xs
xsm
sm
md
lg

เล่าวีรกรรมจีนบุกบั่นปฏิรูป เปิดประเทศ ถึงปะมรสุมวิกฤตเงินโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สารสิน วีระผล ผู้ผันตัวจากนักวิชาการ นักการทูต สู่ผู้บริหารมืออาชีพในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร ของบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด
สัมภาษณ์พิเศษ ดร.สารสิน วีระผล

ดร.สารสิน วีระผล เป็นประจักษ์พยานคนหนึ่งที่ได้เห็นการปฏิวัติครั้งสำคัญในประเทศจีน เป็นผู้ติดตามแนวคิดนโยบายของกลุ่มการนำจีน ที่สร้างชาติเดินหน้ามาถึงวันนี้ วันที่จีนกำลังทะยานสู่ชาติอำนาจ

ด้วยภูมิความรู้ เกี่ยวกับเอเชียตะวันออก จบการศึกษาปริญญาโทและเอก จากมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา สาขาวิชา History and East Asia language ทำวิทยานิพนธ์เรื่องการค้าไทย-จีน, เป็นอาจารย์-นักวิชาการในคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, และยังเป็นบรรณาธิการวารสารจีนศึกษาของศูนย์เอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมา ดร.สารสิน วีระผลได้รับเลือกเป็นหนึ่งในคณะผู้ติดตาม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ไปสถาปนาสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนคอมมิวนิสต์ในปี พ.ศ. 2518 (1975) ที่กรุงปักกิ่ง หลังจากนั้น ท่านได้โอนย้ายไปประจำกระทรวงต่างประเทศ และในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2519 (1976) ก็ได้เดินทางไปประจำการในตำแหน่งเลขาตรี ณ สถานทูตไทยประจำกรุงปักกิ่ง ขณะนั้นจีนอยู่ในช่วงรอยต่อสำคัญทางประวัติ ศาสตร์ คือ ประธานเหมา เจ๋อตง ใกล้ถึงแก่อสัญกรรม และผู้นำการปฏิวัติวัฒนธรรม “แก๊ง 4 คน” กำลังสิ้นอำนาจ กระทั่งเข้าสู่ยุคการปฏิรูป เปิดประเทศจีนโดยผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง ในปี 2521 (1978)

ณ เดือนธันวาคม ปี 2551 (2008) นี้ เป็นวาระครบรอบ 30 ปี ที่จีนดำเนินโยบายปฏิรูป และเปิดประเทศ ทีมงาน“มุมจีน” ผู้จัดการออนไลน์ ได้สนทนาเกี่ยวกับก้าวย่างการปฏิรูป เปิดประเทศจีน กับดร. สารสิน วีระผล ผู้ผันตัวจากนักวิชาการ สู่ผู้บริหารมืออาชีพในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร ของบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ซึ่งมีภารกิจเกี่ยวเนื่องกับการติดต่อทางธุรกิจระหว่างไทยและจีนอยู่สม่ำเสมอ

อาจารย์ ได้เล่าถึงสายธารแห่งการปฏิรูป เปิดประเทศจีน นโยบายที่ส่งผลกระทบต่างๆไหลเนื่องมาตลอด 30 ปี การค่อยๆก้าวไปแต่ละก้าว ฝ่าฟันอุปสรรค สู่ความรุ่งโรจน์ทางเศรษฐกิจ จนถึงยุคที่จีนต้องเผชิญกับวิกฤตการเงินโลกด้วยเช่นกัน

รอยต่อยุคสมัย ก่อนปฏิรูป เปิดประเทศ

อาจารย์ได้เล่าภูมิหลังคร่าวๆเกี่ยวกับระบอบระบบคอมมิวนิสต์ใช้ปกครองบริหารประเทศในช่วงปฏิวัติจีนใหม่มาเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี พ.ศ.2592 (1949) นำโดยเหมา เจ๋อตง

“หลังพิชิตชัยชนะในสงครามกลางเมือง ผู้นำคอมมิวนิสต์ไม่ได้พลิกฟ้าพลิกแผ่นดินมาเป็นคอมมิวนิสต์โดยปฏิเสธทุนนิยมอย่างสิ้นเชิง พวกเขาได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ยึดกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดเป็นของรัฐ ตามแนวคิดของมาร์กซิส ซึ่งระบุว่า ที่ดินไม่ใช่สินค้า ซื้อขายกันไม่ได้ แต่สำหรับธุรกิจโรงงานร้านค้ายังเป็นสินค้าที่ซื้อขายกันได้ ดังนั้น การปกครองของผู้คอมมิวนิสต์ในช่วงแรกที่ว่านี้ จึงยอมรับทุนนิยมคงอยู่ต่อไปควบคู่กับลัทธิคอมมิวนิสต์

15-16 ปีแรก ช่วงนี้ การปกครองประเทศจึงยังอยู่ภายใต้ระบบการอยู่ร่วมกัน (co-assistance) ประเทศจีนยังปกครองประเทศกึ่งคอมมิวนิสต์ กึ่งทุนนิยม เพราะคอมมิวนิสต์ไม่มีประสบการณ์เรื่องระบบทุน ที่จะให้โรงงานร้านค้าดำเนินการต่อไป

พอมาถึงยุคปฏิวัติวัฒนธรรมปี 2510-2519 (1967-76) ภายใต้การนำของกลุ่มผู้นำ ที่มีสมญาว่า “แก๊ง 4 คน” ได้แก่ ภรรยาของเหมา เจ๋อตงคือ นาง เจียงชิง, จาง ชุนเฉียว, เหยา เหวินหยวน และหวัง หงเหวิน แก๊ง 4 คน นี้ ได้ดำเนินนโยบายซ้ายสุดขั้ว ต้องการพลิกสังคมคอมมิวนิสต์เป็นแบบยุคพระศรีอาริย์ ชูกำปั้นประกาศ “ทุกคนเสมอภาค ชาวนาเป็นผู้ปกครอง” ธุรกิจเอกชนถูกยึดหมด พังหมด อาจารย์นักวิชาการถูกบังคับไปทำนา เด็กเยาวชนไม่ต้องเรียนกัน ทุกอย่างเป็นการเมืองหมด ช่วง 10 ปี มีแต่การเดินขบวน ปิดประตูประเทศไม่คบกับใคร สร้างความเสียหายแก่ประเทศมาก ประชาชนยากจน ได้กินไข่ เดือนละ 2-3 ฟอง

...เติ้ง เสี่ยวผิงเห็นสภาพของประเทศในตอนนั้นแล้ว “ ตายแน่”  จึงได้ผลักดันการปฏิรูป เปิดประเทศ...

