หากเปรียบ “สามทหารเสือ” ดั่งขุนพลแห่งตำนานวรรณกรรมฝรั่งเศสของโลกตะวันตกแล้ว โลกตะวันออกก็มี “สามนักกระบี่” เป็นขุนพลผู้สร้างตำนานนิยายกำลังภายใน คือ เนี่ยอู้เซ็ง, กิมย้ง, และโกวเล้ง และ ณ บัดนี้ โลกวรรณกรรมนิยายกำลังภายใน ก็ได้สูญเสียนักกระบี่ไปอีกคน คือ เนี่ยอู้เซ็ง หลังจากที่ได้สูญเสีย นักกระบี่โกวเล้งไปเมื่อ 24 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2528) เหลือเพียงนักกระบี่ท่านเดียวที่ยังมีชีวิตคือ ท่านปู่ กิมย้ง วัย 84 ปี
เนี่ยอู้เซ็ง หรือในเสียงอ่านภาษาจีนกลาง เหลียง อี่ว์เซิง(梁羽生) นักกระบี่ผู้รังสรรค์นิยายกำลังภายในรุ่นบุกเบิกแห่งฮ่องกง ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่ผ่านมา ด้วยวัย 85 ปี เนื่องจากโรคมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะและอัมพฤกษ์ที่โรงพยาบาลในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
สำหรับผลงานที่โดดเด่นของนักกระบี่ท่านนี้ ได้แก่ นางพญาผมขาว (白发魔女), เจ็ดนักกระบี่แห่งเทียนซาน (七剑下天山), รอยแหนเงาจอมยุทธ์ (萍踪侠影录), หยุนไห่อี้ว์กงหยวน(云海玉弓缘)เป็นต้น
งานของเนี่ยอู้เซ็ง ที่มีฉบับแปลพากษ์ไทยเกือบ 10 เรื่อง ส่วนใหญ่แปลโดย จำลอง พิศนาคะได้แก่ แม่เสือขาว (พิมพ์ใหม่เปลี่ยนชื่อเป็น นางพญาผมขาว), เจ็ดนักกระบี่ (แห่งเทียนซาน), สามกระบี่สาว, มังกรมรกต, จ้าวแผ่นดิน, จอมยุทธ์สัญจรแห่งราชวงศ์ถัง เป็นต้น สำหรับ น. นพรัตน์ ก็ได้จับงานชิ้นเยี่ยมของเนี่ย อู้เซ็งมาแปล ได้แก่ รอยแหนเงาจอมยุทธ์ (ฉบับแปลครั้งแรกใช้ชื่อ กระบี่กู้บัลลังก์), นางพญาผมขาว สิงห์นิยายกำลังภายในชาวไทยกล่าวว่าสุดยอดนิยายกำลังภายในอีกเรื่องของเนี่ยอู้เซ็ง ที่ยังไม่มีผู้แปลฉบับพากษ์ไทยคือ หยุนไห่อี้ว์กงหยวน
งานเขียนของ เนี่ยอู้เซ็ง ครองใจนักอ่านทุกระดับชนชั้น หากเทียบกับงานเขียนของกิมย้งแล้ว ผลงานของ เนี่ยอู้เซ็ง จะมีพื้นฐานของโคลงกลอน นิยาย และประวัติศาสตร์จีนที่ลึกซึ้งมากกว่า นิยายกำลังภายในของเนี่ย อู้เซ็ง ทุกเรื่อง ได้รับการแปลเป็นพากษ์ภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศอื่นๆ
นิยายกำลังภายในภายใต้นามปากกา เนี่ยอู้เซ็ง เรื่องแรก เผยแพร่สู่บรรณพิภพเมื่อปี พ.ศ. 2497 (1954) จนถึงปี 2527 (1984) เนี่ย อู้เซ็ง มีผลงานฝากไว้ในบรรณภพตลอด 30 ปีนี้ รวมทั้งสิ้น 35 เรื่องด้วยกัน สร้างตัวละครมากกว่าร้อยตัว และได้รับการยกย่องสร้างสรรค์ตัวละครหญิงได้ดีที่สุดในเรื่องนางพญาผมขาว สำหรับผลงานชิ้นสุดท้าย คือ เรื่อง เฟิงเตา (封刀)หลังจากนั้นก็ล้างมือในอ่างทองคำ หันไปทุ่มเทเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์
สำหรับแนวคิด เกี่ยวกับ อู่เสีย (武侠) ของเนี่ย อู้เซ็ง คือ “อู่” ซึ่งหมายถึงการต่อสู้นั้นเป็นวิธีการ และ “เสีย” ซึ่งหมายถึงคุณธรรม ความกล้าหาญนั้น คือ เป้าหมายที่แท้จริง ดังนั้น เนี่ย อู้เซ็งจึงยึดถือหลักการ “ใช้คุณธรรมเพื่อหยุดการต่อสู้” เป็นแนวคิดพื้นฐานในการสร้างสรรค์งานเขียนกำลังภายใน
