หัวเซี่ยจิงเหว่ยหวั่ง – ตลอดสามสิบปีแห่งการเปิดเมืองเซินเจิ้นเป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” แห่งแรกของจีน นำมาซึ่งการถกเถียงมากมาก ทั้งคำตำหนิ คำชมเชย ทั้งเสียงชื่นชม และการวิพากษ์ ทั้งนี้เพราะการเปิดเซินเจิ้นเป็น “สนามเรียนรู้ระบบทุนนิยม” ทำให้มีหลายสิ่งหลายอย่างขัดกับค่านิยมหลักของสังคมนิยม อย่างไรก็ตาม 30 ปีที่ผ่านมามี “วาทะ” หลายคำที่กลายมาเป็นตัวแทนของเซินเจิ้น จนถึงทุกวันนี้
1. เวลาคือเงินทอง ประสิทธิภาพคือชีวิต 时间是金钱 效率是生命
ปี 1983 คำขวัญนี้ถูกเขียนอย่างโดดเด่นที่ปากทางเข้านิคมอุตสาหกรรมเสอโข่ว เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น เพียงแค่ไม่กี่เดือน คำขวัญนี้ไม่เพียงกลายเเพร่กระจายไปทุกครัวเรือนในเซินเจิ้น แต่ยังถูกชาวจีนทั้งมวลมองว่าเป็นตัวแทนของ “ค่านิยมเซินเจิ้น” ซึ่งต้องยอมรับว่า ความสำเร็จของเซินเจิ้นเกิดจากการปฏิรูปความคิดเป็นอันดับแรก คำขวัญนี้จึงแสดงถึงความก้าวหน้าทางความคิดของกลุ่มนักปฏิรูปเซินเจิ้นได้เป็นอย่างดี
2. ดีแต่พูดทำร้ายชาติ ลงมือทำจึงสร้างชาติได้ 空谈误国 实干兴邦
คำขวัญนี้ปรากฏอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเสอโข่วเช่นกัน ตลอด 30ปี แห่งพัฒนาการของเซินเจิ้นไม่เคยหนีพ้นจากคำว่า “ลงมือทำ” จากหมู่บ้านชาวประมงที่ไม่มีใครรู้จักมาสู่เมืองที่เติบโตจนเป็นที่จับตามอง นอกจากการชี้นำแนวคิดปฏิรูปจากผู้นำจีนแล้ว ยังเป็นผลจากการลงมือทำจริงของชาวเซินเจิ้นทุกคน
3. เล่นหุ้น 炒股
จากวันนี้ที่เซินเจิ้นเป็นตลาดหลักทรัพย์หนึ่งในสองแห่งของจีน ย้อนกลับไปเมื่อปี 1991 ซึ่งตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้นเปิดทำการนั้น แทบจะไม่มีใครรู้ว่า “หุ้น” คืออะไร ต้องให้พนักงานของรัฐช่วยกันซื้อคนละเล็กคนละน้อย คนที่ซื้อหุ้นในยุคนั้นไม่ได้คิดจะร่ำรวย เพียงแค่อยากช่วยชาติ เพียงพริบตา คนจีนเล่นหุ้นตั้งแต่เศรษฐีจนถึงตาสีตาสา แต่ต้องไม่ลืมว่า เซินเจิ้น คือปฐมบทของตลาดหุ้นจีน
4. ผ่านด่าน 过关
ในสมัยเริ่มแรกของการปฏิรูป การผ่านด่านเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเรื่องที่ชาวเซินเจิ้นเคยชินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน สำหรับคนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ที่เซินเจิ้นนั้น การผ่านด่านคงเป็นเพียงพิธีกรรมอย่างหนึ่ง แต่สำหรับคนต่างถิ่นที่หวังจะมาล่าฝันที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ การผ่านด่านคือเป็นสัญลักษณ์สำคัญ วันใดที่ผ่านด่านมาได้ก็หมายความว่าพวกเขาได้ก้าวข้ามประตูสู่อนาคตแล้ว ความรู้สึกเช่นนั้น เป็นความทรงจำที่ลืมไม่ลงตลอดชีวิต
5. ตลาดนัดแรงงาน 人才市场
เซินเจิ้นเป็นเมืองที่หนุ่มสาวต่างหวังจะมาหาความก้าวหน้า มีการเปลี่ยนงานบ่อยที่สุด และ “ตลาดนัดแรงงาน” ก็เป็นศูนย์กลางของนักแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า ที่เซินเจิ้นปีนึงเปลี่ยนงานสองสามครั้งถือเป็นเรื่องไม่แปลก บริษัทเลือกคนงาน คนงานก็เลือกบริษัทเช่นกัน บรรยากาศแห่งการคัดเลือกและแข่งขันกลายเป็นลมหายใจของเซินเจิ้น
6. Q ฉัน Q 我
สิบปีก่อน คำพูดติดปากคำหนึ่ง คือ “มีธุระ เพจหาฉัน” ต่อมาก็พัฒนาเป็น “มีธุระ โทรเข้ามือถือ” แต่สำหรับโลกยุคออนไลน์แล้ว “Q ฉัน” กลายเป็นคำฮิตติดปากของชาวจีน Q ฉัน แท้จริงแล้วคือการสนทนาออนไลน์ หรือแชท ผ่านโปรแกรม QQ ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุดในจีน มากกว่า MSN เสียอีก