ก่อนจีนปฏิรูป เปิดประเทศ ได้ผ่านเหตุการณ์พลิกเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญ คือ ผู้นำเหมา เจ๋อตง ได้ถึงแก่อสัญกรรมไปในเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2519 ในเดือนถัดมาคือต้นเดือนตุลาคม ก็เกิดการปฏิวัติโค่นล้ม แก๊ง 4 คน

หลังจากที่ผู้นำเหมา ถึงแก่อสัญกรรม ก็เกิดสูญญากาศทางการเมือง เกิดการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันระหว่างกลุ่มผู้นำหัว กั๋วเฟิง ผู้สืบทอดตำแหน่งประธานพรรคคอมมิวนิสต์ และเป็นผู้ออกหน้าในการต่อสู้กับแก๊ง 4 คน, จอมพล เย่ เจี้ยนอิง ผู้มีอำนาจในกองทัพ, และเติ้ง เสี่ยวผิง ซึ่งกลับมามีอำนาจการเมืองอีกครั้ง หลังจากที่ถูกโค่นไป 2 ครั้ง ช่วงถูกโค่นครั้งหลังในปี 2518 เติ้งได้หลบหนีไปอยู่กับเย่ เจี้ยนอิง ที่กว่างตง ฐานอำนาจของเย่ เจี้ยนอิง

ในที่สุด กลุ่ม หัว กั๋วเฟิง, เย่ เจี้ยนอิง และเติ้ง เสี่ยวผิง ก็ชนะการปฏิวัติต้นเดือนตุลาคม

อาจารย์เล่าบรรยากาศที่ได้เห็นได้สัมผัสในจีนตอนนั้นว่า “ขณะการปฏิวัติตอนนั้น บรรยากาศในเมืองจีนอึมครึม น่ากลัวมากซึ่งตอนนั้นไทยก็เกิดการปฏิวัติ ปี 2519 เราไม่รู้เลยว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น รู้แต่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง เพราะสังคมจีนปิดสนิท มีหน่วยจัดตั้งคอยติดตามการเคลื่อนไหวชาวต่างชาติทุกฝีก้าว ซึ่งตอนนั้น ผมก็เป็นชาวต่างชาติคนหนึ่งในจีน จะเดินทางภายใน 25 กม. ต้องขออนุญาตกระทรวงต่างประเทศก่อน 24 ชม. ยกเว้นไปสนามบินซึ่งห่างจากตัวเมืองปักกิ่ง 30 กม. ตอนนั้น จีนเปิดให้ชาวต่างชาติ ไปเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวเพียงแห่งเดียวคือกำแพงเมืองจีน จะซื้อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นก็ไม่ได้ ไม่มีใครขายให้ สมุดโทรศัพท์ก็ไม่มีให้

จีนในขณะนั้น เป็นแดนสนธยา ขนาดที่ว่าเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เมืองถังซัน ซึ่งอยู่ห่างจากปักกิ่ง 200 กม. คนเสียชีวิตหลายแสนคน แรงสั่นสะเทือนถึงปักกิ่งจนบ้านพัง ชาวปักกิ่งต้องออกมานอนนอกบ้าน แต่ชาวต่างชาติอย่างพวกผม เพิ่งมารู้ว่ามีแผ่นดินไหวใน 2 สัปดาห์ต่อมา พวกชาวบ้านนั้น ได้รับคำสั่งจากหน่วยจัดตั้ง ให้ปิดเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นภายใน ไม่ให้ต่างชาติรู้

จีนยุคนั้น มีการจัดตั้งองค์กร และการจัดการที่ดีมาก แต่ละถนนตรอกซอย มีหน่วยจัดตั้งคอยดูแลสอดส่อง ควบคุมกระแสข่าวต่างๆให้รู้เฉพาะภายในสมาชิกองค์กร ข้างบ้านเกิดอะไรขึ้น ก็ไม่อาจรู้ ยกตัวอย่างขนาดเหตุการณ์ใหญ่พลิกแผ่นดินอย่างการปฏิวัติโค่นล้มแก๊ง 4 คน คืนนั้นประมาณทุ่มหนึ่งผมขับจักรยานอยู่แถวจัตุรัสเทียนอันเหมิน บรรยากาศรอบๆเงียบมาก ไม่มีคนสักคน มารู้ในครึ่งชั่วโมงต่อมาเมื่อทางการออกประกาศทางโทรทัศน์ รุ่งขึ้น ก็มีประชาชน 5 แสนคนออกมาเฉลิมฉลองการปิดฉากการปฏิวัติวัฒนธรรมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน นี่คือการจัดการที่ดีมากของคอมมิวนิสต์”

พลิกอ่าน: หัวใจการปฏิรูป เปิดประเทศ




หัวใจการปฏิรูป เปิดประเทศ (改革开放 )

"ทุกคนทำงานเท่าไหร่ ก็ได้ผลตอบแทนเท่ากันหมด จนมีคำกล่าวในยุคนั้นว่า “ทำก็ได้ 33 ไม่ทำก็ได้ 33” การผลิตเกิดปัญหานิ่งไม่พัฒนา สิ่งแรกที่ผู้นำเติ้งทำ คือปรับเปลี่ยนระบบคอมมูนนี้ เพื่อสร้างแรงจูงใจ ดึงศักยภาพของคนออกมา เป็นการปลดปล่อยพลังของประเทศออกมานั่นเอง"



ในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2521 (1978) ที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เต็มคณะ ครั้งที่ 3 ของสมัชชาพรรคฯชุดที่ 11 ประกาศนโยบายปฏิรูป เปิดประเทศ โดยมีเติ้ง เสี่ยวผิง เป็นผู้นำ

