xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ผลกำไรบริษัทในจีนปีนี้เน่าสุด คาดตกมากกว่า 50% กันสลอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซีนุก วิสาหกิจจีน ยักษ์ใหญ่ผลิตน้ำมัน โชว์สปิริตรักชาติ ประกาศเพิ่มการใช้จ่ายการลงทุนกว่า 6พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีนี้ ช่วยชาติกระตุ้นเศรษฐกิจในยามที่ผลกำไรภาคบริษัทปีนี้ ส่งเค้าตกต่ำกันแทบจะถ้วนหน้าในภาพ: สำนักงานใหญ่ซีนุกในกรุงปักกิ่ง-ภาพเอเจนซี
เอเชียน วอลสตรีท-ขณะนี้ มีเสียงเตือนหนาหูว่าผลกำไรที่ตกต่ำของภาคบริษัทในจีนปีนี้ จะซ้ำเติมสุขภาพการเงินของบริษัททรุดลงอีก ทั้งจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันรัฐบาลเร่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น กระทั่งเกจิที่เฝ้ามองตลาดเกิดใหม่ออกมาแสดงความสงสัยว่าจีนจะสามารถยันเศรษฐกิจมิให้พังครืน

การลงทุนในภาคบริษัทนั้น มีความสำคัญแก่เศรษฐกิจมังกร ซึ่งขณะนี้มีขนาดใหญ่อันดับสามของโลก โดยการใช้จ่ายทุนในภาคบริษัท คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า ร้อยละ 40 ของผลผลิตในแต่ละปี นับเป็นอัตราส่วนที่สูงที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ดังนั้น หากผลกำไรของบรรดาบริษัทตกต่ำลง ก็จะส่งผลกระทบอย่างแรงต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากพวกบริษัทจะไม่ค่อยมีเงินซื้ออุปกรณ์เครื่องมือหรือขยายธุรกิจ

และหากการลงทุนในภาคเอกชนโรยราลง รัฐบาลก็ยิ่งต้องหันมาพึ่งแผนอัดฉีดการใช้จ่ายเพื่อดันอัตราเติบโตให้ได้ตามเป้า มิฉะนั้น ก็จะเผชิญความเสี่ยงเกิดความวุ่นวายในประเทศ เนื่องจากตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดที่เพิ่งเผยในวันจันทร์ระบุตัวเลขว่างงานของกลุ่มแรงงานอพยพถึง 20 ล้านคน หากอัตราเติบโตต่ำกว่าร้อยละ 8 ก็ไม่อาจกระตุ้นการจ้างงานที่เพียงพอ

“ผลกำไรในปี 2552 นี้ จะแย่มาก นี่คือเหตุผลที่ทำให้ผมไม่คาดหวังกับการลงทุนภาคเอกชนมากนัก โดยเฉพาะในภาคการผลิต ซึ่งตอนนี้จีนกำลังมีปัญหาการผลิตล้นเกิน” หวัง ชิง เศรษฐกรประจำมอร์แกน สแตนลีย์ กล่าว พร้อมคาดการณ์การขยายการลงทุนในภาคผลิตปีนี้ จะเท่ากับศูนย์ ส่วนการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ จะตกลงร้อยละ 12

สำหรับกลุ่มบริษัทที่จะต้องผจญมรสุมผลกำไรหดหายมากที่สุด คือกลุ่มบริษัทที่เชื่อมโยงกับการส่งออก ได้แก่ ไชน่า ชิปปิ้ง คอนเทนเนอร์ ไลนส์ ซึ่งคาดผลกำไรในปี พ.ศ. 2551 จะตกลงมากกว่า ร้อยละ 50 ส่วนผู้ผลิตคอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้ารายใหญ่ที่สุดในโลกคือ ไชน่า อินเตอร์เนชั่นนัล มารีน คอนเทนเนอร์ บอกว่าผลกำไรประจำปีของบริษัท ส่อเค้าว่าจะหดหายไป ราวร้อยละ 53 เท่ากับ 1,500 ล้านหยวน (219 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจที่มุ่งตลาดภายในประเทศ ก็กำลังลำบากเช่นกัน SAIC Motor Corporation ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในด้านยอดขาย ก็เตือนว่าผลกำไรบริษัทจะลดลงมากกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากยอดขายที่ซบเซา ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตเหล็กก็อ่วมไปตามๆกันเนื่องจากภาคก่อสร้างที่เงียบเหงา ส่วน ไชน่า ไลฟ์ อินชัวร์รันซ์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากตลาดหุ้นขาลงและแรงแข่งขันที่หินขึ้นนั้น ก็คาดการณ์ว่าผลกำไรบริษัทจะดิ่งพสุธาไปมากกว่า ร้อยละ 50

นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจของบรรดาหน่วยงานรัฐที่บ่งชี้ถึงแนวโน้มดังกล่าว สถิติของรัฐบาลหลายชุดระบุว่าผลกำไรของกลุ่มบริษัทในภาคอุตสาหกรรม จะยุบไป ร้อยละ 27 ในช่วงสามเดือนถึงเดือนพฤศจิกายน นับเป็นช่วงตกอับมากที่สุด ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอัตราขยายตัวของผลกำไรของบริษัทเหล่านี้ อยู่ที่ระดับร้อยละ 20 ถึง ร้อยละ 40

กลุ่มเศรษฐกรเตือนมานานแล้วว่าบรรดาบริษัทจีนที่พึ่งพิงผลกำไรสะสมอย่างเหนียวแน่นนั้น จะแกว่งอย่างเกินจริงไปตามวัฏจักรการลงทุนของประเทศ จากสถิติของทางการ ก็ระบุว่า ร้อยละ 63 ของการลงทุนในจีนเมื่อปีที่แล้ว ได้รับทุนอัดฉีดจาก สิ่งที่เรียกว่า กองทุนที่มาจากภายใน (internally generated funds)ซึ่งมีผลกำไรสะสมรวมอยู่ด้วย
กลุ่มบริษัทผลิตเหล็กจีนอ่วมไปตามๆกัน เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกหั่นความต้องการตลาดที่เชื่อมโยงกับภาคก่อสร้างที่ซบเซา ในภาพ: โรงงานถลุงเหล็กในจีน-เอเอฟพี
ในช่วงเศรษฐกิจบูม กลุ่มบริษัทได้นำผลกำไรก้อนโตของตนไปลงทุนในโครงการใหม่ๆ เห็นได้จากตึกสำนักงานของบริษัทที่ผุดเป็นดอก เห็ดหน้าฝนตามเมืองใหญ่อย่าง กรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ แต่ขณะนี้ การลงทุนเหล่านี้ ดูเฉาไปถนัด กอปรด้วยผลกำไรที่ตกลง ทำให้กลุ่มบริษัทต่างไม่สามารถขยับทำโครงการใหม่ได้เลย

การหลีกเลี่ยงวงจรฟองสบู่เป็นเหตุผลหนึ่งที่องค์กรอย่างธนาคารโลกเรียกร้องให้รัฐบาลจีนเก็บภาษีจากวิสาหกิจของรัฐ ซึ่งวิสาหกิจของรัฐเหล่านี้ ก็คือบริษัทรายใหญ่ทั้งหมดนั่นเอง ซึ่งจากช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 มา รัฐบาลได้อนุญาตให้วิสาหกิจของตนสะสมผลกำไรทั้งหมด

แต่หลังจากที่เกิดการถกเถียงกันทางการเมือง จีนก็ได้ออกระบบภาษีใหม่ในปลายปี พ.ศ. 2551 ซึ่งระบุว่ากลุ่มบริษัทของรัฐบาลกลางจะต้องจ่ายภาษีเฉลี่ย ร้อยละ 7 -8 ของผลกำไรบริษัท แต่การเคลื่อนไหวนี้ ดูจะมาช้าไป ไม่ทันช่วงที่วัฏจักรการลงทุนทะยานสูงถึงขีดสุด เนื่องจากในช่วงต้นปี 2551 กลุ่มธุรกิจก็เริ่มแย่ลงแล้ว

แนวโน้มที่มัวหมองในการลงทุนภาคบริษัททำให้นักลงทุนหลายคนต่างไม่มั่นใจว่าชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 ล้านล้านหยวนที่ประกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วนั้น จะสามารถรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจจีนตามเป้าหรือไม่ ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์อัตราเติบโตเศรษฐกิจจีนหลายสำนักทำให้ผู้นำจีนหนาวๆร้อนๆไปตามกัน อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟนั้น คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้ของจีนจะโตแค่ร้อยละ 6.7 แย่สุดในรอบ 20 ปี

“ตอนนี้ สุดจะคาดเดาว่ารัฐบาลจีนจะสามารถยันไม่ให้เศรษฐกิจพังลงมา ซึ่งปัญหาหลายอย่างก็เป็นผลมาจากช่วงการลงทุนร้อนแรง” โจเซฟ เทย์เลอร์ นักยุทธศาสตร์ที่ศึกษาเฉพาะกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ประจำ Loomis, Sayles & Co ผู้จัดการกองทุนแห่งบอสตัน เขายังคาดว่ายอดการใช้จ่ายทุนในปีนี้ จะหายไปมากถึงร้อยละ 15 ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีจีน

และขณะนี้ กลุ่มวิสาหกิจของรัฐ ก็ได้ออกมาแสดงความรักชาติ ส่งเสริมการลงทุนในช่วงวิกฤต อาทิ ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตน้ำมัน ซีนุก (CNOOC) วางแผนเพิ่มการใช้จ่ายทุนร้อยละ 19 ในปีนี้ เท่ากับ 6,760 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้านกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม ก็เตรียมทุ่มงบฯใช้จ่ายก้อนใหญ่ในปีนี้ในโครงการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีความเร็วสูง 3G

แต่อีกหลายๆบริษัทก็เพียงทุ่มเทเท่าที่สามารถ โดยไม่มีวี่แววจะเพิ่มการลงทุน กลุ่มผู้ผลิตเหล็กของจีน มีความสามารถผลิตเหล็กดิบ 600 ล้านตันในปลายปี 2551 แต่สามารถขายได้เพียง 500 ล้านตันเศษๆเมื่อปีที่แล้ว อันกัง สตีล ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาอุปสงค์ตกและค่าใช้จ่ายสูง ก็ได้ออกมาเตือนกลุ่มนักลงทุนในเดือนที่แล้วว่า ผลกำไรประจำปีของบริษัท มีสิทธิ ตกมากถึง ร้อยละ 55 เท่ากับ 3,420 ล้านหยวน.
กำลังโหลดความคิดเห็น