ช่วงปีที่ผ่านมานั้น มีกระแสข่าวเพิ่มมาตรการคุมเข้มนโยบายลูกคนเดียว และกระแสความต้องการมีลูกสองคนในเขตเมืองที่โดนกฎเหล็ก “หนึ่งบ้าน หนึ่งคน” เข้าเต็มๆ กอรปรด้วยแนวโน้มปัญหาใหญ่ที่เป็นผลพวงจากนโยบายนี้ คือ การขยายตัวของสังคมคนแก่ อีกทั้งกรณีอื้อฉาวการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างดำเนินนโยบายลูกคนเดียว อาทิ การบังคับทำแท้ง ทำหมัน การสังหารเด็กผู้หญิงด้วยประเพณีความเชื่อการมีลูกชายเป็นสิ่งดี
ศึกขัดแย้งสืบเนื่องจากการบังคับทำแท้งได้ระเบิดขึ้นในปี 2007 ชาวบ้านนับพันจากเมืองหยังเหม่ยและหลิงซัน เขตปกครองตัวเองชนชาติจ้วงแห่งกว่างซี บุกเผาที่ทำการรัฐบาลท้องถิ่น สำนักงานวางแผนครอบครัว หลังจากที่สุดทนกับปฏิบัติการโหดเหี้ยมของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบดำเนินนโยบายลูกคนเดียว กลุ่มชาวบ้านได้บอกกับผู้สื่อข่าวต่างชาติว่า เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงบังคับให้ผู้หญิงทำแท้ง พังบ้านของผู้ฝ่าฝืนนโยบาย ยึดทรัพย์สิน และขูดรีดค่าปรับโทษฐานมีลูกเกินโควตา นับเป็นผลพวงจากการดำเนินนโยบายเหล็ก ที่จบลงด้วยศึกรุนแรง
...กระทั่งเกิดกระแสข่าวลือสะพัดไปทั่วว่ารัฐบาลกำลังคิดเลิกกฎเหล็กลูกคนเดียว
และนโยบายลูกคนเดียว ก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญในการประชุมสภาผู้แทนแห่งชาติต้นประจำปี 2008 เดือนมีนาคมครั้งนี้
ผู้นำจีนเหนียวแน่นในวิธีคิดการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ไม่สนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ นายใหญ่แห่งการวางแผนครอบครัว จาง เหวยชิ่งรัฐมนตรีแห่งคณะกรรมการวางแผนครอบครัวและประชากรแห่งชาติ ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวงนั้น ให้สัมภาษณ์กับสื่อจีนระหว่างการประชุมสภาผู้แทนประชาชน ประกาศชัดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่พลิกโฉมในนโยบายวางแผนครอบครัวจีน รวมถึงกฎข้อบังคับลูกคนเดียวด้วย และหากจะต้องเปลี่ยนแปลง ก็ต้องรอให้พ้นจากช่วง 10 ปีข้างหน้าซึ่งเป็นช่วงที่กระแสการเกิดแตะระดับสูงสุด
นายจางยืนยันว่า นโยบายวางแผนครอบครัวที่ดำเนินมาเกือบ 30 ปีนั้น ยังสอดคล้องกับเงื่อนไขสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นหลักประกันเสถียรภาพและสมดุลประชากร สืบเนื่องจากในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ ประเทศยังต้องเผชิญกับกระแสเด็กเกิดพุ่งสูงสุด เนื่องจากประชากร 200 ล้านคน จะเข้าสู่วัยผลิตทายาท ดังนั้น จึงต้องรักษานโยบายวางแผนครอบครัวเดิมไว้ มิฉะนั้น ก็อาจเกิดปัญหาวุ่นวาย และแรงกดดันเพิ่มขึ้นในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
และสำหรับกระแสเรียกร้องยกเครื่องนโยบายวางแผนครอบครัว เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ อย่างเช่น ความไม่สมดุลระหว่างเพศที่ถ่างกว้างมากขึ้น และสังคมคนแก่ขยายตัวนั้น นายจางย้ำว่าปัญหาเหล่านี้ ไม่ได้เกิดจากกฎข้อบังคับลูกคนเดียว เพียงสาเหตุเดียว