        ก้าวแรก..10 ปี ลุยเปลี่ยนแปลงชนบท...สำหรับการปฏิรูป เปิดประเทศนั้น มี 2 ส่วน ตามชื่อของนโยบาย ส่วนแรกก็คือ การปฏิรูป คือการเปลี่ยนแปลงภายใน โดยเติ้ง เสี่ยวผิง ได้มุ่งไปที่ชนบท ปฏิรูปเกษตรเนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ 90 อยู่ในชนบท เห็นปัญหาในระบบคอมมูน (Commune)ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2501 (1958) คอมมูนเป็นระบบที่รวมเอานารวม (Collective Farm) ที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์จัดตั้งขึ้นในปี 2493 (1950) และครัวเรือนมาทำการผลิตร่วม ทำหน้าที่ทั้งการผลิตและรวมกิจการหลายอย่างทั้งอุตสาหกรรม การค้า การศึกษา การปกครอง เรียกว่าครอบงำชีวิตสมาชิกแทบทุกด้าน สมาชิกได้รับค่าตอบแทนในอัตราค่าจ้างตายตัวและบริการ ทุกคนทำงานเท่าไหร่ ก็ได้ผลตอบแทนเท่ากันหมด จนมีคำกล่าวในยุคนั้นว่า “ทำก็ได้ 33 ไม่ทำก็ได้ 33” การผลิตเกิดปัญหานิ่งไม่พัฒนา สิ่งแรกที่ผู้นำเติ้งทำ คือปรับเปลี่ยนระบบคอมมูนนี้ เพื่อสร้างกระตุ้นแรงจูงใจ ดึงศักยภาพของคนออกมา เป็นการปลดปล่อยพลังของประเทศออกมานั่นเอง

กระทั่งในปี 2527 (1984) จึงยกเลิกระบบคอมมูน ให้ประชาชนมีสิทธิเหนือ “ผิวดิน” โดยเปิดให้มีการ “เช่าเหมา” ที่ดินได้ ซึ่งมาจากโมเดลของฮ่องกง ชาวบ้านสามารถเช่าเหมาพื้นที่ กำหนดการผลิตของตัวเอง เช่น จะปลูกส้ม นำผลผลิตไปขายในตลาด แบ่งปันผลกำไร มีโบนัสบ้าง แทนที่จะขายให้รัฐเจ้าเดียว

แต่ปัญหาก็ยังไม่หมด เพราะการผลิตการลงทุนดังกล่าวยังขึ้นอยู่กับความสามารถแต่ละคนซึ่งก็มีข้อจำกัด ตอนนั้นรัฐไม่ได้ส่งเสริมการผลิตในภาคเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบ อย่างเช่นเทคโนโลยีการผลิต รัฐเพียงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อเกิดอุทกภัยใหญ่ บางแห่งก็อาจประสบความสำเร็จ แต่นานเข้ากำไรของเกษตรกรส่วนใหญ่ ก็ไม่เพิ่มไหร่

        เมืองเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วใน 10 ปี ต่อมา...สำหรับการปฏิรูปภายในนี้ ช่วง 10 ปีแรกนั้น มุ่งที่ชนบทเป็นหลัก หลังจากนั้น จากช่วงปี 2533 (1990) ก็หันมาพัฒนาเมือง และได้พัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีต่อมา เพราะเมืองมีข้อจำกัดน้อยกว่า ไม่มีเงื่อนไขเรื่องที่ดิน จนแซงหน้าชนบท ขณะที่ชนบทยิ่งแย่ลง นอกจากนี้ เมืองยังไปดึงดูดทรัพยากรจากชนบทเข้ามามาก คือแรงงาน คนชนบทเป็นล้านๆเข้ามาเป็นแรงงานอพยพในเมือง เป็นกลุ่มประชากรร่อนเร่ ที่ไม่ถูกกฎหมาย อันเป็นผลมาจากระบบสำมะโนครัวของจีน ทำให้คนจากต่างถิ่นไม่มีสิทธิรับสิทธิประโยชน์ใดๆจากรัฐบาลท้องถิ่นในเขตที่พวกเขาทำงานอยู่ กระทั่งแรงงานอพยพกลายเป็นปัญหาในเมือง ขณะที่ชนบทกลายเป็นเขตที่ไร้แรงงานเหลือแต่คนแก่ ที่ไม่อาจทำการผลิตสร้างผลประโยชน์อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากนี้ กลุ่มที่ทิ้งที่ดินในบ้านเกิดตัวเองไป บางรายก็ถูกโกงยึดสิทธิที่ดินไปอีก

การปฏิรูปส่วนที่สองคือ เปิดประเทศ

อาจารย์ได้อธิบายถึงเงื่อนไข ที่รองรับการเปิดประเทศจีนได้ดีระดับหนึ่ง ว่า “ระหว่างช่วง 20-30 ปี ก่อนหน้าการปฏิรูป แม้จีนเป็นประเทศเกษตรกรรม ก็มีการพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐานเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมหนักที่วางไว้ภายใต้ระบบการวางแผนแบบโซเวียต ผลิตเหล็ก เครื่องจักรกล โดยเฉพาะทางภาคเหนือ ภาคอิสาน แต่ก็มีปัญหาคืออุตสาหกรรมเหล่านี้ไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจ รัฐควบคุม และกลายเป็นส่วนที่พัฒนาช้าที่สุด ส่วนภาคใต้ก็มีอุตสาหกรรมขนาดย่อม มีโรงงานมุ่งผลิตสินค้าบริการ อุปโภคบริโภค แม้ยังล้าหลัง แต่ก็ทำหน้าที่ได้

จีนได้เปิดประเทศ โดยเริ่มกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษตามชายฝั่งภาคใต้ บริเวณลุ่มน้ำไข่มุก อนุญาตให้ทุนต่างชาติเข้าไป คือ มณฑลกว่างตง หรือกวางตุ้ง ซึ่งมีฐานธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดย่อย มุ่งผลิตสินค้าบริการ สินค้าอุปโภคบริโภค บริเวณนี้ ติดต่อกับฮ่องกง ชาวกวางตุ้งมีความสัมพันธ์ฉันท์ญาติพี่น้องกับชาวฮ่องกง พูดภาษาเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้า มีจิตใจ (mentality) เหมือนกัน มีจิตวิญญาณผู้ประกอบการ (entrepreneur) ค้าขายกันเก่งโดยสัญชาติญาณไม่ต้องรู้เรียน คนสองดินแดนนี้พูดจากันรู้เรื่อง จุดนี้ จึงพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก

ตามมาด้วยการเปิดเขตเศรษฐกิจแห่งที่สองบริเวณชายฝั่งตะวันออกแถบลุ่มน้ำแยงซีเกียง ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ หนันจิง หนิงโปในมณฑลเจ้อเจียง เจียงซู ซึ่งก็พัฒนาอย่างรวดเร็วมากเช่นกัน

สำหรับกลุ่มทุนที่เข้ามาช่วยเปิดประเทศระยะแรก และช่วยบรรลุนโยบายของเติ้ง เสี่ยวผิงนั้น เป็นทุนจากกลุ่มจีนโพ้นทะเล จากฮ่องกง ไต้หวัน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากที่อื่นๆก็มี แต่มีสัดส่วนน้อยมาก แรกๆทุนจะผ่านมาทางฮ่องกง สู่เขตเศรษฐกิจชายฝั่งภาคใต้

ส่วนทุนที่เข้ามาพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายฝั่งตะวันออก ไม่ใช่ทุนจากกลุ่มจีนโพ้นทะเลอย่างในเขตภาคใต้ แต่ก็มีทุนไต้หวันจำนวนมาก ตลาดก็ต่างกัน สำหรับตลาดของบริเวณนี้ คืออเมริกา นับได้ว่าอเมริกาเป็นโอกาสให้จีนพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทุนที่เข้ามาระยะแรกเหล่านี้ ไม่ได้มุ่งตลาดในจีน พวกเขาเข้ามาใช้ทรัพยากรในจีนผลิตเพื่อการส่งออก ที่สำคัญคือ แรงงานถูก เขตเศรษฐกิจจีนเป็นฐานอุตสาหกรรมโลว์เทคฯ ใช้แรงงานเป็นหลัก ผลิตสินค้าได้ปริมาณมาก แต่ราคาถูก ซึ่งลักษณะฐานผลิตแบบนี้เขตที่พัฒนาแล้วอย่างฮ่องกง หรือไต้หวัน ไม่ทำกัน จะโละบทบาทนี้ให้เขตกำลังพัฒนา

นโยบายเปิดประเทศทำให้จีนกลายเป็นแหล่งผลิตสินค้าบริโภคมากที่สุดในโลก ตั้งแต่รองเท้าแตะใส่ในโรงแรม ถึงจักรยานเสือภูเขา สร้างธุรกิจพันล้าน ดูดเงินตราต่างประเทศมหาศาล ที่ส่งให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างน่ามหัศจรรย์ ส่วนรัฐก็ใช้เขตเศรษฐกิจตามชายฝั่งเหล่านี้ เป็นหน้าต่างส่องดูโลกภายนอกไปด้วย

นี่เป็นรูปแบบการเปิดประเทศของจีน ที่เป็นมานับพันๆปี คือจะเปิดพื้นที่บางส่วนให้ต่างชาติเข้ามาได้ ไม่ให้ต่างชาติมาเดินเล่นทั่วไปหมด ในประวัติศาสตร์โดยทั่วไปจีนโดยเฉพาะเชื้อสายฮั่นอนุรักษ์นิยมมาก ไม่ชอบให้ใครเข้าไปยุ่งในบ้าน ...การค่อยๆเปิดประเทศของจีนนี้เอง ส่งอานิสงส์ให้จีนไม่โดนกระแสโลกาภิวัตน์ ผลกระทบจากวิกฤตโลกอย่างเต็มที่... แต่นโยบายปิดนี้ ก็มีข้อเสีย การปิดมากเกินไปในอดีต ทำให้จีนโดนอิทธิพลตะวันตกเล่นงานในยุคราชวงศ์ชิง ถูกบังคับให้เปิดเมืองท่าต่างๆ เกือบสูญเสียอธิปไตย

ผลพวงที่ตามมา และผลักรุนจีนสู่ระบบทุนอีกขั้น

เมื่อจีนเริ่มมั่งคั่งขึ้น โดยเฉพาะตามเขตเมือง ผลพวงต่างๆก็ไหลเนื่องตามมา ความต้องการขยายตัว คนจีนเริ่มอยากได้บ้านที่อยู่อาศัยที่ใหญ่ขึ้น สะดวกสบายขึ้น จากนั้นรัฐบาลปรับระเบียบกฎหมาย อนุญาตให้ต่างชาติมาพัฒนาในเรื่องที่อยู่อาศัย

8-9 ปีก่อน รัฐเพิ่มเงินเดือนให้ลูกจ้างรัฐ และเริ่มผลักภาระบ้านที่อยู่อาศัยให้คนในเมือง รับผิดชอบค่าเช่าเอง แต่แล้วในที่สุด คนเมืองก็มาเผชิญปัญหาคล้ายคนในชนบท คือสิทธิเหนือทรัพย์สินอย่างบ้านที่เขารับผิดชอบเช่าเองนี้ เป็นของใคร? เพราะที่ดินเป็นของรัฐ ปัญหานี้เป็นมาหลายปี กว่าที่จะแก้ปัญหาโดยออกระเบียบกฎหมายมารับรองสิทธิทรัพย์สินเหนือผิวดินนั้น สามารถถ่ายโอนสิทธิดังกล่าวได้ จีนต้องค่อยๆเปลี่ยนไม่พลิกผันไปเป็นทุนนิยมมาก เพื่อรักษาจุดยืนที่ยืนยันมาในตอนประกาศการปฏิรูปคือ “เปลี่ยนระบบ แต่ไม่เปลี่ยนระบอบ”

ขณะเดียวกันเมืองก็เปลี่ยนเป็นตลาดมากขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐออกมาค้าขายเล็กๆน้อยๆ ขยายธุรกิจไปเรื่อย จนกลายเป็นธุรกิจใหญ่ ...จะสังเกตได้ว่าปรากฎการณ์ต่างๆในวิถีของทุนนิยมนั้น เกิดขึ้นและขยายตัวไปเองเป็นเวลานานนับ 10 ปีโดยที่ยังไม่มีกฎหมายรับรอง จนเกิดปัญหาขึ้นมาอย่างเช่นเจ้าหน้าที่คอรัปชั่นจากช่องโหว่เหล่านี้ พอปัญหาผุดขึ้นมาจนเป็นเรื่องใหญ่โต รัฐบาลจึงต้องหันมาพิจารณากฎหมายรับรอง...

