xs
xsm
sm
md
lg

เมกาแนะจีนให้เจรจากับทิเบต ถูกสวนกลับอย่าจุ้นเรื่องชาวบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หญิงชนชาติทิเบตกำลังเดินไปตามทางหลวง ช่วงที่ห่างจากเมืองเอก ซีหนิงของมณฑลชิงไห่ 250 กม. เพื่อไปยังอาราม ล่าเจียซื่อ วันที่ 9 มี.ค.  ผู้คนสามารถเดินทางจากซีหนิง โดยทางรถยนต์ราว 2 ชั่วโมง ก็จะถึงหมู่บ้านตัคเซอร์ในอัมโด ซึ่งเป็นบ้านเกิดของทะไล ลามะ-เอเอฟพี
เอเจนซี - จีนระดมกำลังตำรวจ ควงอาวุธครบมือ “พาเหรด” ทั่วดินแดนทิเบต หวังสกัดการประท้วงในโอกาสครบรอบวันสำคัญ ด้านเลขาฯ พรรคคอมมิวนิสต์จีนในท้องถิ่น กำชับให้ระวัง “สี่วันอันตราย” อย่างใกล้ชิด

ด้านกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เร่งให้จีนเปลี่ยนนโยบายกดดันทิเบตและหันมาใช้วิธีการเจรจา ขณะที่จีนสวนทันควัน บอกสหรัฐฯ อย่ายุ่งเรื่องของคนอื่น

เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปรักษาการณ์อยู่ตามท้องถนนในกรุงลาซา มีทั้งตำรวจปราบจลาจลและตำรวจอาสาที่มีอาวุธปืนกลอัตโนมัติ โดยชาวบ้านบอกว่ามีตำรวจอยู่ทั่วกรุงลาซา ส่วนชาวทิเบตในเมืองอื่นได้เล่าว่า ตำรวจได้เข้าไปตรวจสอบการลงทะเบียนเข้าพักในโรงแรมต่างๆ แถมยังสั่งให้ชาวทิเบตแสดงบัตรประจำตัวประชาชนด้วย

“แม้ทุกอย่างจะดูเงียบสงบ แต่ก็มีรถตำรวจจำนวนมากตระเวนไปทั่วกรุงลาซาทั้งวันทั้งคืน และทุกๆ สี่แยกก็มีตำรวจเฝ้าอยู่” พนักงานในอินเตอร์ คาเฟ่ แห่งหนึ่งในกรุงลาซา เล่าสถานการณ์ให้ฟัง

หลายสัปดาห์ก่อนถึงวาระครบรอบ 50 ปีของการลุกฮือของชนชาติทิเบต รัฐบาลจีนเตรียมป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ด้วยการเพิ่มจำนวนตำรวจอาสาเข้าไปดูแลดินแดนที่มีชาวทิเบตอาศัยอยู่ และยังห้ามไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลไปสู่ชาวต่างชาติเพื่อป้องกันข้อมูลรั่วออกนอกพื้นที่

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (10 มีนาคม) ประชาชนในกรุงลาซาได้รับแจ้งจากบริษัทไชน่า โมบาย ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ว่าระหว่างวันที่ 10 มีนาคมจนถึง 1 เมษายน การส่งข้อความเสียงและข้อความอักษรของผู้ใช้บริการอาจถูกรบกวน เนื่องจากมีการปรับปรุงเครือข่าย ขณะที่ข้อความคล้ายๆ กันนี้ก็ถูกส่งต่อไปในชุมชนชาวทิเบตแห่งอื่นๆ เพราะรัฐบาลจีนต้องการตัดช่องทางติดต่อสื่อสารที่นักเคลื่อนไหวใช้เมื่อปีที่แล้ว เพื่อส่งข้อความเชิญชวนให้ประท้วง