เหลียง อี่ว์เซิง 梁羽生 เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2467 (1924) มีชื่อเดิม คือ ตั้ง บุ้นทง หรือในเสียงอ่านจีนกลางคือ เฉิน เหวินถ่ง (陈文统) บ้านเกิดอยู่ที่อำเภอเหมิงซานของดินแดนชนชาติจ้วงในเขตปกครองตัวเองกว่างซี หรือกวางสี เป็นครอบครัวบัณฑิตที่มีชื่อเสียงและมีฐานะดี เนี่ย อู้เซ็ง เติบโตท่ามกลางธรรมชาติภูเขาสวยงาม ทั้งยังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์มากมายจากผู้ทรงความรู้ที่อพยพมาจากนครกวางเจา ซึ่งสิ่งแวดล้อมเหล่านี้เอื้ออำนวยแก่การอ่านหนังสือ เขียนบทกวี
เนี่ยอู้เซ็ง หลงใหลการอ่านนิยายกำลังภายในชนิดลืมกินลืมนอน กระทั่งเติบใหญ่เข้าสู่สังคม ก็ยังรักการอ่านและวิจารณ์นิยายกำลังภายใน กอปรด้วยความรู้มหาศาลด้านประวัติศาสตร์วรรณกรรม ภูมิหลังเหล่านี้เอง ได้สร้างรากฐานอันแข็งแกร่งในการสร้างสรรค์นิยายกำลังภายในแก่จอมยุทธ์นักเขียนท่านนี้
หลังสงครามต่อต้านญี่ปุ่นสิ้นสุดลง เนี่ยอู้เซ็ง เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเนี่ยน้ำ (岭南大学) นครกวางเจา สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ หลังจบการศึกษา ด้วยจิตใจรักด้านประวัติศาสตร์, วรรณกรรม และโคลงกลอนกวีโบราณ จึงได้เข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์ “ต้ากงเป้า” ของฮ่องกง ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่หนุนลัทธิการเมืองฝ่ายซ้าย ในปีพ.ศ. 2492 (1949) ก็ได้สิทธิพำนักถาวรในฮ่องกง ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่นครซิดนีย์
เนี่ยอู้เซ็ง มีนามปากกาหลายชื่อ เช่น เหลียง ฮุ่ยหรู , เฝิง อวี๋หนิง (*เสียงอ่านจีนกลาง)เป็นต้น โดยมีผลงานเขียนทั้งปกิณกะ บทวิจารณ์วรรณกรรม และบันทึกประวัติศาสตร์วรรณกรรม นอกจากนี้ยังเคยเขียนบทวิจารณ์หมากรุกจีน ภายใต้นามปากกา “เฉินหลู่” (*เสียงอ่านจีนกลาง) ซึ่งงานเขียนวิจารณ์หมากรุกจีนที่มีอรรถรส อ่านแล้วตื่นเต้นยิ่งกว่าลุ้นเชียร์ที่ขอบสนามเสียอีก
เนี่ยอู้เซ็ง ป่วยเป็นโรคมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ และได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2549 ในงานเลี้ยงที่ฮ่องกงและเป็นลมกลางงาน หลังจากนั้นก็ได้พักรักษาสุขภาพ ที่โรงพยาบาลนครซิดนีย์ จนกระทั่งเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่ผ่านมา ด้วยวัย 85 ปี
น. นพรัตน์ เล่าชีวิต นักกระบี่ เนี่ยอู้เซ็ง
ในวาระการสูญเสีย “นักกระบี่” แห่งโลกนิยายกำลังภายในนี้ “มุมจีน” ได้สัมภาษณ์นักแปลนิยายกำลังภายในมือฉมัง คุณ น. นพรัตน์ เกี่ยวกับชีวิต และความโดดเด่นของงานเนี่ยอู้เซ็ง
คุณ น. นพรัตน์ เล่าถึง “เนี่ยอู้เซ็ง เป็นศิษย์พี่ของ กิมย้ง สำหรับคำ อู้เซ็ง นี้ มีความหมายถึง “ศิษย์ของแป๊ะอู้” แป๊ะอู้ หรือในเสียงอ่านจีนกลางคือ ไป๋อี่ว์(白羽 )เป็นนักเขียนนิยายกำลังภายในที่มีชื่อเสียงในยุคสาธารณรัฐจีน (1930-1940) เนี่ย อู้เซ็งเสื่อมใสงานของเขามาก จึงตั้งชื่อนามปากกาคารวะ แป๊ะ อู้ เป็นครู เช่นนี้