ระบบทุนกลไกตลาดขยายตัวไปอีก มีบริษัทมากมายผุดขึ้น บางคนก้าวไปเป็นนายทุนซื้อบ้านหลายหลัง การพัฒนาไปเร็วมาก จนพวกบริษัทต้องระดมทุนเพิ่มเพื่อขยายกิจการ มาถึงจุดนี้ จึงมีการเปิดตลาดหลักทรัพย์ เริ่มจากที่ฮ่องกง ให้กลุ่มบริษัทจีนเข้าตลาดระดมทุนจากประชาชน ต่อมาก็เปิดตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ (ปี2533) ตามด้วยตลาดเซินเจิ้นในเดือนถัดมา ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมาก

“คนเข้าแถวจองใบหุ้นโดยที่ไม่รู้เลยว่าตลาดหลักทรัพย์คืออะไร ตลาดหุ้นเฟื่องฟูมากตั้งแต่ 4-5 ปี ผมไปจีนช่วงนั้น เคยถามรายได้คนขับแท็กซี่ในเซี่ยงไฮ้ที่เล่นหุ้น มีรายได้ถึง 2 หมื่นหยวนต่อเดือน ขณะที่มีรายได้จากการขับแท็กซี่ 4,000-5,000 หยวนต่อเดือน ตอนนั้น ต่างประเทศยังเข้าตลาดไม่ได้ เพราะข้อจำกัดทางหลักทฤษฎีปกครองประเทศ จีนยังต้องรักษาระบอบสังคมนิยม ขืนเปลี่ยน 180 องศา ก็อาจมีกระแสต่อต้านแรง “ศพเหมา คงหมุนติ้วไม่รู้กี่รอบ””

พลิกอ่าน: การปฏิรูป มีอุปสรรค์อะไรบ้าง?

การปฏิรูป มีอุปสรรค์อะไรบ้าง?

"นักคอมมิวนิสต์อย่างเติ้งพลิกกรอบความคิดผู้นำคอมมิวนิสต์สมัยก่อน โดยกล่าว (ปี 2535)* ว่า “ผิดหรือที่ร่ำรวย” ซึ่งสมัยก่อนคอมมิวนิสต์ซ้ายจัดถือว่าเป็นคำหยาบ กลุ่มหัวเก่ายืนกรานทุกคนต้องเสมอภาค แต่เติ้งเป็นนักปฏิบัติที่ยึดถือแนวทางปฏิบัติได้จริง (practical) โต้แย้งว่าเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะร่ำรวยขึ้นมาพร้อมกัน คนกลุ่มหนึ่งต้องร่ำรวยก่อน เพื่อที่จะมาช่วยกลุ่มที่ยังไม่ร่ำรวย"

กระแสต้านจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม การปฏิรูป เปิดประเทศในจีน ก็ผจญกระแสต่อต้านเช่นกันจากกลุ่มหัวเก่าที่ปรับตัวไม่ได้ กลุ่มนักอุดมการณ์ พวกเสียผลประโยชน์ เมื่อ 20 ปีที่แล้วกระแสต่อต้านเหล่านี้สูงมาก แต่ตอนนี้ น้อยลงมากแล้ว

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการปฏิรูปของจีนคือ อัดฉีดแรงจูงใจ (intensive)ให้แก่ประชาชน สร้างความมั่งคั่งแก่ประเทศ นักคอมมิวนิสต์อย่างเติ้งพลิกกรอบความคิดผู้นำคอมมิวนิสต์สมัยก่อน โดยกล่าว (ปี 2535)* ว่า “ผิดหรือที่ร่ำรวย” ซึ่งสมัยก่อนคอมมิวนิสต์ซ้ายจัดถือว่าเป็นคำหยาบ กลุ่มหัวเก่ายืนกรานทุกคนต้องเสมอภาค แต่เติ้งเป็นนักปฏิบัติที่ยึดถือแนวทางปฏิบัติได้จริง (practical) โต้แย้งว่าเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะร่ำรวยขึ้นมาพร้อมกัน คนกลุ่มหนึ่งต้องร่ำรวยก่อน เพื่อที่จะมาช่วยกลุ่มที่ยังไม่ร่ำรวย

* ช่วงปี พ.ศ. 2535 หรือ ค.ศ. 1992 เป็นช่วงที่กลุ่มปฏิรูปเผชิญหน้าแรงต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม โดยผู้นำคอมมิวนิสต์หัวเก่ากล่าวโทษว่าเป็นเพราะการปฏิรูป เปิดประเทศ ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องประชาธิปไตย เสรีภาพการเมือง จนเกิดเหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างนองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ปี 1989

เติ้งก็เห็นปัญหาต่างๆระหว่างการปฏิรูป ทั้งความแตกต่างในสังคม แต่ก็ยืนยันหลักการอย่างค่อยเป็นค่อยไป และปรัชญาให้คนกลุ่มหนึ่งรวยก่อนเพื่อกระตุ้นให้คนอื่นๆเห็นว่า ยังมีโอกาสมากมายที่รอให้พวกเขาไปเข้าแสวงหาประโยชน์ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มณฑลท้องถิ่นที่พัฒนาแล้ว ช่วยเหลือเขตที่ยังไม่พัฒนา เป็นวิธีพยายามไกล่เกลี่ยช่องว่างหรือความแตกต่างในสังคม เป็นกระบวนการที่รัฐค่อยๆผลักดันไปซึ่งต้องอาศัยเวลา