เหตุการณ์จลาจลที่เกิดขึ้นในทิเบตเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว จนถึงขณะนี้ทางการจีนก็ยังไม่ได้ระบุตัวเลขที่แน่ชัดว่ามีผู้เสียชีวิตกี่ราย และถูกจับกุมอีกกี่ราย ขณะที่กลุ่มฮิวแมน ไรท์ วอชท์ ในนครนิวยอร์ค ได้รายงานเมื่อวันจันทร์ (9 มีนาคม) ว่า ยังมีชาวทิเบตอีกหลายร้อยรายที่ถูกรัฐบาลจีนคุมขังอยู่
ชาวจีนชนชาติฮั่นเดินตามหญิงชาวทิเบตหมุนกระบอกมนต์เพื่อสวดมนต์ภาวนาที่ด้านนอกของอารามคุมบุม เมืองซีหนิง มณฑลชิงไห่ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2552 - ภาพ เอเอฟพี
เตือนให้ระวัง “สี่วันอันตราย”

แม้วาระครบรอบ 50 ปีชาวทิเบตลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของจีนจะผ่านพ้นไปแล้วเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (10 มีนาคม) แต่การรักษาความปลอดภัยในดินแดนของชาวทิเบตจะดำเนินต่อไปอีกหลายสัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่าวันสำคัญอื่นๆ ที่จะตามมาจะผ่านพ้นไปด้วยดี

ที่เมืองคังดิง (Kangding) ซึ่งมีชาวจีนและชาวทิเบตอยู่ร่วมกัน และถือเป็นประตูสู่ที่ราบสูงทิเบต นายเซียง ลั่ว เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้สั่งการให้ตำรวจอาสาเพิ่มความระแวดระวังช่วง “สี่วันอันตราย” ในเดือนมีนาคม

โดย “สี่วันอันตราย” ประกอบด้วย วันที่ 10 มีนาคม เป็นวันที่ชาวทิเบตลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของรัฐบาลจีนเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา, วันที่ 14 มีนาคม เป็นวันครบรอบหนึ่งปีเหตุการณ์จลาจลในกรุงลาซา, วันที่ 18 มีนาคม เป็นวันที่องค์ทะไล ลามะ ได้ลี้ภัยออกจากทิเบตเมื่อปี 2502 และวันที่ 28 มีนาคม เป็นวันที่จีนประกาศชัยชนะเหนือทิเบตเมื่อปี 2502 และถือเป็นครั้งแรกที่ทิเบตอยู่ภายใต้การปกครองจีนอย่างเต็มรูปแบบ

“สี่วันนี้มีความสำคัญยิ่ง เหล่าทหารจะต้องทำงานของตนให้ลุล่วงจงได้” นายเซี่ยง ระบุ

ด้าน นายรอบบี้ บาร์เนตต์ นักวิชาการด้านทิเบตศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย บอกว่า ชาวทิเบตจะไม่ทำอะไรในช่วงที่ทหารยังตรึงกำลังอยู่รอบๆ ชุมชนและวัด เขาจะคอยจนกว่าเหล่าทหารจะกลับเข้ากรมกอง จากนั้นเขาก็จะเริ่มดำเนินการตามวิธีของเขาทีละเล็กทีละน้อย

จีนห้ามทัวร์ฮ่องกงเข้าเสฉวน

ขณะที่ หนังสือพิมพ์เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานว่า ทางการจีนได้สั่งยกเลิกกรุ๊ปทัวร์จากฮ่องกงที่กำหนดจะเดินทางไปเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังในมณฑลชื่อชวน(เสฉวน) 2 แห่ง นั้นก็คือจิ่วไจ่โกว และเมืองหวงหลง โดยอ้างว่ามีปัญหาเรื่องถนนหนทางที่ทำให้การเดินทางไม่สะดวก

