xs
xsm
sm
md
lg

สุดยอดสถาปัตยกรรมแห่ง 3 ทศวรรษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังจากจีนตัดสินใจเปิดประเทศ ปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม มาถึงปีนี้นับเป็นปีที่ 30 แล้ว ช่วงเวลา 3 ทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจและสังคมจีนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยรัฐบาลมังกรพยายามพลิกโฉมประเทศให้ก้าวสู่ความทันสมัย ทัดเทียมกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ส่วนหนึ่งที่แสดงออกถึงความพยายามไปสู่เป้าหมายนั้นของจีนได้เป็นอย่างดีก็คือสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่มีรูปร่างแปลกใหม่ ล้ำสมัย และเป็นเอกลักษณ์อย่างยิ่ง
โรงแรมเซี่ยงไฮ้
โรงแรมเซี่ยงไฮ้ สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 1983 ออกแบบโดยหวัง ติ้งเฉิง หลังจากจีนเปิดประเทศแล้ว นักวิศวกรจีนก็มีโอกาสได้ออกไปเห็นความสำเร็จในการออกแบบ เทคนิก วัสดุอุปกรณ์ และวิทยาการของต่างชาติ แล้วได้นำเอาความรู้เหล่านั้นกลับมาพัฒนาการออกแบบการก่อสร้างตึกรามบ้านช่องในประเทศ โดยจะเริ่มเห็นตึกขนาดสูงเริ่มผุดขึ้นในเมืองปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว รวมทั้งในเขตเศรษฐกิจและเมืองใหญ่
ตึกศูนย์การค้านานาชาติเซินเจิ้น
ตึกศูนย์การค้านานาชาติเซินเจิ้น (深圳国际贸易中心大厦) สร้างเสร็จเมื่อปี 1986 มีความสูง 160 เมตร ซึ่งเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศจีนขณะนั้น
หอไข่มุก
หอไข่มุก ตั้งอยู่ในเขตผู่ตงของเซี่ยงไฮ้ ถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของมหานครเซี่ยงไฮ้ก็ว่าได้ โดยหอไข่มุกนี้เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 1990 และสร้างแล้วเสร็จในปี 1994 ใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 830 ล้านหยวน ใช้เป็นสถานที่กระจายสัญญาณของสถานีโทรทัศน์เมืองเซี่ยงไฮ้และยังเป็นหอชมวิวทิวทัศน์ที่เลื่องชื่อของเมือง โดยหอคอยแห่งนี้มีความสูงถึง 468 เมตร ซึ่งในอดีตหอไข่มุกเคยเป็นสถาปัตยกรรมที่สูงที่สุดของเมืองเซี่ยงไฮ้ แต่ปัจจุบันโดนตึก SWFA ซึ่งมีความสูง 492 เมตรล้มแชมป์ไปเรียบร้อยแล้ว
ตึกตี้หวังของเซินเจิ้น
ตึกตี้หวังของเมืองเซินเจิ้น มณฑลกว่างตง มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ซิ่นซิ่ง สแควร์” แต่ที่เรียกว่าตึก “ตี้หวัง” หรือ “ราชาที่ดิน” นั้น เป็นเพราะว่าเมื่อตอนที่ประมูลที่ดินในการสร้างตึกซิ่นซิ่งนี้ได้มีการประมูลในราคาสูงที่สุด ณ ตอนนั้น จึงได้ถูกเรียกว่าตึก “ราชาที่ดิน” โดยตึกตี้หวังนั้นก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 1996 มีทั้งสิ้น 69 ชั้น มีความสูงโดยรวม 383.95 เมตร ชั้นบนสุดของตึกตี้หวังยังได้ชื่อว่าเป็น “หน้าต่างของเซินเจิ้นและฮ่องกง” เพราะความที่เป็นตึกสูง จึงทำให้นักท่องเที่ยวสามารถยืนชมทัศนียภาพของเมืองเซินเจิ้นและเมืองฮ่องกงที่อยู่ใกล้เคียงได้
ตึกเซี่ยงไฮ้ เวิลด์ ไฟแนนเชี่ยล เซนเตอร์
ตึกเซี่ยงไฮ้ เวิลด์ ไฟแนนเชี่ยล เซนเตอร์ (Shanghai World Financial Center-SWFC) หรือ “上海环球金融中心” เป็นตึกสูง 492 เมตร มีทั้งสิ้น 101 ชั้น สร้างขึ้นบนพื้นที่ 381,600 ตารางเมตรในเขตผู่ตงของมหานครเซี่ยงไฮ้ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีโมริ มิโนรุ นักพัฒนาที่ดินชาวญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนและพัฒนาที่ดิน ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 14 กว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้ ภายในตัวอาคารมีทั้งโรงแรม ร้านค้า และโถงสำหรับชมวิว ซึ่งมีความสูงใกล้เคียงกับโถงชมวิวสกายพอดของอาคารซีเอ็น ทาวเวอร์ ในเมืองโตรอนโตของแคนาดา ที่มีความสูง 447 เมตร
โรงละครไข่ยักษ์
โรงละครไข่ยักษ์ (National Theatre) เป็นศูนย์แสดงศิลปะการแสดงประกอบด้วย เวทีแสดงโอเปร่า ดนตรี ละคร ห้องโถงจัดแสดงงานศิลปะ และร้านขายวีซีดี/ดีวีดีเพลงและการแสดงต่างๆ ตั้งอยู่ใกล้กับจัตุรัสเทียนอันเหมิน บนเนื้อที่ 118,900 ตารางเมตรในเมืองปักกิ่ง เริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2001 แล้วเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2007 เป็นผลงานการออกแบบของสถาปนิกชาวฝรั่งเศสชื่อ พอล แอนดริว โดยเขาเลือกออกแบบโรงละครเป็นรูปไข่ก็เพราะว่าไข่เป็นสัญลักษณ์ของการกลับมาเกิดใหม่ ตัวอาคารถูกออกแบบให้มีสีเงิน ตั้งอยู่กลางสระน้ำกว้าง ภายนอกอาคารหรือส่วนที่เป็นเปลือกไข่นั้นทำจากโลหะไททาเนียม 20,000 แผ่นและกระจก ภายในรอบโรงละครยังมีกำแพงกระจกเคลือบสีทองกึ่งโปร่งใส
สนามกีฬารังนก (National Stadium)
สนามกีฬาแห่งชาติ หรือ รังนก (Bird Nest) ตั้งอยู่ในเขตสนามแข่งขันโอลิมปิก (Olympic Green) ของปักกิ่ง เป็นทั้งสถานที่จัดการแข่งขันกรีฑา การแข่งขันฟุตบอลและยังเป็นที่จัดพิธีเปิดและปิดกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 29 เริ่มลงเสาก่อสร้างเมื่อปี 2004 บนพื้นที่ทั้งหมด 258,000 ตารางเมตร ออกแบบโดยบริษัท Herzog and De Meuron Architekten AG แห่งสวิสเซอร์แลนด์ ผู้ชนะรางวัลสถาปนิกโลก Pritzker Prize, บริษัท China Architecture Design Institute และบริษัท Ove Arup ของออสเตรเลีย โดยได้ไอเดียจากช่องหน้าต่างโบราณของจีนและลวดลายของเครื่องเคลือบกังไส รังนกเป็นผลงานการออกแบบร่วมระหว่าง

ตัวอาคารด้านนอกออกแบบโดยใช้เหล็กดิบสีเทาสานกันไปมาเสมือนกิ่งไม้ถักทอประสานกันจนกลายเป็นรังนก ไม่มีผนังปิดทึบ ทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก นับเป็นสนามกีฬาที่ใช้เหล็กเป็นส่วนประกอบมากที่สุด ก่อสร้างยากที่สุด และมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้อาคารยัง
ศูนย์กีฬาทางน้ำลูกบาศก์น้ำ (Water Cube)
สนามกีฬาทางน้ำ หรือลูกบาศก์น้ำ (Water Cube) ใช้เป็นสถานที่แข่งกีฬาทางน้ำต่างๆ ในการแข่งขันโอลิมปิกปักกิ่ง ทั้งว่ายน้ำ กระโดดน้ำ และระบำใต้น้ำ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2003 และแล้วเสร็จในปี 2008 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างสูงถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 50,000 ตารางเมตร รองรับผู้ชมได้ 17,000 ที่นั่ง

ตัวอาคารด้านนอกมีลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยบริษัท China Construction Design International (CCDI) ร่วมกับบริษัท PTW Architects และ Ove Arup ของออสเตรเลีย ได้ออกแบบผนังอาคารด้านนอกให้เป็นรูปฟองสบู่โดยใช้เยื่อหุ้มพลาสติกโปร่งใสทำจากเทฟลอนชนิด ETFE ซึ่งมีน้ำหนักเบาแต่มีความแข็งแกร่งคงทนมาก อีกทั้งยังช่วยดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงฤดูหนาวและสะท้อนพลังงานแสงอาทิตย์ออกในฤดูร้อน จึงช่วยให้อุณหภูมิภายในตัวอาคารเย็นสบายและยอมให้แสงธรรมชาติผ่านเข้ามาได้ถึงร้อยละ 90
ตึกสำนักงานใหม่สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศจีน (ซีซีทีวี)
ตึกซีซีทีวีใหม่เป็นแหล่งรวมทุกขั้นตอนการผลิตรายการข่าวและโทรทัศน์ไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายธุรการ ฝ่ายข่าว ฝ่ายธุรกิจ ห้องส่งกระจายสัญญาณ และฝ่ายผลิตรายการ รูปทรงตึกดูคล้ายตัว L คว่ำ 2 ตัวพิงกันอยู่บนฐานเดียวกัน ตัวตึกมีความสูงถึง 234 เมตร มี 52 ชั้น ไม่รวมชั้นใต้ดินอีก 3 ชั้น บนพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดประมาณ 380,000 ตารางเมตร เป็นผลงานการออกแบบของเรม คูลฮาซ จากบริษัทออกแบบ OMA (the Office for Metropolitan Architecture) โดยมีบริษัท Ove Arup รับผิดชอบด้านวิศวกรรม เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2004 ด้วยงบประมาณสูงถึง 5,000 ล้านหยวน ตั้งอยู่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจ(CBD) บนถนนตงซันหวน เขตเฉาหยางของปักกิ่ง ซึ่งมีตึกสูงระฟ้ากระจุกตัวอยู่กว่า 300 ตึก
เทอร์มินอล3 ของสนามบินนานาชาติปักกิ่ง
อาคารเทอร์มินอล3 ของสนามบินนานาชาติเมืองปักกิ่ง เพิ่งสร้างแล้วเสร็จเมื่อต้นปี 2008 โดยจีนทุ่มทุนมหาศาล 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสร้างอาคารดังกล่าวเพื่อรองรับผู้โดยสารที่เดินทางมาปักกิ่งจำนวนมหาศาลในช่วงมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ออกแบบโดยบริษัทบริติช อาร์ชซิเทค นอร์แมน โฟสเตอร์ มีพื้นที่ใช้สอยทั้งสิ้น 986,000 ตารางเมตร ขยายศักยภาพสนามบินนานาชาตินครหลวงปักกิ่งให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 43 ล้านคนต่อปี


กำลังโหลดความคิดเห็น