xs
xsm
sm
md
lg

หนุ่มสาวจีนแห่รัดเข็มขัด สวนกระแสแผนกระตุ้นรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พนักงานขายของร้านเสื้อผ้าแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง กำลังมองหาลูกค้าเข้าร้าน แต่ก็ดูเหมือนจะเงียบเหงาเพราะผู้คนขณะนี้ต่างก็ประหยัดค่าใช้จ่ายกันอย่างรัดกุม - ภาพ เอเอฟพี
รอยเตอร์ - พนักงานออฟฟิศชาวจีนแห่รัดเข็มขัด ตัดงบรายจ่ายฟุ่มเฟือยตั้งแต่เสื้อผ้ายันอาหารจานด่วน สวนกระแสมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายใน เพื่อฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ปั่นป่วนของภาครัฐ

ขณะที่หลายเว็บไซต์และบล็อกเกอร์ที่นำเสนอแนวทางการประหยัดสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจที่ประเทศเผชิญอยู่ก็ได้รับความนิยมจากวัยหนุ่มสาวจำนวนมาก

หวัง เฮ่า พนักงานออฟฟิศหนุ่มวัย 24 ปี ในกรุงปักกิ่ง ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ริเริ่มกิจกรรมการประหยัดขึ้นในเดือนมิถุนายน ปีที่แล้ว โดยผ่านบล็อกส่วนตัวของเขา ภายใต้ชื่อว่า “ไป่ หยวน โจว” หรือการควบคุมรายจ่ายสัปดาห์ละไม่เกิน 100 หยวน(ราว 500 บาท) ซึ่งหวังเผยว่า ขณะนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวแล้วประมาณ 55,000 คน และมีจำนวนคลิกอยู่ที่ 178,000 ครั้ง

“วิกฤตการเงินโลกที่เกิดขึ้น คล้ายกับว่าเป็นบทสอบบทหนึ่งในการใช้จ่ายของหนุ่มสาวชาวจีน รวมทั้งผมด้วย” เจ้าตัวเผยกับผู้สื่อข่าว

จีนเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ตัวเลขสองหลักมาโดยตลอด และผู้บริโภคสำคัญของประเทศก็อยู่ในกลุ่มคนวัยหนุ่มสาว ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปลายๆ – 30 ปีต้นๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีกำลังการใช้จ่ายค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรายได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่คนกลุ่มนี้หาซื้อได้แก่ เสื้อผ้าแบรนด์ดัง สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และกิจกรรมความบันเทิงต่างๆ แต่ทว่าปัจจุบันกลุ่มคนพวกนี้กำลังลดการใช้จ่ายของตนเองลงอย่างรัดกุม

อย่างไรก็ดี นอกจากบล็อกส่วนตัวของหนุ่มออฟฟิศหวัง เฮ่าแล้ว ในรายงานระบุว่ายังคงมีเว็บไซต์อื่นๆ ที่นำเสนอเนื้อหาในลักษณะเดียวกันนี้ บ้างก็แนะนำการจัดการงบประมาณ(How to) หรือแม้แต่การซื้อของอย่างไรให้คุ้มค่าในวงเงิน 10 หยวน

นอกจากนั้น ยังมีคำแนะนำรับมือวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงนี้ด้วยว่า ให้เลี่ยงการเปลี่ยนงาน ระงับการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงโครงการซื้อรถยนต์ และการมีลูก

เมื่อพิจารณาจากกิจกรรมต่างๆ ที่สื่อบนอินเทอร์เน็ตเผยแพร่ จะเห็นได้ว่ากำลังสวนทางกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนโดยสิ้นเชิง ที่สนับสนุนให้คนจับจ่ายซื้อของ
ห้างสรรพสินค้างัดมาตรการลดราคาเพื่อดึงดูดลูกค้า - ภาพ เอเอฟพี
ด้านหลิน ซงลี่นักวิเคราะห์อาวุโสจากหนังสือพิมพ์กั๋วซิ่น ซีเคียวริตี้ในกรุงปักกิ่งได้มองว่า แม้กิจกรรมรัดเข็มขัดจะได้รับความนิยมในหมู่ประชาชน แต่มันก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงไปอยู่ในเกณฑ์ต่ำ แต่หากเมื่อไรมันขยายสู่วงกว้างมากยิ่งขึ้น ก็จะกลายเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะที่บริษัทสำรวจอิพโซส(Ipsos) เปิดเผยแบบสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเมื่อปลายเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว มีชาวจีนเพียงร้อยละ 46 ที่ยังคงเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของประเทศจะยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าซึ่งตัวเลขนี้มีถึงร้อยละ 90

เงิน 100 หยวนทำอะไรได้บ้าง?

วัยหนุ่มสาวชาวจีนขณะนี้เริ่มนิยมไปท่องเที่ยวยังต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ เช่น กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว

รายงานเผยถึง ผลสำรวจการใช้จ่ายของวัยทำงานในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พบว่าพวกเขามีราบจ่ายต่อเดือนมากถึง 2,500 หยวน (ราว 12,500 บาท) ขณะที่กรมสถิติจีนระบุว่ารายได้เฉลี่ยของคนในเขตเมืองอยู่ที่ 2,192 หยวน เท่ากับว่าทุกวันนี้พวกเขามีรายจ่ายมากกว่ารายได้ที่รับมา

รายงานระบุว่า สินค้าราคาฟุ่มเฟือยหลายอย่างขายดีเป็นเทน้ำเทท่าที่จีน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น หนุ่มสาว ที่ต้องการนำสมัย ก็มักจะหาเงินเพื่อซื้อหาของเหล่านี้ อาทิ ไอโฟน (iPhone)

“หลังจากผมเรียนจบมหาวิทยาลัย เรียกได้ว่าเปลี่ยนมือถือทุกๆ ครึ่งปีเลยทีเดียว แต่หลังจากเศรษฐกิจไม่ดี ผมก็เริ่มระวังการจ่าย เพราะว่าบริษัทที่ผมทำ มีต่างชาติเข้ามาถือหุ้น” หวัง เฮ่าบอก

หวังบอกว่า แผนการประหยัดของเขาทำให้เขาต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ โดยหันมากินซาลาเปา หรือหมั่นโถส แทนการกินพิซซ่าหรูหราในอดีต และใช้จักรยานปั่นมาทำงานทุกวัน แทนการนั่งรถประจำทาง

อย่างไรก็ตาม หากพิจาณาจากกรณีของหวัง เฮ่าแล้ว กล่าวได้ว่าคนวัยหนุ่มสาวของจีนกำลังวิตกกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ แต่ทว่าพวกเขาเหล่านี้ยังไม่ได้สุดโต่งกับการประหยัดแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น