xs
xsm
sm
md
lg

ตุ้ยเจิ้งเซี่ยเย่า : "ใช้ยาให้ถูกโรค"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจาก 997788.com
对(duì) อ่านว่า ตุ้ย มีหลายความหมาย ในที่นี้หมายถึง สำหรับ,จับคู่
症(zhèng) อ่านว่า เจิ้ง แปลว่า อาการป่วย
下(xià) อ่านว่า เซี่ย มีหลายความหมาย ในที่นี้หมายถึงการใช้(ยา)
药(yào) อ่านว่า เย่า แปลว่า ยา


หัวถัว คือนามของแพทย์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เขาเชี่ยวชาญด้านการรักษาทั้งภายนอก ภายใน ทั้งสตรี และเด็ก โดยใช้ศาสตร์การฝังเข็มขั้นสูง ทั้งยังตรวจอาการได้อย่างแม่นยำ จึงเป็นผู้มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ในประวัติศาสตร์การแพทย์ของจีน
  
ยามที่หัวถัวตรวจอาการและรักษาคนไข้ สามารถแยกแยะอาการที่แตกต่างของคนไข้เพื่อออกใบสั่งยาที่เหมาะสมกับคนผู้นั้น
  
ครั้งหนึ่ง หนีสวิน และหลี่เอี๋ยน 2 ขุนนางเข้ามาพบแพทย์หัวเพื่อตรวจอาการป่วยไข้พร้อมกัน โดยอาการป่วยของทั้งสองนั้นเหมือนกัน คือปวดศีรษะ มีไข้ เมื่อแพทย์หัวได้จับชีพจรของคนไข้ทั้งสองแล้ว จึงเขียนใบสั่งยาถ่ายให้หนีสวิน และเขียนใบสั่งยาเร่งเหงื่อออกให้หลี่เอี๋ยน
 
เมื่อคนไข้ทั้งสองอ่านใบสั่งยาของตน จึงเกิดความสงสัยเป็นอันมาก และสอบถามแพทย์หัวว่าเหตุใดเมื่อทั้งคู่มีอาการป่วยเหมือนกัน จึงได้รับยาที่แตกต่างกัน
  
แพทย์หัวถัวอธิบายว่า "ท่านทั้งสองเหมือนกันแต่เพียงอาการที่โรคแสดงออกมา แต่แท้จริงแล้วอาการป่วยของหนีสวินเกิดจากอาหารเป็นพิษ แต่ของหลี่เอี๋ยนนั้นเกิดจากกระทบถูกอากาศเย็นเกินไป ดังนั้นสรุปว่าท่านทั้งสองมีโรคคนละโรค ข้าจึงต้องเขียนใบสั่งยาตามสาเหตุที่พวกท่านป่วย ซึ่งย่อมไม่เหมือนกัน"
  
เมื่อทั้งสองกินยาตามใบสั่งยา ไม่นานอาการป่วยก็ทุเลา และหายดี
  
ภายหลัง "ตุ้ยเจิ้งเซี่ยเย่า" หรือ "ใช้ยาให้ถูกโรค" ใช้เพื่อเปรียบเทียบกับการแยกแยะเหตุการณ์ให้ชัดแจ้ง เพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้องตรงจุด

กำลังโหลดความคิดเห็น