QQ ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัทเซินเจิ้นเถิงซุ่น จากบริษัทเล็กๆที่ตั้งชื่อบริษัทตัวเองเป็นภาษาอังกฤษว่า ten cent กลายเป็นองค์กรสื่อสารที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดแห่งหนึ่งในจีน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ เพื่อนชาวจีนหลายคนจะไม่มี msn แต่คงไม่มีใครไม่มี QQ
7. พรุ่งนี้ต้องดีกว่า 明天会更好
นับจากปี 1997 ที่ฮ่องกงกลับคืนสู่มาตุภูมิ เพลง “พรุ่งนี้ต้องดีกว่า” ของหลัวต้าโย่วก็กลายเป็นเพลงฮิตของผู้คนทั้งสองฝากฝั่ง แต่ความจริงแล้ว ความเชื่อที่ว่า พรุ่งนี้ต้องดีกว่า กลายเป็นแรงบันดาลใจของชาวจีนทั้งมวลหลังยุคปฏิรูปและเปิดประเทศ และเพลง “พรุ่งนี้ต้องดีกว่า” ก็ถูกร้องซ้ำจากกนักร้องคนอื่นๆจนนับไม่ถ้วน
8. ฉันไม่รู้จักคุณ แต่ฉันขอบคุณ 我不认识你,但我谢谢你
ข้อความนี้ถูกติดไว้ที่รถบริจาคโลหิตของเมืองเซินเจิ้น โดยเซินเจิ้นนับเป็นเมืองที่มีผู้บริจาคโลหิต
มากเป็นอันดับต้นๆของประเทศจีน ชาวเซินเจิ้นบอกว่า เมื่อความเป็นอยู่ดีขึ้น ก็ต้องแบ่งปันให้ส่วนรวมบ้าง
9. ความเร็วเซินเจิ้น 深圳速度
นับจากวันแรกที่เซินเจิ้นกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ พัฒนาการของเซินเจิ้นก็เร็วเกินกว่าที่หลายคนคาดคิด เซินเจิ้นเปลี่ยนจากหมู่บ้านชาวประมง เป็นนิคมอุตสาหกรรม จากอุตสาหกรรมส่งออก สู่อุตสาหกรรมไฮเทค และพัฒนาเป็นศูนย์การเงินการลงทุน “ความเร็วเซินเจิ้น” จึงกลายเป็นนิยามใหม่ ของพัฒนาการ
10. การพัฒนาคือเหตุผลอันแข็งแกร่ง 发展才是硬道理
นี่คือ หนึ่งวาทะอมตะที่เติ้งเสี่ยงผิงกล่าวในช่วงเดินทางตรวจราชการทางตอนใต้เมื่อปี 1992 ทำให้การถกเถียงเรื่องความถูกผิดของนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศยุติลง และทำให้ชาวเซินเจิ้นรู้สึกว่าผู้นำสนับสนุนความเพียรพยายามของพวกเขา
11. ความเข้าใจ จงเจริญ 理解万岁
ในฐานะที่เป็นหน้าต่างบานแรกที่จีนเปิดสู่โลกภายนอก และเป็น สนามทดลอง สำหรับการปฏิรูป เซินเจิ้นถูกวิพากษ์วิจารณ์มากมาย มีหลายครั้งถูกเข้าใจผิด แต่หลังจาก 30 ปีผ่านไป ความสำเร็จของเซินเจิ้นเป็นที่ประจักษ์ชัด นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศถูกพิสูจน์ว่าถูกต้อง แต่ในใจของชาวเซินเจิ้นแล้ว การเข้าใจซึ่งกันและกัน คือสิ่งสำคัญที่สุด เพราะทุกๆการปฏิรูปย่อมมีเสียงวิจารณ์และการเข้าใจผิด เหล่านักปฏิรูปรู้ดีว่า ถึงแม้บางครั้งพวกเขาจะไม่เห็นด้วยในบางสิ่ง แต่การยอมรับและเข้าใจถือว่าเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องยึดถือ
12. ช็อปปิ้งเมืองหนังสือ 逛书城
ไม่ว่าจะเป็นเพราะเซินเจิ้นไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวมากนัก หรือว่าจะเป็นเพราะเซินเจิ้นเป็นตลาดแรงงานที่แข่งขันสูง แต่ “เมืองหนังสือ” กลายเป็นสถานที่สำคัญของเซินเจิ้น ชาวเซินเจิ้นจะหาเวลาว่างไปที่เมืองหนังสือ ทั้งซื้อหนังสือ หรือ หยิบยืมอ่านเพื่อเพิ่มความรู้ของตนเอง จึงไม่แปลกที่เซินเจิ้นจะเป็นเมืองที่อัตราการอ่านหนังสือสูงที่สุด คนเซินเจิ้นไม่เพียงแต่หาความรู้เพื่อเติมไฟในการทำงานให้ตัวเอง แต่พวกเขายังรู้สึกว่า การเดินเล่นในเมืองหนังสือถือเป็นความสำราญอย่างหนึ่ง