xs
xsm
sm
md
lg

จีนกับกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมใน "โลกเสมือน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวจีนในกรุงปักกิ่งกำลังใช้งานอินเตอร์เน็ตในร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ ที่มีอยู่ทั่วไปในตัวเมือง ปัจจุบันนักท่องเน็ตในจีนมีมากถึง 210 ล้านคน ซึ่งมากกว่าผู้ใช้ในสหรัฐอเมริกา จนผงาดขึ้นแท่นประเทศที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม นักท่องเน็ตชาวจีนยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลในประเด็นที่อ่อนไหว
ASTVผู้จัดการออนไลน์ – ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศจีนก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว พื้นที่ในโลกเสมือนหรือโลกอินเทอร์เน็ตก็พัฒนาอย่างยิ่งยวด จนกลายเป็นเวทีหนึ่งที่ชาวจีนบางกลุ่มใช้ประโยชน์เพื่อจัดตั้งองค์กรหรือกลุ่มเรียกร้องสิทธิทางการเมืองต่างๆ ส่งผลให้ทางการจีนต้องหามาตรการบางอย่างเพื่อกำจัดและจำกัดการเข้าถึงโลกเสมือนดังกล่าว

ในการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 9 (พ.ศ. 2551) ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2551 ในหัวข้อ “จีนกับกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในโลกเสมือน” ที่อภิปรายโดย อาจารย์จันท์จุฑา สุขขี รองคณะบดีฝ่ายวิจัยจากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แบ่งประเภทการเคลื่อนไหวการเรียกร้องทางการเมืองจากรัฐบาลจีนไว้ดังนี้ เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย, เรียกร้องสิทธิการนับถือศาสนา และเรียกร้องอำนาจการปกครองของชนกลุ่มน้อย

ปัจจัยผลักดันการเคลื่อนไหว

อาจารย์จันท์สุฑากล่าวว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหว เนื่องจากรัฐบาลจีนต้องเร่งพัฒนาระบบพื้นฐานทางเศรษฐกิจเช่นระบบการสื่อสารโทรคมนาคมต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ขณะเดียวกันการพัฒนาเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว สามารถเชื่อมต่อข้อมูลอย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่การสร้างชุมชนในพื้นที่ไซเบอร์

ขณะที่การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลจีนที่เข้มงวด และการจำกัดสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพการพูดการแสดงออกสู่สาธารณะของประชาชน ก็ถือเป็นอีกปัจจัยที่ผลักดันให้ประชาชนแสวงหาพื้นที่หรือเวทีเพื่อแสดงออกถึงความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งเวทีในโลกเสมือนนี้เองที่สนองความต้องการดังกล่าวได้ และประชาชนที่มีความเห็นต่างจากทางการมักจะเป็นกลุ่มคนที่แสดงออกเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย หรือสิทธิมนุษยชน

เช่นในกรณีนายหู เจีย นักรณรงค์สิทธิมนุษยชนชาวจีน ถูกทางการจีนจับกุมเมื่อเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว และถูกตัดสินจำคุก 3 ปีครึ่ง ในข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีแนวคิดแตกต่างจากรัฐบาลจีน

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในโลกเสมือนคือ การควบคุมสิทธิเสรีภาพทางศาสนาอย่างเคร่งครัดของทางการจีน โดยการตั้งองค์กรหรือกลุ่มทางศาสนาใดๆ จะต้องผ่านการรับรองจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน องค์กรนั้นๆจึงสามารถดำเนินกิจกรรมได้ ดังจะเห็นได้จากกลุ่มฝ่าหลุนกงที่จีนประกาศเป็นลัทธินอกกฎหมาย

ทั้งนี้ ทางการจีนมีนโยบายให้ศาสนาที่สามารถประกอบกิจกรรมได้ ต้องได้รับการจดทะเบียนรับรองอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลเท่านั้น โบสถ์คริสต์และมัสยิดในจีนที่มิได้รับการรับรองจากรัฐ ไม่สามารถประกอบศาสนกิจได้ หากฝ่าฝืนจะถูกลงโทษด้วยมาตรการต่างๆ นอกจากนี้ คัมภีร์ทางศาสนายังถูกควบคุมจากทางรัฐบาล สามารถจำหน่ายได้แต่เฉพาะในโบสถ์และมัสยิดที่ได้รับการรับรอง ดังนั้นกลุ่มองค์กรทางศาสนาที่ไม่ได้รับการยอมรับ จึงอาศัยพื้นที่ในอินเทอร์เน็ตเพื่อการเคลื่อนไหว

สำหรับการเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อยที่เรียกร้องอิสรภาพหรือเอกราชดินแดน และนับเป็นปัญหาหลักที่จีนต้องหามาตรการจัดการอย่างเด็ดขาดเพราะส่งกระทบถึงเสถียรภาพของประเทศ เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ ประกอบด้วยคนหลากหลายชนชาติถึง 56 ชนชาติ และในจำนวนนี้มีการเรียกร้องเอกราชจากชนกลุ่มน้อย 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ชนชาติทิเบต และชนชาติอุยกูร์ในเขตปกครองตนเองซินเจียง ที่มีวัฒนธรรมแตกต่างจากชาวฮั่นอย่างสิ้นเชิง

การควบคุมโลกเสมือน

ตำรวจหญิงและตำรวจชายในรูปแบบของแอนิเมชั่นจะออกปฏิบัติหน้าที่บนเว็บไซต์ชั้นนำ โดยจะปรากฏตัวในทุกๆ ครึ่งชั่วโมงเพื่อแจ้งเตือนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตให้ห่างไกลจากเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมต่างๆ
เมื่อสังคมออนไลน์แพร่หลาย รัฐบาลจีนก็วิตกกังวลว่าหากไม่มีมาตรการจัดการควบคุมการเผยแพร่เนื้อหาต่างๆบนเว็บไซต์ อาจมีการเคลื่อนไหวที่บ่อนทำลายเสถียรภาพของประเทศได้

ดังนั้น ทางการจีนจึงริเริ่มการจัดตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษในปี 2007 ซึ่งสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและสารสนเทศ(MIIT)ขึ้น เพื่อควบคุมตรวจสอบ หรือสกัดกั้นเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายตามที่ทางการกำหนด นอกจากนี้ยังลงลึกในการบล็อกคำค้นหา (keyword block system )ในเว็บเสิร์ชอิ้นต่างๆ เช่น ระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้ง สิทธิมนุษยชน เอกราชของทิเบต

โดยกระบวนการทั้งหมดจะส่งผลให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตภายในประเทศ ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่อ่อนไหวดังกล่าวได้ อย่างไรก็ดี แฮกเกอร์หรือบุคคลที่มีความสามารถทางด้านคอมพิวเตอร์ชั้นสูง ยังคงพยายามหาวิธีปลดล็อค หรือหาช่องโหว่ของระบบเพื่อลักลอบเข้าสู่ข่าวสาร นอกจากนี้อีกหนึ่งความพยายามของทางการจีนได้แก่ การสั่งปิดเว็บไซต์ทันทีหรือลบเนื้อหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าเนื้อหาภายในเว็บไซต์เข้าข่ายประเด็นอ่อนไหวหรือผิดกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น