เอเอฟพี – รัฐบาลจีนโล่งอก “ฮิลลารี คลินตัน” ไม่หยิบยกเรื่องสิทธิมนุษยชนและประเด็นอ่อนไหวอื่นๆ ขึ้นมาพูดคุยระหว่างการเดินทางมาเยือนจีนช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของรัฐบาลจีนไชน่า เดลี่ ระบุว่า การเดินทางมาเยือนของนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ทำให้รัฐบาลในกรุงปักกิ่ง รู้สึกสบายใจขึ้น
“ทุกฝ่ายเฝ้าคอยด้วยความร้อนใจว่าการเริ่มต้นความสัมพันธ์ของรัฐบาลใหม่สหรัฐฯ กับจีนจะเป็นอย่างไร หลายคนสงสัยว่าความสัมพันธ์ที่มั่นคงระหว่างสหรัฐฯและจีนในยุคของประธานาธิบดีบุช จะต้องจบสิ้นลงในรัฐบาลสหรัฐฯชุดนี้
“การที่นางคลินตันหยิบยกเพียงประเด็นที่เป็นความกังวลร่วมกันมาหารือ ทำให้ผลที่ได้จากการมาเยือนจีนครั้งนี้เป็นไปดังที่ทั้งสองฝ่ายปรารถนา” บทบรรณาธิการจากไชน่า เดลี่ ระบุ
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนกังวลใจว่า รัฐบาลของนายบารัค โอบามา จะกดดันจีนหนักขึ้นทั้งในเรื่องการค้าและสิทธิมนุษยชน แต่นางคลินตันก็ทำให้ประเทศเจ้าภาพอย่างจีนสบายใจ เมื่อหยิบยกเฉพาะเรื่องความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายขึ้นมาพูดคุย โดยไม่แตะต้องประเด็นสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ข้อขัดแย้งทั้งเรื่องการปกป้องค่าเงินหยวนของจีน และเรื่องที่สหรัฐฯ ขายอาวุธให้แก่รัฐบาลไต้หวัน ก็ไม่มีการหยิบยกมาเจรจาด้วย
นายซิน เฉียง รองผู้อำนวยการศูนย์อเมริกันศึกษา มหาวิทยาลัยฟู่ตั่น ในนครเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า รัฐบาลจีนยินดีอย่างยิ่งสำหรับการประนีประนอมของนางคลินตัน และว่า รัฐบาลปักกิ่งโล่งอกและมีความสุขมากที่นางคลินตันไม่ได้นำปัญหาสิทธิมนุษยชน เรื่องทิเบต และเรื่องไต้หวัน ขึ้นมาเจรจาในครั้งนี้
“รัฐบาลจีนถือว่านี่คือท่าทางที่เป็นมิตร ที่รัฐบาลสหรัฐฯ หยิบยื่นให้แก่จีน” นายซินระบุ
ขณะที่โกลบอล ไทม์ส หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของรัฐบาลจีนอีกฉบับหนึ่ง กล่าวว่า ทัศนคติที่นางคลินตันแสดงต่อจีนในเรื่องสิทธิมนุษยชน ถือเป็นเรื่องที่อิงตามข้อเท็จจริง
“ไม่วันใดวันหนึ่งสหรัฐฯ ก็ต้องพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนในจีน แต่ไม่ควรเป็นการพูดแบบสุดขั้ว และทัศนคติของสหรัฐฯ ต่อประเด็นนี้ก็จะเป็นแบบอย่างให้ประเทศตะวันตกอื่นทำตาม”
ส่วนสื่อของรัฐอย่างสำนักข่าวปักกิ่ง ได้ระบุไว้ในบทวิเคราะห์ว่า การเดินทางมาเยือนของนางคลินตันได้เผยให้เห็นว่า ความไม่สมดุลทางอำนาจระหว่างสหรัฐฯและจีนได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
“ไม่ว่าจะมองในแง่วิธีสื่อสารหรือการกำหนดประเด็น ก็จะเห็นมีความแตกต่างไปจากก่อนหน้านี้ และในความสัมพันธ์ระดับการทูตก็จะเห็นความสมดุลระหว่างจีนและสหรัฐฯ”
ซึ่งก็สอดคล้องกับความเห็นของนายซิน เฉียง ที่มองว่า เหตุที่สหรัฐฯ ไม่นำเรื่องค่าเงินของสองประเทศมาพูดคุย เป็นเพราะว่า “สหรัฐฯ ตระหนักดีว่าเขาไม่อาจวิจารณ์จีนได้มากนัก ในเมื่อสหรัฐฯ ยังต้องขอความช่วยเหลือจากปักกิ่ง”.