เอเอฟพี – การปฏิรูปเศรษฐกิจที่เริ่มขึ้นบนแดนมังกรเมื่อ 30 ปีก่อนได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากลึกในประเทศ ซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลกแห่งนี้ การเปลี่ยนแปลงนั้นมากมายระดับไหน? ลองมาดูสถิติเปรียบเทียบกัน
เศรษฐกิจ :
ทุกวันนี้จีนเป็นมหาอำนาจชาติหนึ่งในโลก สาเหตุหลัก เนื่องมาจากเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยสินค้าส่งออกจำนวนมหึมา และพญามังกรกำลังจะแซงหน้าเยอรมนี กลายเป็นชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เมื่อมองย้อนกลับไป นับตั้งแต่ปี 2521 จะเห็นว่ามันเป็นเส้นทางที่ยาวไกล โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีของปีนั้น เมื่อคิดตามมูลค่าปัจจุบันอยู่ที่ 364,500 ล้านหยวน แต่ในปี2550 จีดีพีโตขึ้นถึง 68 เท่า เป็น 25.1 ล้านล้านหยวน
การค้ากับต่างชาติ :
ตัวเลขการค้ากับต่างชาติทำให้เห็นการผงาดของจีนราวกับหนังอภินิหาร ยอดการค้าของจีนกับต่างชาติในปี 2521 มีมูลค่า 20,600 ล้านดอลลาร์ โดยจีนขาดดุลการค้า 1,100 ล้านดอลลาร์ แต่ยอดการค้ากับต่างชาติในปี 2550 โตถึง 105 เท่าเป็น 2.17 ล้านล้านดอลลาร์ และการขาดดุลกลับกลายเป็นการเกินดุลอย่างมหาศาลจำนวน 262,000ล้านดอลลาร์
การศึกษา :
การศึกษาเคยเป็นเรื่องอิสระไม่มีการบังคับในหลายเมือง แต่หลายปีภายหลังจากลงมือปฏิรูป การศึกษากลายเป็นรายจ่ายก้อนโตสำหรับหลายครอบครัว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการศึกษาเฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัย ในปี 2521 มีผู้เดินออกจากมหาวิทยาลัย พร้อมปริญญาบัตร ที่สูงกว่าปริญญาตรีเพียง 9 คน แต่พอถึงปี2550 แทบไม่น่าเชื่อว่า ตัวเลขจะพุ่งสูงได้ถึง 311,839 คน
ประชากร :
ตอนที่เริ่มการปฏิรูป จีนมีพลเมืองมากที่สุดในโลกจำนวน 963 ล้านคน ทุกวันนี้ ก็ยังครองตำแหน่งดังกล่าว โดยในปี 2550 มีพลเมืองมากถึง 1,320 ล้านคน ทว่าก็มีแนวโน้ม ที่อินเดียอาจแซงหน้าจีนภายในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า เหตุผลหลัก ก็เนื่องจากจีนใช้นโยบายลูกคนเดียว ซึ่งลดอัตราการเติบโตของประชากรจากร้อยละ 1.2 ต่อปีในปี 2521 เป็นร้อยละ0.5 ในปัจจุบัน
การจ้างงาน :
เมื่อสมัยปี 2521 นั้น มีชาวจีนประกอบอาชีพอิสระ 150,000 คน โดยทั่ว ๆ ไปก็ค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเป็นช่างซ่อม ยังไม่มีชาวจีนคนใดเป็นลูกจ้างธุรกิจเอกชน พอในปี 2550 จำนวนชาวจีนที่ทำงานเป็นลูกจ้างธุรกิจเอกชน หรือทำงานอิสระเพิ่มถึง 127 ล้าน 5 แสนคน
รายได้ :
ชาวจีนที่อาศัยในเมืองและชนบทต่างได้รับประโยชน์จากการปฏิรูป โดยในปี 2521ครอบครัวในเมืองมีรายได้ใช้จ่ายต่อปีโดยเฉลี่ย 343.4 หยวน ขณะที่ในปี 2550 อยู่ที่ 13,786 หยวน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 40 เท่า ส่วนครอบครัวในชนบท เพิ่มขึ้น 31 เท่า จาก 133.6 หยวน เป็น 4,140 หยวน
บ้านอาศัย :
ชาวจีนเคยต้องอาศัยกันอย่างแออัดภายในห้องเช่าแคบๆ สภาพเช่นนี้ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน แต่ครอบครัวคนชั้นกลาง ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ก็ได้อาศัยในบ้านช่องที่สบายกว่าเดิม เนื่องจากการเคหะของจีนเจริญเติบโตอย่างมาก ซึ่งนับเป็นการเติบโตครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยในปี 2521 คนในเมืองมีที่อยู่อาศัยโดยเฉลี่ย 6.7 ตารางเมตร (72 ตารางฟุต) แต่ในปี 2549 ซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุดที่มีอยู่ พื้นที่อาศัยโดยเฉลี่ยขยายเป็น 27.1 ตารางเมตร (291 ตารางฟุต)
ประชากรสูงอายุ :
ในปี 2524 คาดว่าผู้หญิงจีนมีอายุยืนยาวโดยเฉลี่ย 69.3 ปี ขณะที่ในปี 2543 คาดว่าผู้หญิงจีนมีอายุยืนยาวโดยเฉลี่ย 73.3 ปี ส่วนผู้ชายเฉลี่ย 66.3 ปีในปี 2524 และ 69.6 ปีในปี2543 เห็นได้ว่าตัวเลขไม่เพิ่มมากนัก ซึ่งสะท้อนว่า จีนมีการดูแลสุขอนามัยขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชนอย่างกว้างขวางพอสมควรในยุคก่อนหน้าการปฏิรูป