เอเอฟพี – จากแรงงานคนหนึ่ง ก้าวสู่นักธุรกิจหญิงและนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ อัน จื่อหญิงชาวจีนที่ประกอบอาชีพในเซินเจิ้น หมู่บ้านชาวประมงเล็กๆทางตอนใต้ของจีนที่เติบโตและเบ่งบานภายในระยะเวลา 30 ปี
ในปี 1984 อัน จื่อเป็นเพียงหญิงสาวธรรมดาคนหนึ่ง ทว่าชีวิตของเธอกลับเปลี่ยนไป เมื่อได้พบกับญาติผู้หนึ่งที่กลับสู่บ้านเกิดหลังเข้าไปทำงานในโรงงานผลิตโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ที่เมืองเซินเจิ้น
“เมื่อฉันมองไปยังเธอ ฉันก็สังเกตเห็นรูปร่างและการแต่งเนื้อแต่งตัวที่ดูสวยงามขึ้น รวมถึงความคิดความอ่านทุกสิ่ง ในตัวเธอก็เปลี่ยนไป” อันกล่าวถึง แรงบันดาลใจที่ทำให้เธอตัดสินใจทิ้งบ้านเกิดและมุ่งหน้าสู่กวางตุ้ง
“ ตอนนั้นถือว่าฉันเป็นแรงงานรุ่นแรกที่มีส่วนร่วมในนโยบายเปิดและปฏิรูปประเทศ และยุคบุกเบิกของเซินเจิ้น” อันในชุดที่ค่อนข้างเรียบร้อยแต่ดูดี กล่าวกับผู้สื่อข่าว
อันเล่าว่า เมื่อเธอเดินทางมาทำงานยังเซินเจิ้น ก็พยายามขยับขยายเลื่อนขั้นตัวเอง โดยรับเป็นคนกลางจัดหาแรงงานเพื่อทำงานในประเทศ ขณะเดียวกันก็ประสบความสำเร็จกับหนังสือแนวทางการพัฒนาบุคลิกภาพที่เธอเขียนขึ้น
ไม่ต่างจากเซินเจิ้น เมืองชายแดนทางภาคใต้ติดทะเล และตั้งอยู่ตรงข้ามกับเกาะฮ่องกง ก็พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลังจากทางการจีนยกระดับให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษตั้งแต่ปลายปี 1980
“ตอนที่เซินเจิ้นกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่นี้มีคนอาศัยอยู่ไม่เกิน 30,000 คนบนถนนเล็กๆ 2-3 ย่าน หรือก็คือเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ จนๆ แห่งหนึ่งเท่านั้น” สีว์ จงเหิงนายกเทศมนตรีเซินเจิ้นกล่าว
ทว่าปัจจุบันหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ในอดีต กลับมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อปี(GDP)เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 26.9 มากกว่า 30 ปีก่อนหลายขุม นอกจากนี้การขยายตัวอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจยังส่งผลให้มีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 11 ล้านคน ถึงแม้ว่าจะเป็นพลเมืองถาวรเพียง 2 ล้านคน และแรงงานอพยพอีกจำนวนหนึ่ง
“เราเคยทำงานกันอย่างหนัก เราพัฒนาสู่ความทันสมัยเพราะกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง เพื่อความสำเร็จในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งสู่ชุมชนเมืองที่ทันสมัยและเมืองอุตสาหกรรม” สีว์กล่าว
ตึกสูงระฟ้าที่ผุดขึ้นมากมายในเซินเจิ้น รวมถึงความเจริญในด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ นั้นเรียกได้ว่าไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าเกาะฮ่องกงที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเลยสักนิด อีกทั้งแหล่งที่ตั้งที่อยู่บนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุก ก็นับว่าเป็นท่าเรือสำคัญในแถบภาคตะวันออกของจีนอีกแห่งหนึ่ง ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีชั้นสูง และแม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ แห่งหนึ่งของประเทศ ทว่ามีความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติและภาษาอย่างชัดเจน
แต่ขณะนี้วิกฤติเศรษฐกิจโลกซึ่งอยู่ในช่วงขาลงได้ส่งผลกระทบต่อหลายโรงงานที่ตั้งอยู่ในแถบนี้ต้องทยอยปิดตัวลงและจำนวนแรงงานที่ถูกลอยแพนับวันก็ยิ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว
อ้างอิงข้อมูลจากกลุ่มสิทธิแรงงานต่างๆ เผยว่า ความเจริญและมั่งคั่งของเมืองเซินเจิ้นและเมืองใกล้เคียงในมณฑลกวางตุ้งล้วนมาจากหยาดเหงื่อของแรงงานอพยพที่เดินทางมาแสวงโชค ซึ่งแรงงานจำนวนมากต้องทำงานหนักเยี่ยงทาส ถูกจำกัดให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เสียเปรียบ หรือกล่าวได้ว่ามีผู้คนไม่มากนักที่จะประสบความสำเร็จอย่างเช่น อัน จื่อ