เอเชีย ไทมส์ - จีนพร้อมรับมือวิกฤตการเงินโลก เตรียมเดินตามฮ่องกงและออสเตรเลีย หั่นอัตราดอกเบี้ย กระตุ้นอุปสงค์ภายใน หวั่นวิกฤตการเงินส่งผลต่อเศรษฐกิจ สั่นคลอนความมั่นคง
เมื่อต้นเดือนตุลาคม ธนาคารกลางหลายประเทศได้สั่งปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อรับมือวิกฤตเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางฮ่องกงได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐานลง 1% สู่ระดับ 2.5% หลังจากที่ทางสหรัฐฯได้ประกาศหั่นอัตราดอกเบี้ยไปก่อนหน้า ส่วนทางธนาคารออสเตรเลียก็ได้ปรับลดดอกเบี้ยลง 1 % ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 6.0%
หลังจากบรรดาธนาคารกลางประเทศต่างๆ ทยอยปรับลดดอกเบี้ยกันขนานใหญ่ ล่าสุดก็มีข่าวออกมาจากทางจีนว่า หลังจากที่มีการปรับดอกเบี้ยลงครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 15 กันยายน 0.27% ขณะนี้เงื่อนไขต่างๆสุกงอม และมีทีท่าว่า ทางการจีนอาจปรับลดดอกเบี้ยลงอีกครั้ง
สำหรับสาเหตุการปรับดังกล่าว นักวิเคราะห์ระบุว่า วิกฤตการเงินโลกทำให้กำลังซื้อในตลาดส่งออกสำคัญของจีนลดลง ดังนั้นทางการจึงจำเป็นต้องหันมากระตุ้นการบริโภคภายใน ที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้งัดมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในเป็นระยะๆ อาทิ มาตรการอุดหนุนด้านการเงินเพื่อกระตุ้นให้ชาวนาซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า
กองทุนการเงินระหว่างประเศ หรือไอเอ็มเอฟระบุว่า ตลาดส่งออกใหญ่สุดของจีนคือ สหรัฐฯเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และวิกฤตการเงินนี้อาจส่งผลกระทบทำให้อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกลดลงเหลือ 3% ในปีหน้า จากที่ก่อนหน้านี้ไอเอ็มเอฟประมาณไว้ที่ 3.7%
ส่งออกสหรัฐฯวูบ จีนเร่งกระตุ้นอุปสงค์ภายใน
ด้านบัณฑิตยสภาด้านสังคมศาสตร์ของจีนระบุว่า หากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สหรัฐฯลดลง 0.7% จะส่งผลให้จีดีพีจีนลดลง 0.94% ณ ปัจจุบันบรรดาผู้บริโภคชาวสหรัฐฯที่กำลังประสบกับวิกฤตการเงิน ต่างพากันรัดเข็มขัดเต็มที่ แม้แต่การบริโภคสินค้าราคาถูกจากจีนก็มีสัดส่วนลดลง ส่งผลให้สัดส่วนการเติบโตของสินค้าส่งออกจีนในตลาดสหรัฐฯลดลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2002 จากสถิติตัวเลขหลักสองหลักเหลือเพียง 9.9% หรือเท่ากับ 140,390 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 8.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
บาร์เคลย์ส แคปิตอลประมาณว่า ยอดการเติบโตของการส่งออกจีนช่วง 8 เดือนแรกของปี 2008 น่าจะอยู่ที่ 12.6% ลดลงจาก 20.2% ในปี 2007
จากแนวโน้มดังกล่าวทางการจีนได้ออกมาเปิดเผยว่า ยอดการส่งออกที่โตลดลงอาจส่งผล ทำให้จีดีพีลดลงเหลือ 9% ในไตรมาส 4 และจีดีพีที่ 9% นี้นับเป็นสัญญาณอันตราย เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า 9% จะทำให้เกิดปัญหาต่อการสร้างงานให้กับมวลชนแดนมังกร ซึ่งมีจำนวนนับล้าน ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องระดมสรรพกำลัง ปกป้องจีดีพีไม่ให้ต่ำกว่าเลข 9 นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่า ไม่ช้ารัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการผ่อนคลายการลงทุนในสินทรัพยถาวรที่คุมเข้มมานาน