ผู้นำเติ้งคลอดกฎเหล็กลูกคนเดียว
“มีลูกมาก ยากจน” เป็นตรรกะที่จีนชาติประชากรมากที่สุดในโลก ถึงตัวเลข 1,300 ล้านคน ต้องตระหนัก และหามาตรการจัดการอย่างเด็ดขาด มิฉะนั้น ทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด ก็จะหร่อยหรอ จนฉุดเศรษฐกิจลงเหวได้ ดังนั้น ในปี 1979 ผู้นำสูงสุดเติ้ง เสี่ยวผิง ก็ได้ออกแผนวางแผนครอบครัว ซึ่งมีนโยบายลูกคนเดียวอันลือลั่น วางกฎเหล็กให้บรรดาครอบครัวในเขตเมืองขนาดกลางและเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งมีประชากร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.9 ของประชากรทั้งประเทศ มีลูกได้เพียงคนเดียว และได้ผ่อนปรนให้ครอบครัวในชนบทมีลูกได้สองคน และชนส่วนน้อย สองถึงสามคน
มาถึงวันนี้ จีนคุยถึงความสำเร็จของนโยบายลูกคนเดียว ว่าสามารถป้องกันการเกิดได้ถึง 400 ล้านคน ซึ่งมีส่วนช่วยในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คนในชาติอย่างเหลือหลาย
กระนั้น จีนก็ยังผวา ยุค “เบบี้ บูม” คืนชีพ ในปีที่ผ่านมา (ค.ศ.2007) ทางการก็ได้ระดมมาตรการคุมเข้มนโยบายลูกคนเดียว และการลงโทษเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีรายงานข่าวออกมาบ่อยๆจากกลุ่มสื่อจีน จากในเดือนมีนาคมที่มีข่าวว่าจีนเล็งออกมาตรการเพิ่มโทษปรับสินไหมพวกคนเมือง ที่มักแหกกฎ ยอมจ่ายค่าปรับไม่เท่าไหร่เพื่อซื้อลูกอีกคน สำทับด้วยคำขู่ขึ้นบัญชีดำความน่าเชื่อถือพวกฝ่าฝืนกฎลูกคนเดียว และอาจถูกริบสิทธิการรับรางวัลเกียรติยศต่างๆทางสังคม
นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวการลงโทษกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ฝ่าฝืนกฎออกมาเป็นระยะๆ อย่างในเดือนเมษายน...ก็มีการปลดเจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าสำนักงานโยธา เมืองอี๋ว์หลิน มณฑลส่านซี โทษฐานมีลูกมากเกิน ในเดือนกรกฎาคม...ก็มีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ระดับใหญ่น้อยในมณฑลหูหนัน ละเมิดกฎลูกคนเดียวเฉียด 2,000 คน ถูกจับกุมกันนับร้อย รายงานข่าวยังระบุว่าเจ้าหน้าที่คนหนึ่งมีลูก 4 คน กับภรรยา 4 คน
ทั้งนี้ เป็นที่เชื่อกันว่า มีครอบครัวในชนบทจำนวนไม่น้อย มีลูกดกดื่นกันมากกว่า 2-3 คน อาจถึง 4-5 คนด้วยซ้ำ และพากันหลบเลี่ยงกฎ ด้วยการไม่ไปแจ้งเกิดลูก ปล่อยให้กลายเป็นเด็กเถื่อนเกลื่อนเมือง ทำให้ตัวเลขประชากรที่แท้จริงของจีน อาจถึง 1,500 ล้านคน
ชั่วรุ่น “4-2-1” กับอนาคตที่ไม่จินตนาการไม่ออก
แต่กฎเหล็กแห่งนโยบายลูกคนเดียว ก็ได้สร้างผลพวงในด้านลบหลากหลายมิติ
นักวิชาการด้านประชากรจีน ชี้ว่านโยบายดังกล่าว ทำให้เกิดปรากฎการณ์ครอบครัวที่เรียกว่า “สี่, สอง, หนึ่ง” ขึ้น โดย “สี่”นั้น หมายถึงปู่ ย่า ตา ยาย, “สอง”นั้น หมายถึงพ่อ แม่, และ “หนึ่ง”หมายถึงลูก และหากกลุ่มลูกโทนรุ่นหนึ่ง ผลิตลูกโทนรุ่นสองออกมาอีก ก็จะเกิดกระแสวิกฤตการเลี้ยงดูครอบครัวของลูกโทน คือ คนวัยหนุ่มสาววัยทำงาน จะต้องแบกภาระการเลี้ยงดูคนแก่ 12 คน นับเป็นแรงกดดันถึงเป็นถึงตายทีเดียว!