รับมือกระแสโลกาภิวัตน์ ปฏิรูปชนบทรอบสอง

ขณะที่รัฐค่อยๆเปิดโอกาสให้คนในเมืองพัฒนาขีดความสามารถทางธุรกิจ จนเมืองก้าวไปไกลมาก หันมามองที่เขตชนบทที่แย่ลงๆ จะทำไง? จะพัฒนาการผลิตของกินอย่างไร? แต่ในสภาพที่เป็นอยู่ในตอนนั้น มันทำอะไรไม่ได้ จะนำเข้าหรือ? ในที่สุด ก็ได้คำตอบว่า ต้องหันมาพัฒนาเกษตรกรรม

ประจวบเหมาะกับที่กระแสโลกาภิวัตน์เข้าสู่จีน ขณะที่อเมริกาอาศัยเทคโนโลยีสูง ทำการเกษตรขนาดใหญ่ ได้ผลผลิตปริมาณมหาศาลด้วยต้นทุนต่ำทำสินค้าราคาถูกไปขายทั่วโลก ทั้งยังใช้วิธีการตลาดแบบปูพรม เรียกร้องการเปิดเขตเสรีในที่ต่างๆทั่วโลก สินค้าเกษตรอเมริกันราคาถูกกว่าแม้รวมค่าขนส่งในระยะทางไกลแล้วก็ตาม

บรรษัทค้าปลีกข้ามชาติอย่างเทสโก โลตัส, คาร์ฟูร์ เริ่มเข้าไปเจาะตลาดจีน แรกๆ ก็ขายไม่ออก เพราะจีนไม่นิยมกินไก่ขาวของอเมริกัน ชอบกินแต่ไก่พื้นบ้านสีเหลือง แต่ในที่สุด ชีวิตสังคมก็เปลี่ยนไป ตลาดสดหายไป ซุปเปอร์มาร์เก็ตผุดขึ้นแทนที่ นิสัยการบริโภคก็เปลี่ยนไปด้วย กระทั่งปัจจุบัน คนจีนหันมากินไก่ขาวกัน

...โลกาภิวัตน์ทำให้ไก่อะลาบามา มาถึงโต๊ะอาหารในคุนหมิงได้ในเวลา 10 วัน กระแสนี้น่ากลัวมาก ถ้าจีนไม่พัฒนา ก็จะเสียเปรียบแน่นอน อเมริกามีเกษตรกร เพียง 1 ล้านคน แต่มีพลังการผลิตขนาดใหญ่ สามารถป้อนตลาดชนบทจีน กว่า 800 ล้านคนได้อย่างสบายๆ ใครเสียเปรียบล่ะ? นี่เป็นแรงกดดันให้จีนต้องหันมาปฏิรูปชนบทอีกครั้ง...

โดยลำดับแรก ต้องปฏิรูปที่ดินอีกครั้ง แปลงที่ดินเป็นทุน และอย่างถูกกฎหมายด้วย ซึ่งในการปฎิรูปครั้งแรก จีนได้ใช้ระบบ “เช่าเหมา ขายสิทธิผิวดิน”เพื่อสร้างแรงจูงใจในการผลิต แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งก็เป็นช่องโหว่ให้เกิดปัญหาอย่างเช่นข้อพิพาทสิทธิการใช้ที่ดินระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนอยู่เนืองๆ ดังนั้น รัฐจึงต้องหันมาพิจารณากฎหมายรับรองสิทธิการใช้ดิน อนุญาตให้เกษตรกรสามารถซื้อขาย “สิทธิการใช้ที่ดิน” ของตน

*(พรรคคอมมิวนิสต์จีน ผ่านร่างกฎหมายรับรองสิทธิการซื้อขาย จำนองสิทธิการใช้ที่ดินแก่เกษตรกร ในเดือนตุลาคม ปี 2551)

การกลับมาปฏิรูปชนบทอีกครั้งนั้น เริ่มมาตั้งแต่เมื่อราว 7 ปีที่แล้ว คราวนี้รัฐบาลจีนออกนโยบาย “สามเกษตร” ที่จีนเรียก “ซันหนง” (三农) หมายถึง เกษตรกร เกษตรกรรม หมู่บ้านเกษตรกร โดยลำดับแรกมุ่งพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ รายได้เกษตรกร, สองคือพัฒนาหมู่บ้านเกษตรกร ได้แก่การพัฒนาด้านแฮร์แวร์ มีโรงพยาบาล น้ำประปา ไฟฟ้า และการพัฒนาด้านซอฟแวร์ ได้แก่บริการการแพทย์ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม, และสามก็คือเกษตรกรรม ซึ่งมุ่งไปที่พัฒนาเทคโนโลยีการผลิต

จีนกำลังหันมาพัฒนาการผลิต นำเทคโนโลยีเข้ามา ทำการเกษตรขนาดใหญ่ ซึ่งต้องอาศัยพื้นที่ขนาดใหญ่ ต้องรวมที่ดินกันสำหรับอุตสาหกรรมเกษตรอย่างเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู จากที่เคยเลี้ยง 100 ตัว เพิ่มเป็นล้านตัว ต้องใช้พื้นที่ 200-300 ไร่ ซึ่งเกษตรกรกลุ่มเล็กทำเองไม่ได้ ต้องให้คนอื่นมาช่วยทำ ตอนนี้ชาวบ้านได้สิทธิการซื้อขายสิทธิการใช้ที่ดินตามกฎหมายแล้ว รัฐก็ส่งเสริมชาวบ้านมาเซ็นสัญญาขายสิทธิการใช้ที่ดินให้บริษัทต่างชาติทำการผลิตทางเกษตรขนาดใหญ่ โดยรัฐบาลท้องถิ่นเป็นตัวกลาง ช่วยเกษตรกรต่อรองราคาที่ดิน ส่วนชนบทก็ได้อุตสาหกรรมที่ทันสมัย

ขณะเดียวกัน จีนก็สร้างเขตเมืองใหม่รอบชนบทนั้น ห่างออกไปราว 5 กม. เพื่อรองรับเกษตรกร ที่ขายสิทธิการใช้ที่ดินให้แก่บริษัทที่เข้ามาอุตสาหกรรมเกษตร ไม่ใช่ปล่อยให้คนอยู่กระจัดกระจายไปถึงเขตเมืองที่ไกลออกไปอย่างเซี่ยงไฮ้ สร้างปัญหาเมืองขึ้นมาอีกอย่างที่กล่าวมา ชาวชนบทที่ย้ายไปยังเขตเมืองใหม่เหล่านี้ อาจทำธุรกิจเล็กๆน้อยๆ เช่น เปิดบริษัทขนส่งหมู หรือจะเป็นลูกจ้างฟาร์มหมู กลางวันทำงานที่ฟาร์ม กลางคืนก็มานอนบ้าน

พลิกอ่าน: จีนโดนผลกระทบวิกฤตโลกสาหัสแค่ไหน?

