รอยเตอร์- ก่อนหน้าที่คณะรัฐมนตรีจีน อนุมัติมาตรการ 10 ประการ ระยะเวลา 3 ปี มูลค่า 6 แสนล้านเหรียญ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เมื่อ 9 พ.ย.นั้น ในรอบครึ่งปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ปรับเปลี่ยนโยบายเศรษฐกิจ จากเดิมที่มุ่งจำกัดเงินเฟ้อ มาเป็นการอัดฉีดเงินลงสู่ภาคส่วนต่างๆ โดยเริ่มแรก เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหว และต่อมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ รับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก มาตรการที่สำคัญ มีดังนี้
มาตรการด้านการเงิน
1 พ.ย. ธนาคารแห่งชาติจีน ยกเลิกการจำกัดเพดานเงินกู้
29 ต.ค. ธนาคารแห่งชาติจีน ลดดอกเบี้ยทั้งเงินฝาก และเงินกู้ ระยะเวลาหนึ่งปี ลง 27 จุด
8 ต.ค. ธนาคารแห่งชาติจีน ลดดอกเบี้ยทั้งเงินฝาก และเงินกู้ ระยะเวลาหนึ่งปี ลง 27 จุด รวมทั้งตัดลดวงเงินสำรองสำหรับธนาคารลง 0.5%
6 ต.ค. ธนาคารแห่งชาติจีนเปิดตลาดซื้อขายตราสารขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากหยุดทำการไปสี่เดือน
15 ก.ย. ธนาคารแห่งชาติจีน ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ระยะเวลาหนึ่งปี ลง 27 จุด แต่ตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไว้ และลดวงเงินสำรองสำหรับธนาคารลง 1% ยกเว้นธนาคารใหญ่ 5 แห่งและระบบเงินฝากของไปรษณีย์ ส่วนวงเงินสำรองสำหรับธนาคารในเขตที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวลดลง 2%
1 ก.ย. ธนาคารแห่งชาติจีน เรียกร้องให้ธนาคารปล่อยกู้ให้มากขึ้นในภาคชนบท วิสาหกิจขนาดเล็ก และพื้นที่ประสบภัยพิบัติ
1 ส.ค. ธนาคารแห่งชาติจีนเพิ่มเพดานเงินกู้ 5% สำหรับธนาคารระดับชาติ และ 10% สำหรับธนาคารท้องถิ่น โดยเน้นให้ปล่อยกู้กับวิสาหกิจขนาดเล็ก
มาตรการด้านการส่งออก
21 ต.ค. เพิ่มอัตราคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้ส่งออกมากขึ้นเป็น 25.8% โดยให้มีผลบังคับใช้ 1 พ.ย.
30 ก.ค. เพิ่มการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้ส่งออกเป็น 13% โดยให้มีผลบังคับใช้ 1 ส.ค.
มาตรการด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์
22 ต.ค. ทางการจีน ออกมาตรการชุดกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ เช่น ลดภาษีโฉนดสำหรับบ้านขนาดไม่เกิน 90 ตร.ม. ยกเลิกภาษีอากรแสตมป์ และภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนยังอนุมัติให้ลดวงเงินดาว์นลงเหลือ 20%
1 ก.ย. ธนาคารกลางจีนออกมาตรการพิเศษสำหรับเขตภัยพิบัติแผ่นดินไหว เช่น ให้ลดวงเงินดาว์นลงเหลือ 10% และเพิ่มเพดานวงเงินกู้ให้สูงขึ้น
พ.ค. ถึง ต.ค. รัฐบาลท้องถิ่นหลายเมือง เช่น เซี่ยงไฮ้ นานจิง หังโจว ออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ของตัวเอง
มาตรการด้านโครงสร้างพื้นฐาน
6 พ.ย. กำหนดงบประมาณ 1 ล้านล้านหยวน ระยะเวลา 3 ปี เพื่อฟื้นฟูเขตแผ่นดินไหวที่เสฉวน
5 พ.ย. กำหนดงบฯ 5 ล้านล้านหยวน ระยะเวลา 5 ปี เพื่อสร้างถนนและท่าเรือเพิ่มเติม
25 ต.ค. กำหนดงบฯ 2 ล้านล้านหยวนเพื่อขยายเส้นทางรถไฟ
21 ต.ค. ประกาศแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้ง ทางหลวง สนามบิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ
22 ก.ย. ประกาศยกเว้นเก็บภาษีสำหรับโครงการสาธารณูปโภค ที่ได้รับอนุมัติตั้งแต่ปี 2008 และลดภาษีให้ 50% ในปีที่ 4 -6 หลังจากโครงการดังกล่าวเริ่มมีรายได้
มาตรการด้านตลาดเงินตลาดทุน
9 ต.ค. ยกเลิกภาษีรายได้จากดอกเบี้ย 5%
18 ก.ย. ยกเลิกภาษีอากรแสตมป์ 0.1% สำหรับการซื้อหลักทรัพย์ และยังกระตุ้นให้รัฐวิสาหกิจซื้อหุ้นคืน หากราคาตกลงมาก
มาตรการภาคชนบท
20 ต.ค. เพิ่มราคาประกันพืชผลการเกษตรขึ้น 15% และจัดตั้งคลังถั่วเหลืองแห่งชาติ เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร