นิตยสารฟอร์บส์ – ย้อนหลังไปเมื่อสิบปีที่แล้ว ในบรรดาตึกรามในเมืองเซี่ยเหมิน เขตเศรษฐกิจพิเศษบนฝั่งช่องแคบไต้หวัน ไม่มีใครเด่นเกินตึกสูงทาบแผ่นฟ้าของโรงแรมหมิ่นหนัน ด้วยความสูงราว 165 เมตร ระดับความสูงพอ ๆ กับหมู่ตึกระฟ้า ที่เงื้อมผงาดเหนือเซ็นทรัล พาร์กแห่งมหานครนิวยอร์ก มันโดดเด่นที่สุดสำหรับเมืองกำลังพัฒนาอย่างเซี่ยเหมินในเวลานั้น
ทว่ามาตอนนี้ ตึกตระหง่านของโรงแรมหมิ่นหนันมองดูเหมือนไม้ต้นหนึ่งในป่าชัฏท่ามกลางอาคารสูงหลายแห่งผุดขึ้นริมชายฝั่ง และในใจกลางเมือง
แต่การพัฒนาในเมืองเซี่ยเหมินก็ยังไม่รวดเร็วเท่าในเมืองเซินเจิ้น หรือกว่างโจวบนเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจียงจู โดยเมื่อเปรียบเทียบจากหลักเกณฑ์ของฟอร์บส์แล้ว เมืองทั้งสองเป็นเมือง ที่มีการเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมหน้าอย่างรวดเร็วที่สุดในจีนด้วยเศรษฐกิจ ที่มีพลังขับเคลื่อนบนพื้นฐานของภาคอุตสาหกรรม, ภาคบริการ,ภาคการขนส่ง และลอจิสติกส์ เป็นหลัก
ขณะที่ฮ่องกง, เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง จัดอยู่ในกลุ่มเมือง ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วที่สุด 5 อันดับแรก ตามมาด้วยเมืองต้าเหลียน และนานจิง เมืองทั้งสองผงาดขึ้นมาในฐานะเมืองศูนย์กลางการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่พึ่งโรงงานเป็นหลัก แต่ก็กำลังเปลี่ยนไปสู่การเป็นตลาดสินค้าเพื่อผู้บริโภค ที่มีความคึกคัก
วิธีการจัดอันดับเมืองที่เปลี่ยนไปเร็วที่สุด
ในการจัดอันดับเมือง ที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากที่สุด นิตยสารฟอร์บส์พิจารณาจากหลักเกณฑ์ 3 ประการของเมือง ซึ่งมีประชากรหนาแน่นที่สุดในจีน 20 แห่ง
ฟอร์บส์พิจารณาการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยข้อมูลดัชนีชี้วัดของสถาบันสังคมศาสตร์แห่งจีน (Chinese Academy of Social Sciences) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยของรัฐ เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์นี้ ปรากฏว่าเมือง ที่มีอุตสาหกรรมกำลังเฟื่องฟู แต่มีขนาดเล็กกว่าอย่างเหอเฝยและซูโจว ทำคะแนนได้ดีเป็นพิเศษ
นอกจากนั้น ยังมีการพิจารณาการเติบโตของเมืองในฐานะตลาด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงจากเมือง ซึ่งเดิมเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม แปรเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยธุรกิจภาคบริการ โดยฟอร์บส์อาศัยข้อมูลของสถาบันวิจัยดังกล่าวเป็นดัชนีชี้วัด
ทั้งนี้ ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ที่เศรษฐกิจโลกชะลอการเติบโต เมืองบนแดนมังกรจึงพากันหันมาพึ่งพาการใช้จ่ายภายในประเทศกันมากขึ้น โดยตลาดภายในประเทศของจีนถือเป็นหมุดยึดตัวสำคัญ ขณะที่มีการใช้จ่ายของภาครัฐมากมายเกี่ยวกับโครงการสวัสดิการสังคมต่าง ๆ เพื่อพยายามให้ภาคครัวเรือนดึงเงินออมออกมาใช้
ประการสุดท้าย ฟอร์บส์พิจารณาจากหลักเกณฑ์ด้านความงาม นั่นคือภาพของกลุ่มตึกสูงที่ทาบแผ่นฟ้าเหนือเมือง ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความเปลี่ยนแปลง ที่มองเห็นได้ชัดเจนที่สุดในจีน
ตึกระฟ้าและปั้นจั่นอาจเป็นตัวชี้วัดดีที่สุดสำหรับผลกระทบที่จีนได้รับจากยุคโลกไร้พรมแดน โดยอาศัยข้อมูลจากเอ็มโพริส (Emporis) บริษัทก่อสร้างระดับโลก ซึ่งตั้งอยู่ในเยอรมนี ฟอร์บส์จัดอันดับเมือง โดยใช้ความสูงรวมกันทั้งหมดของกลุ่มตึกสูง ที่ตระหง่านท้องฟ้า มาเป็นตัวตัดสิน
