xs
xsm
sm
md
lg

แผนปรับปรุงเขต "โรงงานโลก" แดนมังกร สะดุดวิกฤตเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตงกว่านในยามค่ำคืน
เอเจนซี่ - แผนดัน "โรงงานโลก" ในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง เป็นเขตอุตสาหกรรมระดับบน สะดุด หลังเกิดวิกฤตการเงินโลก ซ้ำการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนไตรมาส 3 ของปีนี้ชะลอลงเหลือเลขหลักเดียว ซึ่งเป็นการชะลอตัวมากที่สุดในรอบกว่า 5 ปีของประเทศ

สืบเนื่องจากเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลจีนได้เริ่มดำเนินแผนการผลักดันอย่างจริงจัง ให้เขตเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียงหรือแม่น้ำไข่มุก ซึ่งได้รับสมญานามว่า “โรงงานสำหรับโลก” กลายเป็นศูนย์กลางที่ตั้งของอุตสาหกรรมระดับบน เปลี่ยนจากสภาพในปัจจุบันที่แออัดไปด้วยโรงงาน ซึ่งอาศัยแรงงานผู้อพยพจำนวนมหาศาล และใช้พลังงานมาก แต่ขณะเดียวกัน ก็ปล่อยมลพิษ ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยรัฐได้ใช้มาตรการบีบบังคับทางอ้อม เพื่อค่อยๆ กำจัดโรงงานที่ไม่พึงปรารถนาเหล่านี้
โรงงานผลิตเหล็กในตงกว่าน
อย่างไรก็ตาม แผนการ ซึ่งดูเหมือนกำลังเดินไปได้ดี กลับต้องมีอันสะดุดลง ส่อเค้าจะเดี้ยงไปเสียก่อนหลังจากเกิดวิกฤตการเงินโลกเมื่อเดือนกันยายน ซึ่งส่งผลให้โรงงานจำนวนไม่น้อยที่นี่ ล้มละลาย ทิ้งให้คนงานเข้าแถวยาว รอรับเงินเดือน

สมาพันธ์ธุรกิจในฮ่องกงคาดการณ์ว่า คนงานจำนวน 2 ล้าน 5 แสนคน ซึ่งว่าจ้างโดยบริษัทของนักลงทุนฮ่องกงในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงอาจถูกปลดจากงานในอีก 3 เดือนข้างหน้า

ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนระบุเมื่อวันจันทร์ (20 ต.ค) ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ9 ในไตรมาส 3 ของปีนี้ ซึ่งชะลอลงอย่างมากถึงร้อยละ 2.6 จากปีก่อนหน้า และส่งผลกระทบต่อการส่งออก ทำให้บริษัทจำนวนหนึ่งกำลังเกิดปัญหา

วิกฤตการเงินอย่างกะทันหันเกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของเขตเศรษฐกิจแห่งนี้พอดี อู๋ หยุนเจียน ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยี่ของสถาบันเทคโนโลยี่ตงกว่าน ชี้ว่า เขตโรงงานใหญ่ในเมืองตงกว่าน ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคนี้ และเศรษฐกิจกำลังรุ่งเรืองจะเผชิญวิกฤตรุนแรง

ในช่วงศตวรรษที่ 19 ตงกว่านเป็นศูนย์กลางของโลกในการผลิตประทัดและเครื่องหอม ซึ่งทำให้เกาะฮ่องกง ที่อยู่ใกล้กัน พลอยมีชื่อในภาษาจีน ซึ่งมีความหมายว่า “ท่าเรือกลิ่นหอม” จนกระทั่งในปี 2521 ท่านผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง จึงเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงได้

ปัจจุบัน ตงกว่านเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตเสื้อผ้า 7,000 แห่ง, โรงงานผลิตรองเท้า3,000 แห่ง ซึ่งผลิตรองเท้าจำหน่ายถึง 1 พันล้านคู่ในแต่ละปี นอกจากนั้น ยังมีโรงงานผลิตของเล่นอีก 3,000 แห่ง และโรงงานประกอบเครื่องอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ ซึ่งผลิตให้กับบริษัท เช่น คาซิโอ, ซันโย, ฮิตาชิ, ซัมซุง, โนเกีย และฟิลลิปส์
คนงานโรงงานแห่งหนึ่งที่เมืองตงก่วน มณฑลกวางตุ้งกำลังเร่งมือผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์-เอเอฟพี
ตงกว่านและเมืองใกล้เคียงอื่น ๆ เริ่มรู้สึกถึงข้อจำกัดด้านที่ดิน และปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ปรากฏมากขึ้น ขณะที่เจ้าของโรงงานเอกชนเผชิญปัญหา ซึ่งเหมือนพายุร้ายหลายประการ เช่น การขาดแคลนแรงงาน, ค่าไฟที่แพงขึ้น, การแข็งค่าของเงินหยวนอย่างต่อเนื่อง และต้นทุนวัตถุดิบ ที่สูงขึ้น

นอกจากนั้น นับตั้งแต่จีนบังคับใช้กฎหมายแรงงานฉบับใหม่ตั้งแต่เดือนมกราคม มีคนงานร้องเรียนสิทธิตามกฎหมายจากเจ้าของโรงงานแล้วถึง 30,000 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 3 เท่า สร้างแรงกดดันอย่างหนักต่อผู้บริหารโรงงาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นเดือนตุลาคมนี้ ทางการตงกว่านได้ประกาศจัดตั้งกองทุนจำนวน 146 ล้านดอลลาร์ เพื่อปล่อยเงินกู้ให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลก

ขณะเดียวกัน ตงกว่าน และเมืองใหญ่อื่น ๆในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง ซึ่งรวมทั้งเซิ่นเจิ้น และกวางโจว ยังไม่ล้มเลิกแผนการผลักดันให้โรงงานซึ่งใช้เทคโนโลยี่ต่ำ ออกไปตั้งในถิ่นไกลออกไปในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ใกล้กับมณฑลตอนในอย่าง เหอหนัน และเจียงซี

แต่จะเร่งดำเนินการแค่ไหนนั้น บรรดาผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังวัดอุณหภูมิความรู้สึกของประชาชนอยู่ ขณะเดียวกันก็ยังเดินหน้าสร้างศูนย์วิจัยและศูนย์เทคโนโลยี่ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับธุรกิจระดับบน

ทว่าเจ้าของโรงงานที่นี่ก็ไม่นอนรอความตาย แต่กำลังคิดหาทางขยับขยาย โดยบางรายมีแผนย้ายโรงงานเข้าไปตั้งในดินแดนตอนใน และบางรายคิดย้ายโรงงานไปยังประเทศอื่นเลยทีเดียว เช่นในเวียดนาม ซึ่งแม้ต้นทุนด้านการขนส่งสูงกว่าที่จีน แต่ก็มีแรงงานเหลือเฟือ และค่าแรงยังถูกกว่าอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น