เอเชีย ไทมส์ – นักวิชาการอเมริกันชี้ความสัมพันธ์จีน-ไต้หวันพัฒนาขึ้น แต่ยังมีอุปสรรคให้ฝ่าฟันอีกมาก ระบุทั้งสองฝ่ายต้องการสานสัมพันธ์ ทว่าอุปสรรคสำคัญอยู่ที่ทัศนะต่ออนาคตไต้หวันไม่ตรงกัน
แบรด กลอสเซอร์แมน กับ บอนนี่ เกลเซอร์ นักวิชาการจากศูนย์ศึกษาความมั่นคงและการต่างประเทศของสหรัฐฯ (CSIS) วิจารณ์สัมพันธ์จีน-ไต้หวัน กรณีเฉิน หยุนหลินผู้แทนจากจีนเยือนไต้หวัน สานสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบ ระบุเป็นก้าวใหญ่ในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบ สอดรับกับแนวทางของหม่า อิงจิ่ว ประธานาธิบดีไต้หวันซึ่งมุ่งสานสัมพันธ์กับจีน เพื่อดึงเศรษฐกิจไต้หวันที่อยู่ในช่วงขาลง
นักวิชาการอเมริกันระบุว่า “แม้ทั้งสองฝ่ายจะเดินหน้าสานสัมพันธ์ ทว่าภาคส่วนต่างๆของทั้งสองจีนยังแตกแยก ไม่ลงรอยในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบ” ฝ่ายพลพรรคชาตินิยม ไต้หวัน ซึ่งมีพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (หมินจิ้นตั่ง หรือ ดีพีพี) เป็นแกนนำก็ค้านนโยบายสานสัมพันธ์ของหม่า พร้อมจุดกระแสต้านจีนกระทั่งกลายเป็นการประท้วงใหญ่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนทางจีนเองก็หวั่นว่า การประนีประนอม อ่อนข้อกับรัฐบาลหม่าในขณะนี้ อาจถูกรัฐบาลไต้หวันชุดต่อไปนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการเรียกร้องอธิปไตย
อย่างไรก็ตาม หากดูจากภาพรวมแล้ว ความร่วมมือทางด้านการคมนาคมขนส่ง ซึ่งพัฒนาไปมากหลังหม่าเปิดเจรจาสานสัมพันธ์กับจีน ก็เป็นตัวชี้วัดอันหนึ่ง ซึ่งสะท้อนบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบที่สดใสขึ้น การเพิ่มและขยายเส้นทางเที่ยวบินบินตรงระหว่างช่องแคบ การเปิดเส้นทางคมนาคมทางเรือโดยตรง และการเปิดบริการไปรษณีย์ระหว่างช่องแคบ ซึ่งทำให้ทั้งสองจีนสามารถติดต่อกันได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านดินแดนที่สามเหมือนก่อน ล้วนสะท้อนภาพการผ่อนคลาย และความสัมพันธ์ที่ชื่นมื่น
มาตรการสร้างความไว้วางใจระหว่างช่องแคบทื่เกิดขึ้น และดำเนินไปนี้จะช่วยลดความขัดแย้ง เพิ่มความไว้วางใจต่อกัน ซึ่งจะส่งผลให้ความตึงเครียดค่อยๆลดลง ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบก็จะมั่นคง อย่างไรก็ตามมาตรการสร้างความไว้วางใจนี้ จำต้องอาศัยช่องทางทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ นักวิชาการอเมริกันระบุว่า มาตรการสร้างความไว้วางใจสามารถทำได้ตั้งแต่การสร้างช่องทางติดต่อสื่อสารระหว่างกัน การปฏิบัติการร่วมทางทหาร กระทั่งถึงความร่วมมือในการรักษาสิ่งแวดล้อม และสาธารณสุขของประชาชน ทั้งนี้ตามแนวทางที่นักวิชาการเสนอคือการปฏิบัติการร่วมนั้น เมื่อเดือนกันยายนจีนกับไต้หวันก็เพิ่งร่วมมือกันฝึกปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยบริเวณน่านน้ำระหว่างเซี่ยเหมินกับเกาะจินเหมิน ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรระหว่างช่องแคบ
ดังนั้นเมื่อประเมินจากภาพรวมแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่าช่องแคบกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี อย่างไรก็ตามอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน คลื่นลมที่สงบอาจกลายเป็นสึนามิได้ทุกเมื่อ กุญแจสำคัญในการสานสัมพันธ์จึงอยู่ที่การทำให้คู่สัมพันธ์ รู้สึกสมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