สำหรับกรุ๊ปทัวร์ที่ถูกยกเลิกครั้งนี้มีประมาณ 50 กรุ๊ป และมีนักท่องเที่ยวจากฮ่องกงที่จองตั๋วไปเที่ยวเสฉวนไว้ 1,200 คน เป็นที่คาดกันว่า การสั่งยกเลิกกรุ๊ปทัวร์ครั้งนี้เป็นผลมาจากวาระครบรอบ 50 ปีที่ชาวทิเบตลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลจีน เพราะมณฑลมณฑลชื่อชวน (เสฉวน) ถือเป็นแหล่งที่มีชาวทิเบตอาศัยอยู่จำนวนมาก

ส่วนพนักงานโรงแรมที่เมืองเฉิงตู เล่าให้ฟังว่า ตำรวจบังคับให้ทางโรงแรมตรวจสอบบัตรประชาชนอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะกับชาวทิเบต ที่มาจากมณฑลชิงไห่หรือจากพื้นที่อื่นๆ ที่ต้องการเข้าพักในโรงแรม จะต้องแสดงบัตรประชาชน ขณะที่กฎนี้ไม่บังคับใช้กับชาวจีน

จีนโต้ ทะไล ลามะเดือด

องค์ทะไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบตที่ต้องลี้ภัยไปอินเดีย ได้กล่าวแก่กลุ่มผู้สนับสนุนที่มาชุมนุมอยู่ด้านนอกวัดทิเบตในธรรมศาลาของอินเดีย ว่ากดขี่และกระทำรุนแรงต่างๆ นานา ผลักไสให้ชาวทิเบตตกสู่ห้วงแห่งความทรมานและความยากลำบาก ทำให้พวกเขาต้องพบเจอกับ “นรกบนดิน”และยังว่า “ทุกวันนี้ชาวทิเบตอยู่ด้วยความกลัว เพราะรัฐบาลจีนยังคงตั้งข้อสงสัยต่อพวกเขาไม่เปลี่ยนแปลง”

ด้านสำนักข่าวซินหัวของทางการจีน ได้ตอบโต้คำกล่าวขององค์ทะไล ลามะ ในบทบรรณาธิการว่า “นรกบนดิน” สำหรับองค์ทะไล ลามะ นั้น มันคือ “สวรรค์บนดิน” สำหรับชาวบ้านธรรมดาในทิเบต และยังวิจารณ์การกระทำขององค์ทะไล ลามะ ว่า

“เหมือนเด็กที่พยายามเรียกร้องความสนใจจากคนอื่นด้วยการร้องไห้ พระแก่ที่หมดความสำคัญองค์นี้ ได้เริ่มการกล่าวหาแบบผิดๆ ด้วยการใช้วาทศิลป์ปลุกปั่นให้คนเดือดดาล แต่ปราศจากข้อเท็จจริง”

บทบรรณาธิการของสำนักข่าวซินหัว ยังได้ย้ำความเห็นจากทางการจีนที่ว่า องค์ทะไล ลามะ ต้องการเอกราชของทิเบต หลังจากที่จีนได้เข้าปกครองดินแดนแห่งนี้มา 58 ปีแล้ว และยังปฏิเสธคำยืนยันขององค์ทะไล ลามะ ที่ว่า เขาต้องการเพียงสิทธิการปกครองตนเอง และการยุติการกดขี่ต่อชาวทิเบตเท่านั้น

“ตั้งแต่เขาลี้ภัยออกไป ทะไล ลามะ และบรรดาสาวกของเขา ยังไม่เคยยุติการกระทำเพื่อแยกทิเบตออกจากจีนเลย แถมยังรื้อฟื้นการปกครองโดยคณะสงฆ์”
ลามะทิเบตเดินผ่านสถูปแห่งหนึ่งในอารามคุมบุม ที่อยู่ในเมืองซีหนิง มณฑลชิงไห่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2552 - ภาพ เอเอฟพี
สหรัฐฯเร่งจีนทบทวนนโยบายสู่ทิเบต

ทางด้านกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้จีนทบทวนนโยบายที่มีต่อทิเบต โดยแถลงการณ์ดังกล่าวออกมาก่อนหน้าที่ นายหยาง เจี๋ยฉือ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน จะเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ เพียงหนึ่งวัน