จีนจะโดนผลกระทบวิกฤตโลกสาหัสแค่ไหน?

“จีนจะแย่ไหม จากวิกฤตครั้งนี้ จีนไม่กลัว เชื่อมั่นว่าจะรอดไปได้ วิกฤตเค้าผจญมาเยอะ เงินฝืด เงินเฟ้อ ก็เจอมาหมด เค้าเคยแย่กว่านี้อีก ยังรอดมาได้ ในประวัติศาสตร์ถูกต่างชาติย่ำยีมาร้อยกว่าปี ตอนนี้ ก็ลุกขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับสามของโลก อีก 20-30 ปี จะใหญ่ที่สุด จะมาล่มสลายตอนนี้ เป็นไปไม่ได้

แน่นอน ปัญหาภายในประเทศมหาศาล ประชากรตั้ง 1,400 ล้านคน การปกครองก็ยังเผด็จการอยู่ แต่ผู้นำระดับสูงสุดเค้าก็ตรงไปตรงมา ไม่คอรัปชั่น เป็นตัวอย่างให้ประชาชนยอมรับได้ กำหนดนโยบายเป็นที่ยอมรับ ”


อเมริกาเป็นตลาดใหญ่ที่ทำให้ยุทธศาสตร์ส่งออกของจีนประสบความสำเร็จ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวด้วยเลขสองหลักในช่วงที่ผ่านมา เมื่อเกิดปัญหาซับไพรม์ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือเขตเศรษฐกิจแถบแม่น้ำมุก ซึ่งเป็นแหล่ง “โรงงานโลก” ปิดโรงงานกันระนาว เป็นหมื่นๆราย เนื่องจากการส่งออกหดตัว

อย่างไรก็ตาม 20 ปีที่ผ่านมา จีนสะสมทุนสำรองไว้มาก จากยอดได้เปรียบดุลการค้า การลงทุนจากต่างประเทศหรือ เอฟดีไอ ซึ่งไหลเข้ามาในแต่ละปีถึง 6-7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ จีนมีเอฟดีไอมากที่สุดในโลก จึงมีสภาพคล่องสูงมาก เมื่ออเมริกาเพลี่ยงพล้ำ จีนต้องเอาเงินไปช่วยค้ำ จนจีนเป็นเจ้าหนี้ระยะสั้นรายใหญ่สุดของอเมริกา มูลค่า 5 แสนกว่าล้านเหรียญสหรัฐฯ แซงญี่ปุ่นเมื่อเดือนที่แล้ว ทุนสำรองนี้ มีส่วนช่วยจีนมากแม้เจอปัญหาส่งออก

ที่น่าห่วงคือตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ผ่านมา จีดีพีจีนโตด้วยตัวเลขสองหลักมาตลอด ตอนนี้ชะลอตัวลง มีการคาดการณ์แล้วว่า เศรษฐกิจจีนจะชะลอลงที่ร้อยละ 7.5 ซึ่งไม่พอ จีนจะต้องหาทางขยายตัวเลขนี้ ไปถึงร้อยละ 9 ในสภาพที่ตลาดโลกหดตัวเช่นนี้ ก็ต้องหันมากระตุ้นการบริโภคภายใน จีนกำหนดแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 5แสนกว่าล้านเหรียญเช่นกัน ภายใน 2 ปี จีนจะพยายามกระตุ้นจีดีพี ให้สูงถึงระดับ “ร้อยละ 9 +” ไม่ใช่ “9-“ ซึ่งคนทั่วไปไม่คิดว่าจะเป็นไปได้

ปัญหาท้าทาย ที่จีนต้องฝ่าฟันให้ได้

1) รัฐบาลจะทำอย่างไร? ให้เศรษฐกิจโตอย่างต่ำร้อยละ 8

2) บริษัทจะทำอย่างไร เพื่อหาสินเชื่อมาขยายธุรกิจ เมื่อสินเชื่อหด เงินทุนหด ตลาดหด กลุ่มธนาคารต่างก็คิดหนักในการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น ปีหน้า บริษัทจะขาดแคลนสินเชื่อ และต้องสเกลดาวน์ธุรกิจ ลดการผลิต ลดการจ้างงาน ปัญหาคือบริษัทจะบริหารเงินสดหมุนเวียนอย่างไร เพราะถ้าขาด cash flow แล้ว ไม่ว่าบริษัทใหญ่ขนาดไหน ก็ต้องล้ม

ทั้งบริษัทรัฐและบริษัททั่วไป ก็ต้องยอมรับสภาพว่า กำไรต้องหดลงแน่นอน สำหรับตัวบุคคลรายได้ก็หดลงด้วย ตลาดหุ้นตก สรุปแล้วมันกระทบถึงกันไปหมด แล้วเกษตรกรจะทำอย่างไร รายได้ที่รัฐคาดหวัง ที่จะมาพัฒนาในชนบท กลับไม่มี ดังนั้น ทุกคนต่างแย่กันทั่วหน้า มันเป็นจังหวะที่ไม่ดีมากโดยเฉพาะการขยายธุรกิจ ทุกคนต่างก็คิดถือเงินสดในมือ

อย่างไรก็ตาม จีนโดนผลกระทบวิกฤตโลกครั้งนี้น้อยเพราะสัดส่วนพึ่งพาส่งออกลดลงเรื่อยๆจนเหลือร้อยละ 20 และหันไปเพิ่มอุปทานภายใน เทียบกับของไทยเราแล้ว ยังพึ่งการส่งออกถึง ร้อยละ 50-60

