เอเอฟพี - สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนดีเดย์วันพฤหัสบดี (22 ม.ค.) รายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำปี 2551 ร่วงต่ำสุดในรอบ 7 ปี โดยตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4 ขยายตัวแค่ 6.8% เท่านั้น ฉุดให้ยอดรวมทั้งปีของประเทศเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลกอย่างจีน ตกฮวบมาอยู่ที่ 9.0% เนื่องจากได้รับผลกระทบมาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก หลังจากเมื่อปี 2550 จีนเคยทำสถิติเศรษฐกิจโตถึง 13.0% มาแล้ว
หม่า เจี้ยนถัง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนให้สัมภาษณ์ในปักกิ่งว่า “วิกฤตการเงินทั่วโลกส่งผลกระทบเชิงลบในวงกว้างและลึกซึ้งต่อเศรษฐกิจในประเทศ” วิกฤตดังกล่าวทำให้ความต้องการซื้อสินค้าจากจีนซึ่งเป็นประเทศพึ่งพาการส่งออกลดลง โดยการส่งออกในเดือนพฤศจิกายนของจีนลดลง 2.2% เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี และทรุดฮวบต่อเนื่องในเดือนธันวาคม โดยลดลงถึง 2.8% จากข้อมูลสำนักงานศุลกากรระบุ
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือซีพีไอ ซึ่งเป็นปรอทวัดภาวะเงินเฟ้อก็ขยับลง 1.2% ในเดือนธันวาคม ทั้งที่เมื่อช่วงเริ่มต้นปี 2551 ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนกังวลว่าราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นจะกลายเป็นปัญหาสำคัญ และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เงินเฟ้อจีนก็พุ่งไปถึง 8.7% ซึ่งสูงที่สุดในรอบเกือบ 12 ปี แต่ในช่วงปลายปีกลับตาลปัตร จนทำให้รัฐบาลเปลี่ยนมากังวลเรื่องเงินฝืดแทน
ลู่ เจิ้งเหว่ย นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารเพื่ออุตสาหกรรมของจีนกล่าวว่า “ช่วงไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจจีนเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจดิ่งลงอย่างรุนแรง หรือ Hard Landing” ทั้งลู่ยังคาดการณ์ว่า จีนจะเผชิญหน้ากับภาวะเงินฝืดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าอย่างแน่นอน ซึ่งนั่นจะเป็นโจทย์ที่ยากยิ่งสำหรับรัฐบาลจีนในการเข็นเศรษฐกิจให้โต 8.0% ในปีนี้ตามเป้าที่ตั้งไว้
นอกจากตัวเลขชี้เศรษฐกิจข้างต้นแล้ว สำนักงานสถิติยังเปิดเผย ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งเป็นอีกดัชนีชี้วัดการค้าระหว่างประเทศ ว่าขยายตัวที่ 12.9% ในปี 2008 ลดลงจาก 18.5% ในปี 2007
ทั้งนี้ เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี เวิน เจียเป่า ได้ออกมาเตือนว่า ปี 2552 นี้จะเป็นปีที่วิบากที่สุดในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน โดยปัญหาที่กังวลที่สุดก็คือ ปัญหาคนตกงาน ซึ่งหากยังคาราคาซังก็อาจนำไปสู่ความไม่สงบในสังคม จากข้อมูลทางการที่เปิดเผยในสัปดาห์นี้ระบุว่า เฉพาะช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีชาวจีน 560,000 คนตกงาน ซึ่งส่วนใหญ่ในนั้นคือแรงงานอพยพจากชนบทมาสู่เมืองใหญ่เพื่อหางานทำ แต่กลับต้องถูกลอยแพเพราะโรงงานหลายแห่งแถบชายฝั่งตะวันออกและภาคใต้ปิดกิจการไป
เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ช่วงที่ผ่านมาแล้ว ลู่มองว่า “จีนจะสามารถฟื้นตัวจากเศรษฐกิจขาลงได้มากน้อยเพียงไร คงต้องขึ้นอยู่กับฤทธิ์ของนโยบายการคลังแบบขยายตัวและแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว จีนประกาศอัดฉีดเงิน 4 ล้านล้านหยวน (580,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่ออุ้มเศรษฐกิจของประเทศ”
ก่อนหน้า หลิว หมิงคัง ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการธนาคารจีนกล่าวว่า หากจีดีพีจีนลดลงเหลือ 6%-7% สภาพเศรษฐกิจจะเจอผลกระทบอย่างรุนแรง การเติบโตที่ 8% เป็นตัวเลขมาตรฐานขั้นต่ำ มิฉะนั้น จะไม่สามารถกระตุ้นการจ้างงานที่เพียงพอแก่ประชาชน และอาจนำไปสู่ความวุ่นวายในสังคม
สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรตติ้งส์ (Fitch Ratings) ก็เผยแนวโน้มเศรษฐกิจจีนอาจดิ่งลงอย่างแรง (Hard Landing) พร้อมกับคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจีนจะเติบโตเเค่ 6% หรือน้อยกว่า ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุด นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2533
เศรษฐกิจจีนร่วง ฝันร้ายของออสเตรเลีย
ขณะที่ทางการจีนแถลงการณ์สถิติการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในไตรมาสสุดท้ายที่ร้อยละ 6.8 ล่าสุดลินด์เซย์ แทนเนอร์รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของประเทศออสเตรเลียก็ระบุในวันพฤหัสบดี (22ม.ค.) ว่า ตัวเลขดังกล่าวนับเป็นข่าวร้ายที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแดนจิงโจ้อยู่ไม่น้อย ทั้งในเรื่องของการจ้างงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีการบริโภคพลังงานอย่างบ้าคลั่ง อาทิ ถ่านหิน แร่เหล็ก ซึ่งความต้องการดังกล่าวผลักดันเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศให้เติบโตได้อย่างมั่นคง แต่วิกฤตการเงินโลก ก็ส่งผลให้ความต้องการสินแร่จากจีนลดน้อยลง
"นี้คือปัญหาใหญ่สำหรับเรา(ออสเตรเลีย) และเป็นผลกระทบวงกว้างที่คุกคามไปทั่วโลก และก็เป็นผลกระทบที่มีอิทธิพลรุนแรงต่อเศรษฐกิจระยะสั้นของออสเตรเลียด้วย" แทนเนอร์ระบุ
ด้านบีเอชพี บิลลิตัน บริษัทเหมืองยักษ์ใหญ่ของออสเตรเลียประกาศแผนลดพนักงานในออสเตรเลียราว 3,400 คน ขณะที่ตัวเลขพนักงานทั่วโลกที่บริษัทประกาศลดมีราว 6,000 คน อีกทั้งมีรายงานด้วยว่า บีเอชพีต้องระงับโครงการผลิตนิกเกิลในออสเตรเลียตะวันตกอีกด้วย