ผู้นำของทั้งสองจีน และภาคประชาชนต้องเชื่อมั่นว่า ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นดีต่อพวก อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ โดยเฉพาะเมื่อทั้งสองจีนมีทัศนะไม่ตรงกัน ชาวจีนแผ่นดินใหญ่จำนวนมากต้องการบรรลุเป้าหมายในการรวมประเทศ ขณะที่ทางไต้หวันก็ยังแตกแยก ส่วนหนึ่งก็อยากกลับสู่อ้อมอกจีนแต่ก็ไม่ใช่ในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็ต้องการแยกตัวเป็นอิสระสุดลิ่มทิ่มประตู อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นคนส่วนมากก็พอใจกับสภาวะที่เป็นอยู่ตอนนี้
ภายใต้ทัศนะที่ไม่ตรงกันนี้ การสานสัมพันธ์ไปทีละก้าวเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง และผู้นำระดับสูงในฝั่งแผ่นดินใหญ่ก็เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมาก การกำหนดแนวทางสานสัมพันธ์ บรรจุความต้องการของทั้งสองฝากฝั่งเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ จำต้องได้รับการพิจารณาและริเริ่ม เพราะหากระดับนำไม่ริเริ่มก่อน ก็ยากที่เจ้าหน้าที่ระดับล่างจะเสี่ยง ทำอะไรเพื่อสานสัมพันธ์ต่อไป
ก้าวหนึ่งที่ทางแผ่นดินใหญ่สามารถกระทำได้คือ การแยกประเด็นทางเศรษฐกิจออกจากการเมือง เรื่องของการเมืองค่อยมาว่ากันทีหลัง แต่ตอนนี้ควรเริ่มถางทางความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจเสียก่อน เพื่อปูทางสู่การพูดคุยประเด็นการเมืองกันในอนาคต การเยือนไต้หวันโดยผู้แทนแผ่นดินใหญ่ในช่วงนี้ ซึ่งผู้แทนแผ่นดินใหญ่ให้สัมภาษณ์ว่า “จะเน้นประเด็นทางเศรษฐกิจ ไม่พูดเรื่องการเมือง” ก็นับว่าเป็นสัญญาณที่ดี และสอดรับกับความต้องการของฝั่งไต้หวัน
อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันความสัมพันธ์ระกว่าช่องแคบก็ยังเผชิญปัญหาลุ่มๆดอนๆอยู่ จะผลักดันให้ความสัมนพัธ์ก้าวหน้าไปกว่านี้จำต้องอาศัยถ้อยทีถ้อยอาศัยจากทั้งสองฝ่าย นักวิชาการระบุว่า ทางแผ่นดินใหญ่ควรรับข้อเสนอของหม่า ที่ให้ยุติการทำสงครามการทูต แย่งชิงการรับรองอธิปไตยจีน หรือไต้หวันจากประเทศต่างๆ
ปักกิ่งควรริเริ่มยอมรับความต้องการของไต้หวันในการร่วมชุมชนระหว่างประเทศอาทิ ยอมให้ไต้หวันเข้าร่วมองค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นองค์กรในสังกัดสหประชาชาติ ส่วนท่าทีในการคลายความตึงเครียดทางการเมือง ในระยะสั้นปักกิ่งควรลดจำนวนขีปนาวุธที่เล็งจ่อไปยังไต้หวัน และในระยะยาวก็ควรลดการเสริมสร้างกำลังทางทหารบริเวณใกล้เคียงกับไต้หวัน เพื่อกรุยทางสู่การเจรจาข้อตกลงสันติภาพ นอกจากนี้ปักกิ่งควรแถลงย้ำความตั้งใจที่จะไม่ใช่กำลังตราบเท่าที่ไต้หวันไม่ประกาศเอกราช
ทางไต้หวันก็ควรขยายการติดต่อและร่วมมือกับแผ่นดินใหญ่ ไม่ขยายกำลังทางทหาร กระทั่งเป็นการยั่วยุ นอกจากนี้ไต้หวันเองก็ควรจะหารือกับอเมริกาในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบ เพราะตัวละครที่สำคัญในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบ นอกจากจีนและไต้หวันแล้ว ยังมีอเมริกาอยู่ด้วย ทุกภาคส่วนของไต้หวันจำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า “การคัดค้านอย่างสร้างสรรค์” การคัดค้านจีนโดยใช้การกระทำที่รุนแรงอย่างกรณี จาง หมิงชิง ซึ่งเดินทางมาเยือนไต้หวันก่อนหน้าเฉิน หยุนหลินถูกชกคว่ำ ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น ซ้ำร้ายกลับทำให้ภาพลักษณ์ของไต้หวันย่ำแย่
สำหรับอเมริกาซึ่งมีบทบาทสำคัญก็ควรสร้างความชัดเจนว่า อเมริกาสนับสนุนการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบ และพร้อมที่จะช่วยเหลือเมื่อได้รับการร้องขอ