xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปารีสไม่ขวางประมูลหัวนักษัตร สมบัติล้ำค่า ที่ถูกขโมยจากพระราชวังปักกิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายของประติมากรรมหัวนักษัตรรูปหัวหนูและหัวกระต่ายซึ่งถูกจัดแสดงที่ปารีส สำหรับงานการประมูลผลงานศิลปะที่จัดขึ้นโดยบริษัทคริสตี้ส์
รอยเตอร์ – ศาลแดนน้ำหอมไม่รับคำอุทธรณ์ของจีน ที่ขอให้สั่งห้ามการประมูลขายรูปปั้นหัวนักษัตรโบราณ ซึ่งเป็นสมบัติสะสมของอีฟ แซงต์ โลรอง ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสชื่อดัง ผู้วายชนม์ไปแล้ว

เจ้าหน้าที่ศาลในกรุงปารีสแจ้งเมื่อวันจันทร์ (23 ก.พ.) ว่า “ เอเปซ” (APACE) สมาคม ตัวแทนพิทักษ์ผลประโยชน์ด้านวัฒนธรรมและมรดกของจีน ได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลในกรุงปารีส ซึ่งพิจารณาพิพากษาโดยองค์คณะ สั่งห้ามการประมูลขายรูปปั้นหัวนักษัตรหนู และกระต่ายดังกล่าว แต่ศาลไม่รับคำร้อง

นอกจากนั้น ศาลยังมีคำสั่งให้ “เอเปซ” ต้องจ่ายเงินชดใช้ให้แก่สำนักประมูลคริสตี้ส์ และปิแอร์ แบร์ช อดีตผู้จัดการธุรกิจ และเพื่อนคู่ใจของ แซงต์ โลรอง เป็นจำนวนเงินคนละ 1,000 ยูโร ( 1,274 ดอลลาร์) อีกด้วย

รูปปั้นสัมฤทธิ์ทั้งสองถูกนำไปจากพระราชวังฤดูร้อนในกรุงปักกิ่ง เมื่อครั้งกองทหารอังกฤษและฝรั่งเศสบุกเผาเมื่อปีค.ศ.1860 ระหว่างสงครามฝิ่นครั้งที่ 2

ต่อมา ตกอยู่ในความครอบครองของแซงต์ โลรอง และแบร์ช โดยอยู่ในคอลเล็กชั่นงานศิลปะของคนทั้งสอง อันเป็นคอลเล็กชั่นงานศิลปะ ซึ่งมีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของเอกชน

แต่เจ้าหน้าที่จีนระบุว่า รูปปั้นดังกล่าวเป็นสมบัติของจีนอย่างชอบธรรม และควรนำส่งคืนหลังจากแซงต์ โลรอง เสียชีวิตเมื่อปีที่แล้ว แบร์ช จึงตัดสินใจนำคอลเล็กชั่นชุดนี้ออกประมูลขาย ซึ่งคาดว่าจะทำเงินได้สูงถึง 300 ล้านดอลลาร์ โดยแบร์ชจะนำเงินที่ได้ไปบริจาคให้แก่งานวิจัยทางการแพทย์

ก่อนการตัดสินดังกล่าวของศาล แบร์ชแสดงความมั่นใจว่าการยื่นอุทธรณ์ของจีนจะตกไป โดยกล่าวว่า เขาได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายอย่างสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม เรื่องไม่จบเพียงแค่นี้ เพราะมีการโยงไปถึงเรื่องการเมือง เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับฝรั่งเศสตึงเครียดขึ้นอีกครั้ง หลังจากประธานาธิบดี นิโกลา ซาร์โกซี ตัดสินใจพบกับองค์ทะไลลามะ ประมุขแห่งจิตวิญญาณของทิเบต ซึ่งจีนถือเป็นนักแบ่งแยกดินแดน

ด้าน แบร์ช เองยินดีส่งคืนรูปปั้นหัวนักษัตรทั้งสอง ซึ่งแต่ละชิ้นมีมูลค่าราว 8-10 ล้านยูโรแก่จีน ในข้อแม้ว่า จีนต้องให้คำรับรองเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และอนุญาตให้องค์ทะไล ลามะ เสด็จกลับเข้าไปในทิเบตได้ ทั้งนี้ องค์ทะไล ลามะตรัสว่า พระองค์เพียงแต่มีพระประสงค์ให้ทิเบตมีอำนาจในการปกครองตนเองมากขึ้นเท่านั้น

นักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมซากปรักหักพังของพระราชวังหยวนหมิงหยวนที่ถูกจุดไฟเผาและทำลายโดยทหารอังกฤษ-ฝรั่งเศสในปี 1860 ครั้งสงครามฝิ่นในจีน - ภาพ เอเอฟพี
กำลังโหลดความคิดเห็น