ชาวปักกิ่งซึ่งมีลูกคนเดียว เล่าถึงชีวิตครอบครัวลูกคนเดียวว่า เมื่อนึกถึงมันขึ้นมาทีไร ก็รู้สึกกลัวแปลกๆพิลึกๆว่า “คุณลองนึกดูว่าเด็กที่มีคนคอยประคบประหงมพะนอถึง 6 คน คือ ปู่ ย่า ตา ยาย และพ่อแม่ ดูเป็นชีวิตที่มีโชคสุขีเสียไม่มี แต่ชีวิตก็จะกลับสวิงไปอีกด้าน...ลูกผมโตอายุ 30 ปี และผมอายุ 60 ปี และปู่ย่าตายาย ต่างก็มีอายุปาไปตั้ง 80 กว่าปีกัน ถึงตอนนั้น พวกเขาจะต้องดูแลคนแก่ถึง 6 คนด้วยกัน และหากลูกแต่งงานกับลูกโทนอีก ก็ต้องรับภาระดูแลคนแก่ 12 คน คุณคิดดูจะดูแลกันยังไง! รัฐบาลต้องคิดหนักจะแก้ปัญหาอย่างไร”
นโยบายลูกคนเดียว ได้สร้างกลุ่มประชากรลูกคนเดียวหรือลูกโทนถึงกว่า 90 ล้านคน จากการสถิติของกระทรวงวางแผนครอบครัวจีน เปิดเผยเมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว
“ลูกโทน 90 ล้านคน ที่ต้องเลี้ยงดูคนแก่ 6 คน หรือ 12 คนนั้น คงได้พ่นพิษใส่เศรษฐกิจและสังคมจีนไม่น้อยทีเดียว”
วิกฤตสัดส่วนผู้สูงอายุ และคนวัยทำงาน
ขณะนี้ กลุ่มผู้สูงอายุโดยเฉพาะในย่านเขตเมืองกำลังโตวันโตคืน กัดกร่อนแหล่งแรงงานเหลือน้อยลงๆ กระทั่งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาเตือนวิกฤตสถิติประชากร ที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากเกิน และความต้องการบริการรองรับพุ่งสูง ขณะที่มีคนวัยทำงานเพียงหยิบมือ จ่ายภาษีที่รวมๆกันแล้วไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายสำหรับผุดบริการรองรับกลุ่มผู้สูงอายุ
ขณะเดียวกัน ตามใจกลางการผลิตใหญ่ๆของประเทศ ก็เริ่มเผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงานกันแล้วในช่วงสองสามปีมานี้ ขณะนี้ ตามเมืองใหญ่ๆอย่างเซี่ยงไฮ้ พยายามแบ่งรับแบ่งสู้ โดยทางการได้ไฟเขียวให้คู่สามีภรรยา ที่ต่างก็เป็นลูกคนเดียว สามารถมีบุตรที่สองได้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในแต่ละจุด
นอกไปจากนี้ ยังมีปัญหาอื่นๆตามมา อย่างอัตราความไม่สมดุลระหว่างเพศชายและเพศหญิง เนื่องจากครอบครัวจีนนั้น ต้องการทายาทชายมากกว่า
พบกันครึ่งทางที่ไหนดี...
เมื่อปัญหาต่างๆส่อเค้าออกมา กลุ่มนักวิชาการก็ได้เสนอร่างมาตรการแก้ปัญหา 3 ฉบับสำหรับปรับเปลี่ยนนโยบายวางแผนครอบครัว ได้แก่ 1) รักษานโยบายเดิม เมื่อถึงปี ค.ศ. 2100 ประชากรก็จะลดลงถึง 800 ล้านคน แต่แหล่งแรงงานก็จะลดลงถึง 380 ล้านคน กลุ่มประชากรสูงอายุ ก็จะมีสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 27 โดยประมาณ และกลุ่มหนุ่มสาว จะมีสัดส่วน เท่ากับร้อยละ 13 โดยประมาณ
แบบที่สอง คือ อนุญาตให้สามรภรรยาที่ต่างเป็นลูกโทน มีลูกคนที่สองได้ เมื่อถึงปีค.ศ. 2100 จีนก็จะมีประชากรรวมทั้งหมด 1,333 ล้านคน กลุ่มผู้สูงอายุจะลดลงร้อยละ 3 ส่วนกลุ่มหนุ่มสาว ก็จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2
แบบที่สามคือ อนุญาตให้คู่สามีภรรยาทุกคู่ มีลูกสองคนได้ เมื่อถึงปี 2100 ก็จะมีประชากร 1,500 ล้านคน ซึ่งดูแล้ว แบบที่สอง จะเป็นการพบกันครึ่งทางที่สวยที่สุด
จากตัวเลขประมาณการณ์ของจีน ระบุจำนวนประชากรในประเทศ มากกว่า 1,300 ล้านคน และขยายตัว 16-17 ล้านคน ในแต่ละปี โดยคาดว่ายอดจำนวนประชากรจีนจะแตะระดับสูงสุด 1,500 ล้านคน ในกลางทศวรรษ 2030 โดยมีอัตราการเกิด 1.8 ต่อเพศหญิง.