ที่สำคัญ จีนยังมีอุปสงค์ภายในที่ยังไม่ได้พัฒนา ยังมีศักยภาพอยู่สูง เพียงแต่จีนต้องจัดการนโยบายให้ดี โอกาสตอนนี้อยู่ที่ภาคเกษตร การบริโภคหมูของจีนเป็นครึ่งหนึ่งของโลก การผลิตก็เป็นครึ่งหนึ่งของการผลิตโลก แต่การผลิตด้านเกษตรยังล้าหลังอยู่

ตอนนี้ คนจีนตกงาน แต่สภาพการตกงานจีนไม่เหมือนอเมริกา ยังน้อยกว่า เมื่อแรงงานอพยพพากันกลับบ้าน จีนก็มีนโยบายปฏิรูปชนบทรองรับอยู่ โดยสร้าง “ชนบทใหม่” ขึ้นมา

แต่ในความจริง ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างสวยงามหรอก มีการต่อต้าน การเอารัดเอาเปรียบ ที่ดินตกเป็นของผู้มีอิทธิพล อย่างไรก็ตามอย่างน้อยขณะนี้ รัฐบาลก็ต้องสร้างระบบที่สามารถควบคุมดูแล ให้เกิดความโปร่งใส ออกกฎหมายรับรองการซื้อขายสิทธิเหนือที่ดินให้ชัดเจน

อีกจุดที่น่าสนใจสำหรับการพัฒนาของจีน นโยบายปรับคนเพื่อไปอยู่และทำงานในชนบท ผู้นำได้ดำเนินการอบรมเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นใหม่หมด เอาหลักสูตรใหม่ “สามเกษตร”ไปสอน โดยมีเป้าหมายอบรมเจ้าหน้าที่ 10 ล้านคน โดยประเดิมการอบรมรุ่นแรก 1 แสนคนแล้ว นี่เป็นระบบที่ดีมากของจีน เมื่อออกนโยบายแล้ว แล้วก็ลงสู่ระดับล่าง สร้างความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ เพื่อให้การบริหาร เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

การเปลี่ยนแปลง 30 ปี ที่ผ่านมา เติ้ง เสี่ยวผิงเป็นผู้ผลักดันการปฏิรูป ภายใต้แนวคิด “ไม่ว่าแมวขาว หรือแมวดำ ไม่สำคัญ เพียงจับหนูได้ก็พอ” สร้างประเทศชาติให้เข้มแข็งด้วยเศรษฐกิจ พัฒนาความทันสมัยสี่ประการ ภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม วิทยาศาสตร์ และการป้องกันประเทศ จีนเรียนรู้มากจากประสบการณ์ทั้งหมดนี้ และก็จะนำไปสร้างนโยบายสำหรับพัฒนาประเทศอีก 30 ปีข้างหน้า

“จีนจะแย่ไหม จากวิกฤตครั้งนี้ จีนไม่กลัว เชื่อมั่นว่าจะรอดไปได้ วิกฤตเค้าผจญมาเยอะ เงินฝืด เงินเฟ้อ ก็เจอมาหมด เค้าเคยแย่กว่านี้อีก ยังรอดมาได้ ในประวัติศาสตร์ถูกต่างชาติย่ำยีมาร้อยกว่าปี ตอนนี้ ก็ลุกขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับสามของโลก อีก 20-30 ปี จะใหญ่ที่สุด จะมาล่มสลายตอนนี้ เป็นไปไม่ได้

แน่นอน ปัญหาภายในประเทศมหาศาล ประชากรตั้ง 1,400 ล้านคน การปกครองก็ยังเผด็จการอยู่ แต่ผู้นำระดับสูงสุดเค้าก็ตรงไปตรงมา ไม่คอรัปชั่น เป็นตัวอย่างให้ประชาชนยอมรับได้ กำหนดนโยบายเป็นที่ยอมรับ ”

"มุมจีน" ได้ตบท้ายการสัมภาษณ์ด้วยคำถามความเห็นเกี่ยวกับกระแสโจมตีด้านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนจีน ?

“รัฐบาลยอมรับการเปิดกว้างมากขึ้นตามสถานการณ์ เมื่อก่อนการประท้วงเป็นไปไม่ได้เลย ปัจจุบัน รัฐก็ปรับตัวให้มีการประท้วงได้ จัดโซนประท้วงให้ ไฟเขียวเสนอข่าวประท้วง ต่างจากเมื่อก่อนที่สิ่งเหล่านี้เป็นไปไม่ได้เลย สังคมอินเทอร์เน็ตขยายการรับรู้ข่าวสาร การพูดการแสดงความเห็นของประชาชนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

สำหรับกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย คุณเลือกเอาสิ ในสภาพเงื่อนไขที่จำกัดของประเทศ ประเทศกำลังพัฒนาแตกต่างจากประเทศต้นแบบประชาธิปไตยที่พัฒนากันมา 100 ปี ระดับการพัฒนาไม่เหมือนกัน ช่วงเวลาไม่เหมือนกัน เราจะต้องการแบบเขาหรือเปล่า สำหรับยุโรป อมริกาบรรลุวุฒิภาวะแล้ว เขาบริโภคน้อยลง เติบโตแค่ ร้อยละ 2-3 ก็พอแล้ว แต่สำหรับจีนไม่ได้ ประชาชนมหาศาล ต้องขยายการเติบโตถึง ร้อยละ 8-9

...จีนมีเงื่อนไขแตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศพึ่งพ้นจากยุคที่ถูกปลอกลอกมาร้อยปี จะใช้มาตรฐานเดียวกันได้หรือเปล่า พึ่งเข้าดับเบิลยูทีโอ ไม่กี่ปีมานี้ จู่ๆมาเปิดเสรีการเมืองประชาธิปไตย อาจกระทบต่อลำดับก่อนหลังของความจำเป็นในชีวิต รัฐบาลต้องจัดการให้ประชาชนมีกินกันก่อน ให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นก่อน...

เติ้ง เสี่ยวผิงบอกว่าอย่างน้อยใน 10 ปี ให้ประชาชนมีพอกิน ซึ่งก็ผ่านมาแล้ว ต่อมาก็มีพอเพียงได้ไหม ต่อไป ก็เป็นเศรษฐีน้อยได้ไหม กว่าจะเป็นเศรษฐีใหญ่อย่างอเมริกา ก็ต้องใช้เวลาอีก 50 ปี”.
กำลังโหลดความคิดเห็น