ในแถลงการณ์ดังกล่าว สหรัฐฯ ยืนยันว่าดินแดนแห่งเทือกเขาหิมาลัยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน “แต่ขณะเดียวกัน เราก็เป็นห่วงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในดินแดนทิเบต ดังนั้น เราจึงขอให้รัฐบาลจีนทบทวนนโยบายที่มีต่อทิเบต เพราะนโยบายดังกล่าวได้สร้างความตึงเครียดและส่งผลร้ายต่อชาวทิเบต ทั้งในด้านศาสนา วัฒนธรรม และชีวิตความเป็นอยู่”

แถลงการณ์ดังกล่าว ระบุด้วยว่า องค์ทะไล ลามะ ก็ยอมรับว่าทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีน ขณะที่ทางการจีนได้กล่าวหาว่า องค์ทะไล ลามะ เป็นผู้แบ่งแยกดินแดน และเป็นผู้ก่อความไม่สงบ

“เราเชื่อว่า การเจรจากับตัวแทนขององค์ทะไล ลามะ รวมทั้งคำสัญญาจากองค์ทะไล ลามะ ว่าจะไม่เรียกร้องอธิปไตย หรือเอกราช ของทิเบต จะสามารถนำไปสู่ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา และช่วยให้เกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืนในดินแดนทิเบต”

จีนสวนสหรัฐฯ อย่ายุ่งเรื่องคนอื่น

ด้านรัฐบาลจีนได้ออกมาประณามสหรัฐฯ ที่วิจารณ์การปกครองของจีนในทิเบต แถมยังเรียกร้องให้จีนเจรจากับองค์ทะไล ลามะ โดยนายหม่า เจาซีว์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน กล่าวว่า “เราขอแสดงความไม่พอใจอย่างมากต่อสหรัฐ และขอยืนยันแนวทางที่จีนดำเนินการอยู่”

พร้อมกันนี้ ทางการจีน ซึ่งมีความภาคภูมิใจมาตลอดว่าได้เข้ามายกเลิกระบบทาสในทิเบต ก็ได้กล่าวหาสหรัฐฯ ว่าเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของจีน โดยนายหม่า กล่าวว่า ขณะนี้ทิเบตมีความก้าวหน้าอย่างมาก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการศาสนา และยังกล่าวอีกว่า นโยบายที่จีนมีต่อองค์ทะไล ลามะ นั้นมีความมั่นคงและชัดเจนมาตลอด

ส่วนความเป็นไปได้ที่ทางการจีนจะเจรจากับองค์ทะไล ลามะ นั้น นายหม่ากล่าวว่า “ขึ้นอยู่กับว่าทะไล ลามะ พร้อมจะแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ถูกต้องหรือไม่ และต้องแสดงให้เห็นอย่างแท้จริงว่าจะล้มเลิกการเรียกร้องเอกราชของทิเบต”

ไต้หวันไม่พร้อมต้อนรับทะไล ลามะ

ขณะเดียวกัน ตัวแทนของทะไล ลามะ ได้ออกมาระบุเมื่อวันพุธ (11 มีนาคม) ว่า องค์ทะไล ลามะ ต้องการที่จะเดินทางไปเยือนไต้หวัน ซึ่งเป็นเกาะที่มีการปกครองตนเอง แต่ทางการจีนกลับประกาศว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดี หม่า อิ้ง-จู ของไต้หวัน ได้บอกไว้เมื่อเดือนธันวาคมว่า การเดินทางมาเยือนขององค์ทะไล ลามะ ถือเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมนัก เพราะขณะนี้ไต้หวันกำลังพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศจีน

ทั้งนี้ การเดินทางมาเยือนไต้หวันขององค์ทะไล ลามะ ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2545 ทำให้จีนมีปฏิกิริยาโต้อย่างทันควัน โดยขู่ว่าจะส่งกำลังทหารไปยึดเกาะไต้หวันกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น