ายทอดเป็นบทกวี ขณะยังคงอาศัยในกรุงลาซ่า แต่พอในปี 2546 เมื่อเธอตีพิมพ์ “หมายเหตุเกี่ยวกับทิเบต” (Notes on Tibet) ก็เลยตกงานทำนิตยสารจนได้
หนังสือเจ้าปัญหาเล่มนี้เป็นชุดรวมเรื่องสั้น ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวกับองค์ทะไล ลามะอย่างแสดงความชื่นชม ผู้นำจิตวิญญาณชาวทิเบต ที่รัฐบาลจีนกล่าวหาว่าเป็นนักแบ่งแยกดินแดน
นอกจากตกงานแล้ว บล็อกในอินเตอร์เน็ต 4 บล็อกของเธอยังถูกสั่งปิด หรือถูกเจาะข้อมูล โวเซอร์ถูกกักบริเวณภายในบ้าน และเคยถูกตำรวจกักตัวหนหนึ่ง
แต่ในที่สุดการต่อสู้ก็ไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป โวเซอร์ย้ายมาอยู่ในกรุงปักกิ่ง และได้พบรักกับหวัง ลี่สง ปัญญาชนชาวฮั่น วัย 56 ปี หลังจากมีโอกาสอ่านหนังสือที่เขาเขียน ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์การปกครองของจีนในทิเบต
“ฉันจำได้ว่า ไม่เคยเห็นชาวจีนเชื้อสายฮั่นคนไหน ที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับทิเบตตามความเป็นจริงได้ถึงขนาดนี้” โวเซอร์หัวเราะ เมื่อนึกถึงความหลัง
ทั้งสองแต่งงานกัน และกลายเป็นคู่สามีภรรยานักปัญญาชน ที่โด่งดังที่สุดคู่หนึ่งบนแผ่นดินมังกร
ด้วยแรงสนับสนุนจากสามี โวเซอร์ยังคงทำงานเขียนวิพากษ์โต้แย้งกับรัฐบาลจีนภายในแฟลตอาศัยที่กรุงปักกิ่ง
ข้างในห้องนั้น ประดับด้วยภาพถ่ายขององค์ทะไล ลามะ อันเป็นสิ่งต้องห้ามในจีน ตลอดจนภาพถ่าย และงานศิลปะเกี่ยวกับทิเบต
“การแสดงความคิดเห็นของโวเซอร์เป็นการแสดงความคิดที่น่าทึ่งที่สุดอันหนึ่ง ที่มาจากชาวทิเบตในปัจจุบัน” นายทิพเยศ อานันท์ (Dibyesh Anand) ผู้เชี่ยวชาญด้านทิเบตของมหาวิทยาลัยเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอนระบุ
“แง่มุมที่สำคัญที่สุดของเธอ…ก็คือข้อเขียนและการแสดงความเห็นนั้นทำให้ชาวทิเบตพลัดถิ่นมีเหตุผลสนับสนุนได้ว่าการวิจารณ์โจมตีรัฐบาลจีนมิได้เกิดจากน้ำมือของชาวทิเบตที่กระจัดพลัดพราย หรือพระและนางชีเพียงหยิบมือเดียว”
แปลและเรียบเรียงจาก “An Unlikely Journey to Tibetan Dissent” ของสำนักข่าวเอเอฟพี