เนี่ยอู้เซ็ง จัดเป็นนักเขียนนิยายกำลังภายในรุ่นบุกเบิก โดยรุ่นก่อนหน้านั้น เรียกเป็นนิยายกำลังภายในรุ่นเก่าในยุคสาธารณรัฐ นิยายกำลังภายในห่างหายไปจากชีวิตผู้คนทั่วไปเป็นเวลานานนับจากช่วงปลายยุคสาธารณรัฐจีน ต่อเนื่องมาถึงยุคสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ซึ่งห้ามการเสพนิยายกำลังภายใน กระทั่งเนี่ยอู้เซ็ง และกิมย้งได้บุกเบิกนิยายกำลังภายใน จนเป็นที่นิยมทั่วดินแดนจีน ทั้งในฮ่องกง ไต้หวัน ถึงดินแดนที่มีชาวจีนโพ้นทะเลหนาแน่น เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น
ก่อนที่นิยายกำลังภายในเรื่องแรกของ เนี่ยอู้เซ็ง ถือกำเนิดในบรรณพิภพเมื่อปีพ.ศ. 2497 จ้าวสำนักวรยุทธ์ 2 สำนักในฮ่องกง คือ สำนักไท้เก๊ก และสำนักนกกระเรียนขาว เปิดศึกวิวาทะกัน และได้เริ่มโจมตีกันบนหน้าหนังสือพิมพ์ จากนั้นก็เปิดเวทีประลองยุทธ์แลกหมัดกันตัวต่อตัวที่เวทีเลยไถในมาเก๊า เป็นที่โจษจันฮือฮาทั้งในมาเก๊า และฮ่องกง กระทั่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ซิงมึ่งป่อ (ซินหวั่นเป้า) เกิดความคิดและได้ชวน ตั้ง บุ้นทง เขียนนิยายกำลังภายในโดยใช้เหตุการณ์ประลองยุทธ์นี้ เป็นฉากหลัง เพื่อตอบสนองความสนใจผู้อ่าน และในวันที่สามของการประลอง นิยายกำลังภายใน เรื่อง “มังกรถล่มพยัคฆ์เมืองหลวง” (龙虎斗京华)ประพันธ์โดย เนี่ยอู้เซ็ง ก็ได้ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ซิงมึ่งป่อ นิยายกำลังภายในเรื่องแรกของ เนี่ยอู้เซ็ง นี้เอง ได้เปิดยุคนิยายกำลังภายในรุ่นบุกเบิก
ในปีถัดมา 2498 กิมย้ง ก็ได้ประเดิมนิยายกำลังภายในเรื่องแรกของเขาใน ซิงมึ่งป่อ เช่นกัน คือเรื่อง ตำนานอักษรกระบี่ 书剑恩仇录 ฉบับพากษ์ไทยโดย น. นพรัตน์ (ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์ ในชื่อ จอมใจจอมยุทธ์)จากนั้น เนี่ยอู้เซ็ง และกิมย้ง ก็ได้กลายเป็นดาวจรัสแสงผู้สร้างโลกนิยายกำลังภายในรุ่นบุกเบิก โดยมีโกวเล้งร่วมสร้างสรรค์สุดยอดเพลงกระบี่นิยายกำลังในอยู่ในไต้หวัน
สำหรับงานเขียนนิยายของ เนี่ยอู้เซ็ง ใช้ภาษาแบบแผน กระชับ มีจุดเด่นในการสร้างตัวละครโดยเฉพาะตัวละครหญิง เน้นศิลปะวรรณคดี เจ้าบทเจ้ากลอน มีผู้เปรียบงานของเนี่ย อู้เซ็ง เหมือนน้ำธรรมดาทั่วไป แต่เป็นน้ำบริสุทธิ์ที่ทุกคนขาดมิได้ สารัตถะในงานของเนี่ย อู้เซ็ง มุ่งแสดงความเป็นวีรบุรุษ ความรักชาติ ขณะที่เนื้อหานิยายของกิมย้ง เน้นไปที่ อธรรม
นอกจากนี้ เราสามารถสัมผัสบุคลิกของเนี่ยอู้เซ็งได้จากตัวละครเอกคือ เตี่ยตังปัง ใน “รอยแหนเงาจอมยุทธ์” ซึ่งสะท้อนบุคลิกของเนี่ย อู้เซ็งมากที่สุด อีกเรื่องที่จัดเป็นงานชิ้นเยี่ยม ซึ่งสร้างผู้ร้ายเป็นตัวเอกได้ดี คือ หยุนไห่อี้ว์กงหยวน
คุณ น. นพรัตน์ กล่าวอย่างอาลัยว่า
“ การเสียชีวิตของเนี่ยอู้เซ็ง เสมือนการสูญเสียหยกที่ใสบริสุทธิ์ล้ำค่าเม็ดหนึ่งของจีน”
คลิกอ่าน กิมย้ง จอมยุทธ์ดาบปากกา