เอเอฟพี – ชาติผู้ส่งออกสินแร่ ซึ่งอยู่ห่างจากจีนคนละซีกโลก กระเทือนหนัก เมื่ออุตสาหกรรมการผลิตลวดทองแดง,ผู้ผลิตเครื่องจักร และอุปกรณ์ไฟฟ้าแดนมังกรโดนพิษวิกฤตการเงินโลก ส่งออกและขายในประเทศได้น้อยลง พลอยฉุดความต้องการใช้สินแร่ดิ่งเหว โดยที่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยอะไรไม่ได้เลย
เคราะห์กรรมปรากฏชัดเจนในภาคการผลิตทองแดง โดยจีนใช้ทองแดงมากที่สุดในโลก ซึ่งราวร้อยละ 30 สำหรับผลิตสินค้าส่งออก เมื่อความต้องการสินค้าส่งออกจากจีนลดลงอย่างปัจจุบันทันด่วน จีนก็ได้ส่งต่อความทุกข์ยากไปยังประเทศอื่น เช่น ชิลี ซึ่งเป็นชาติผู้ส่งออกทองแดงแก่จีนรายใหญ่ที่สุด โดยเหมืองแร่ในชิลีต้องลดการผลิตและลอยแพคนงาน เกิดการประท้วงรุนแรงในบางพื้นที่ตามมา ขณะที่โครงการถลุงแร่ทองแดงหลายโครงการในประเทศอเมริกาใต้แห่งนี้มีอันต้องขึ้นหิ้ง
“ธุรกิจได้ดิ่งลงเหว” ไซมอน ฮันต์ นักวิเคราะห์อิสระของอังกฤษระบุ หลังจากไปเยี่ยมบริษัททองแดงในจีนและชาติในเอเชียอื่น ๆ เมื่อไม่นาน โดยผลกระทบของวิกฤตการเงินโลกที่มีต่อเศรษฐกิจและการใช้ทองแดงของจีนจะยังคงมีแรงผลักดันต่อไป
เมื่อพญามังกรจำใจต้องลดความต้องการในการบริโภคสินแร่ จึงส่งผลให้ราคาทองแดงในตลาดโลกปรับลงกว่าครึ่งหนึ่งมาอยู่ที่ปอนด์ละไม่ถึง 1.50 ดอลลาร์ หลังจากเคยทำสถิติสูงสุดที่ 4 ดอลลาร์เมื่อเดือนกรกฎาคม
นักวิเคราะห์ของ CRU บริษัทที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดโลหะภัณฑ์จากอังกฤษระบุว่า เมื่อเดือนกรกฎาคมมานี้เอง ลูกค้าเรียกร้องให้มีการสร้างหลักประกันว่าความต้องการทองแดงของจีนจะยังคงเติบโตแข็งแกร่งไปอย่างต่อเนื่อง แล้วมาตอนนี้ ทุกคนก็ได้เห็นแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น
“ความต้องการใช้ทองแดงของจีนเพิ่มมากขึ้น คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ80 ของการเติบโตทั่วโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อจีนลดความต้องการลง ราคาทองแดงจึงกระทบกระเทือนหนัก”
ในขณะเดียวกัน ราคาสินแร่ประเภทอื่น ๆ เช่น สังกะสี,นิกเกิล, เหล็ก และอะลูมิเนียม ก็ตกกราวรูดเช่นเดียวกัน
บริษัทเหมืองแร่ ริโอ ทินโท ประกาศลดการผลิตสินแร่เหล็กที่เหมืองในภาคตะวันตกของออสเตรเลียลงร้อยละ 10 เมื่อเดือนพฤศจิกายน หลังจากจีนลดความต้องการลง นอกจากนั้น บริษัทยังจะปลดพนักงานอีกหลายพันตำแหน่งทั่วโลก
ด้านบริษัทเวล (Vale) ของบราซิล ผู้ผลิตสินแร่เหล็กรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลก ซึ่งมีตลาดหลักในจีนก็ลดการผลิตลงเช่นกัน
ราคาสินแร่เหล็กสำหรับสัญญาซื้อขายในปีหน้า คาดว่าจะปรับลงร้อยละ 35 เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กกล้าของจีนประสบการขาดทุน อันเป็นผลจากการดิ่งลงของราคาเหล็กกล้า ทั้งนี้จากการคาดการณ์ของไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น
บรรดานักเศรษฐศาสตร์ยังคาดการณ์ด้วยว่า ราคาของสินแร่จะยังคงปรับตัวลงต่อไป และการตกต่ำสุดอาจจะยังมาไม่ถึงด้วยซ้ำ และราคาทองแดงน่าจะเคลื่อนไหวไปตามภาวะเศรษฐกิจ โดยแม็คควอรี แบงก์ ของออสเตรเลีย คาดว่า ความต้องการใช้สินแร่ของจีนชะลอการเติบโตลงมาอยู่ที่ราวร้อยละ 6-7 หรือที่ปริมาณ 5 ล้าน 1 แสนตัน ในปีนี้ เทียบกับการเติบโตที่พุ่งเกือบร้อยละ 18 ในปีที่แล้ว และอาจปรับลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4-5 ในปีหน้าก็เป็นได้
นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญยังมองว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 586,000 ล้านดอลลาร์ของจีน ไม่น่าจะกระตุ้นราคาทองแดงให้ขยับขึ้นได้ในเร็ววัน
“การใช้จ่ายอย่างเต็มที่สำหรับการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคของจีนมีไม่มากพอที่จะเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในโลกได้” นักเศรษฐศาสตร์ของเจพี มอร์แกน เชสระบุ
ทั้งนี้ ความต้องการทองแดงของจีนราว 1 ใน 5 ใช้ไปในการก่อสร้าง แต่ตลาดภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ซบเซาเช่นกัน โดยราคาปรับขึ้นเพียงร้อยละ 0.2 ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นการชะลอตัวมากที่สุด นับตั้งแต่ปี2548 เป็นต้นมา