xs
xsm
sm
md
lg

จีนทุ่มงบฯกระตุ้นเศรษฐกิจ6แสนล้าน$ ออกแพคเกจ 10 มาตรการเพื่อบรรลุแผน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชาชนกำลังเดินผ่านป้ายโฆษณาเอ๊าท์เล็ตร้านค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่น ซึ่งเป็นยี่ห้อใหม่ของปักกิ่งในย่านชอปปิ้งวันที่ 10 พ.ย. ขณะที่รัฐบาลประกาศแพคเกจกระตุ้นอัตราเติบโต อัดฉีดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจ ร่วม 600 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีเป้าหมายใหญ่กระตุ้นความต้องการภายในมาชดเชยตลาดต่างแดนที่ซบเซาอยู่ขณะนี้-เอเอฟพี
เอเจนซี่ – รัฐบาลจีนอนุมัติแพคเกจกระตุ้นเศรษฐกิจเต็มสูบ ทุ่มงบฯครั้งใหญ่ที่สุด ร่วม 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 4 ล้านล้านหยวน มุ่งกระตุ้นความต้องการผู้บริโภคภายในประเทศ, อัดฉีดการลงทุนในภาคต่างๆ โดยแพคเกจนี้ ประกอบด้วยชุดมาตรการ 10 ประการ สำหรับบรรลุแผนนี้ซึ่ง จะเป็นหัวหอกในการรับมือวิกฤตเงินโลกด้วย

สำนักข่าวซินหัวเปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ (9 พ.ย.) ว่าที่ประชุมคณะมุขมนตรีจีนโดยมีนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่าเป็นประธานนั้น ได้อนุมัติชุดแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่กินค่าใช้จ่ายถึง 5.86 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ไปเมื่อวันพุธ(5 พ.ย.) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายมุ่งกระตุ้นความต้องการภายในขณะที่ภาคส่งออกจีนกำลังย่ำแย่เพราะตลาดต่างแดนซบเซาสืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก

ค่าใช้จ่ายร่วม 6 แสนล้านเหรียญ ซึ่งเป็นมูลค่าราวร้อยละ 7 ของจีดีพีจีน จะถูกนำไปอัดฉีดโครงการภาคโครงสร้างพื้นฐานและภาคอื่นๆ เพื่อกระตุ้นการเติบโตภายใน อาทิ การสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่ รถไฟใต้ดิน และสนามบิน ตลอดจนการสร้างชุมชนใหม่ในเขตที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวในซื่อชวน (เสฉวน) เมื่อเดือนพฤษภาคม

“จีนได้ตัดสินนโยบายการด้านคลังที่มีประสิทธิภาพ และใช้นโยบายการเงินอย่างผ่อนเพลาระดับกลางๆ เพื่อรักษาอัตราเติบโตที่รวดเร็วและมั่นคง โดยการขยายความต้องการภายใน” แถลงการณ์แผนกระตุ้นเศรษฐกิจในเว็บไซต์คณะมุขมนตรีจีน ระบุสาระสำคัญของแผน

นักเศรษฐศาสตร์ ต่างมองว่า การที่รัฐบาลจีนทุ่มเงินมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจจีนที่เคยรุ่งโรจน์ได้รับผลกระทบจากความตกต่ำของเศรษฐกิจโลกเข้าแล้ว เนื่องจากยอดส่งออกไปยังสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ลดลงอย่างมาก โรงงานหลายแห่งปิดตัวลง รัฐบาลจีนจำเป็นต้องหันมาหาตลาดในประเทศ และทุ่มเงินลงไปผ่านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

โจว เสี่ยวชวน ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน กล่าวว่า จีนซึ่งเป็นฐานการส่งออกใหญ่ของเอเชีย เป็นหนึ่งในกลไกไม่กี่อย่างที่เหลืออยู่สำหรับกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยคาดการณ์ว่าในปี 2009 จีนจะรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ได้ที่ 8 - 9%

สอดคล้องกับ หวัง ฉิง นักเศรษฐศาสตร์จากมอร์แกน สแตนเลย์ ที่ให้ความเห็นว่า หากไม่มีมาตรการอะไรเลย เศรษฐกิจจีนในปีหน้าอาจเติบโตแค่ 5 -6 % แต่เมื่อรัฐบาลจีนออกมาตรการ 10 อย่าง เสริมด้วยการลดดอกเบี้ยและยกเลิกเพดานเงินกู้ ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ 8 - 9% ทั้งนี้ในไตรมาสล่าสุดการเติบโตของจีนลดลงเหลือเพียง 9% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบห้าปี

ความเคลื่อนไหวอีกด้านหนึ่ง ในที่ประชุมผู้ว่าการธนาคารกลางและรัฐมนตรีคลังของประเทศกำลังพัฒนา หรือ จี-20 ที่ประเทศบราซิล ต่างเห็นตรงกันเรื่อการขยายบทบาทกลุ่มมหาอำนาจเศรษฐกิจเกิดใหม่ และคาดกันว่าในที่ประชุมผู้นำโลก ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ในสัปดาห์หน้า จะเรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น บราซิล และจีน เข้ามาร่วมกำหนดทิศทางการเงินโลก แทนที่ประเทศพัฒนาแล้ว

แพคเกจ 10 มาตรการเพื่อกระตุ้นการเติบโต

ในการอนุมัติแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับวิกฤตเงินโลก ผู้นำจีนได้กำหนดมาตรการต่าง 10 ประการเพื่อบรรลุแผน ภายในระยะเวลา 3 ปี ได้แก่

1. กระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเพิ่มเงินอุดหนุนการสร้างบ้านราคาประหยัด เร่งรัดการปรับปรุงเขตที่พักอาศัยที่ล้าหลังในเมือง รวมทั้งซ่อมแซมอาคารที่อาจเป็นอันตราย

2. กระตุ้นภาคชนบท โดยเร่งรัดการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น แก๊ส น้ำประปา ไฟฟ้าและระบบชลประทาน

3. สร้างทางรถไฟ ทางหลวง และสนามบินเพิ่มเติม โดยเฉพาะในเขตภาคกลางและภาคตะวันตก

4. เร่งรัดการสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน และศูนย์วัฒนธรรม โดยเฉพาะในเขตภาคกลางและภาคตะวันตก

5. เร่งรัดโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพิ่มโรงบำบัดน้ำเสีย ศูนย์อนุรักษ์ป่าไม้ และส่งเสริมการใช้พลังงานแบบใหม่

6. ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ

7. เร่งรัดการสร้างและฟื้นฟูเขตภัยพิบัติแผ่นดินไหว

8. เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร โดยจะกำหนดราคาขั้นต่ำของผลิตผลทางการเกษตร เพิ่มการประกันราคาสินค้าเกษตร เพิ่มเงินชดเชยเรื่องต่างๆ รวมทั้งจะเพิ่มสวัสดิการสังคมและจะให้เกษตรกรมีเงินบำนาญชราภาพ

9. ปรับระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยจะส่งเสริมให้ธุรกิจปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งการคำนวนภาษีแบบใหม่จะช่วยให้บริษัททั้งหลายประหยัดเงินได้ถึง 120,000 ล้านหยวน

10. ปรับระบบการเงินใหม่ โดยยกเลิกจำกัดเพดานเงินกู้สำหรับธุรกิจ และเพิ่มวงเงินกู้สำหรับภาคเกษตร วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งอนุญาตให้สถาบันการเงินหลายแห่งร่วมกันปล่อยกู้ได้ นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ปล่อยกู้สินเชื่อเพื่อการบริโภคให้มากขึ้น.

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: ย้อนรอยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น