แลไกลไปข้างหน้า
หากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมคือนิทาน ที่เล่าขานกันเมื่อสิบปีก่อน การผนึกความแข็งแกร่งจะเป็นเรื่องเล่าสู่กันฟังสำหรับทศวรรษหน้า
นับตั้งแต่อังกฤษส่งมอบคืนเกาะฮ่องกงให้แก่จีนในปี 2540 เมืองเซินเจิ้น ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นเพียงหมู่บ้านประมง ก็ทำตัวประชันขันแข่งกับฮ่องกง ซึ่งมีพรมแดนติดกันมาโดยตลอดทั้งในด้านธุรกิจบริการเทคโนโลยี, การเงิน และลอจิสติกส์ โดยเซินเจิ้นมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วถึงร้อยละ 18 ต่อปีมานับตั้งแต่ปี 2540 จากข้อมูลของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย
อันที่จริงนั้น เซินเจิ้นเป็นคู่แข่งบนแผ่นดินใหญ่สำหรับฮ่องกงก่อนหน้าการส่งมอบแล้ว จนกระทั่งเมื่อไม่นาน เซินเจิ้นจึงตัดสินใจยุติการแข่งแข่งขัน แต่หันมาจับมือสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจร่วมกับฮ่องกงแทน โดยปล่อยธุรกิจภาคบริการทางการเงินให้อยู่ในกำมือของฮ่องกง ส่วนตัวเองมุ่งเน้นธุรกิจด้านลอจิสติกส์และชิปปิ้งแทน
“เราต้องการเชื่อมเซินเจิ้นและฮ่องกงเข้าด้วยกัน” เยียน เสียวเผย รองนายกเทศมนตรีเมืองเซินเจิ้นกล่าว
“เราจะพยายามผลักดันให้เซินเจิ้น และฮ่องกงกลายเป็นมหานครระดับโลกให้ได้”
ห่างจากเซินเจิ้นไปไม่ไกล โครงการพัฒนาเพื่อขยายเส้นทางรถไฟและท่าเรือขนานใหญ่บนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง ซึ่งกำหนดสร้างเสร็จในปี 2553 จะทำให้โรงงานบนฝั่งตะวันตกและตะวันออก สามารถเชื่อมบรรจบกับท่าเรือขนส่งน้ำลึกบนด้านตะวันออกของเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำได้ โรงงานเหล่านี้ผลิตสินค้าทุกประเภทตั้งแต่เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทแอ๊ปเปิ้ล ไปจนถึงสินค้าของห้างค้าปลีกวอล มาร์ต
สิ่งที่เห็นได้แจ่มชัดยิ่งไปกว่านั้นในทศวรรษหน้า ก็คือการรวมเศรษฐกิจของหมู่บ้านและเมืองขนาดเล็กเข้าด้วยกันจนกลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่ของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีภายนอกนครเซี่ยงไฮ้ และในเขตปริมณฑลของเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงปักกิ่งกับเมืองเทียนจิน ในภาคเหนือ และต้องไม่ลืมว่า หมู่บ้านขนาดเล็กสำหรับจีนนั้น อาจมีประชากรเฉียดหนึ่งล้านคน
ชุมชนที่มีประชากรจำนวน 5 แสน- 8 แสนคน “ไม่ถือเป็นนคร แต่เป็นแค่เมืองเล็ก ๆ” ฟั่น กง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐศาสตร์แห่งชาติในจีนระบุ
“เราจะเห็นหลายภูมิภาคในแถบลุ่มน้ำแห่งนี้รวมตัวกัน ก่อขึ้นเป็นเมืองขนาดใหญ่”
กงยังระบุด้วยว่า รัฐบาลจีนกำลังยกเลิกนโยบายเก่า ๆ ในอดีต ซึ่งอยู่บนหลักการที่มุ่งสนับสนุนกสิกรของประธานเหมา เจ๋อตง แต่หันมาสนับสนุนการเปลี่ยนชนบทให้กลายเป็นเมืองขึ้นมาแทนโดยกงประมาณการณ์ว่า ภายในปี 2593 จะมีประชากรจีนถึงร้อยละ 75 ที่อาศัยอยู่ในเมือง
และแล้วประเทศจีนที่พลิกโฉมหน้าอย่างรวดเร็วเช่นนี้ อาจทำให้ท่านประธานเหมาถึงกับจำไม่ได้อีกต่อไป ทว่าสำหรับเติ้ง เสี่ยวเผิง ผู้สืบทอดอำนาจต่อจากเขา กลับอาจรู้สึกพออกพอใจกับเมือง 92 แห่ง ที่มีประชากรไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนเหล่านี้ก็เป็นได้.