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปักกิ่งเดินหน้าควบคุมเศรษฐกิจอันร้อนแรง ซึ่งเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อและการลงทุนล้นเกินอย่างเข้มงวด ขณะเดียวกันทางการยังต้อง พยายามกระตุ้นอุปสงค์ภายใน เพื่อลดการพึ่งพาตลาดส่งออก ซึ่งหลายประเทศพากันโจมตีจีนเรื่องทุ่มตลาด และค่าเงินหยวนที่ต่ำกว่าความเป็นจริง
เมื่อปีที่แล้วยอดการค้าปลีกเพิ่มขึ้น 16.8% คิดเป็นมูลค่า 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับ 36% ของจีดีพี อย่างไรก็ตามยอดดังกล่าวยังไม่เพียงพอ ที่จะทำให้การบริโภคภายในประเทศเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันการเจริญเติบโตของจีดีพี
สัดส่วนการบริโภคภายในที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นผลมาจากการเจิรญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างร้อนแรง ที่ทำให้รายได้ของประชากรเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจที่ชะลอความร้อนแรงลง ส่งผลให้รายได้ของประชากรจีนเพิ่มขึ้นไม่มากนัก รายได้ต่อหัวของประชากรเมืองในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2008 เพิ่มขึ้นเพียง 6.3% ซึ่งน้อยกว่าตัวเลขสถิติเฉลี่ยระหว่างปี 2002-207 ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 10%
หลังจากที่วิกฤตการเงินอเมริกัน เริ่มส่งผลลามไปยังที่ต่างๆตั้งแต่ปลายปี 2007 ทางปักกิ่งก็เริ่มผลิกมาตรการจากการคุมเข้มเศรษฐกิจ มาเป็นการผ่อนคลาย อัดฉีดเสริมอุปสงค์ภายใน กระทรวงพาณิชย์ได้เริ่มโครงการนำร่องคืนภาษี 13% ให้กับครอบครัวชนบทในมณฑลซันตง, เหอหนัน และซื่อชวน (เสฉวน) ซึ่งซื้อทีวี, ตู้เย็น และโทรศัพท์มือถือ อย่างใดอย่างหนึ่ง 2 เครื่องขึ้นไป
การนำเสนอโครงการดังกล่าวอาจกล่าวได้ว่า เป็นความพยายามครั้งแรกของทางการในการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยการสนบัสนุนด้านการเงินให้กับชาวชนบท ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ โครงการดังกล่าวทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐที่ดูเหมือนลำเอียง ให้การสนับสนุนแต่ทุนใหญ่ที่ผลิตเพื่อส่งออกดูดีขึ้น ขณะเดียวกันการหนุนช่วยชนบทนี้ก็ทำให้บรรดาผู้ผลิต หันมาเจาะตลาดภายในประเทศมากขึ้น
แรกทีเดียวรัฐบาลมีนโยบายขยายโครงการนำร่องนี้ไปยังมณฑลอื่นๆ อีก 12 แห่ง ทว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ซื่อชวนเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมทำให้ต้องชะลอโครงการดังกล่าวไปก่อน อย่างไรก็ตาม ล่าสุดซีซีทีวีได้ออกข่าวเผยว่า โครงการนำร่องประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม และรัฐบาลกำลังจะทำการขยายโครงการ ทั้งนี้ทางกระทรวงพาณิชย์ได้ออกมายืนยันว่า กำลังดำเนินการเพื่อขยายโครงการ
บรรดาผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังอาทิ ฉางหง และ ไหเอ่อร์ ซึ่งร่วมโครงการนำร่อง ต่างปรับแผนการผลิตและ อบรมตัวแทนจำหน่ายสำหรับการรุกตลาดชนบท “การขยายโครงกมาร นับเป็นข่าวดีสำหรับพวกเรา เรากังวลกันมานานว่า ยอดการส่งออกที่ลดลงจะทำให้กำไรหด” ผู้จัดการฝ่ายขาย ของ สกายเวิร์ท บริษัทผลิตทีวีในเซินเจิ้นกล่าว
เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หวั่นกระทบความมั่นคง
ตั้งแต่จีนหันมาใช้กลไกตลาดในการพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ทศวรรษ 1970 สวัสดิการในระบบ “ชามข้าวเหล็ก” ที่รัฐเป็นผู้โอบอุ้มดูแลตั้งแต่เกิดยันตายก็มลายหายไป มวลชนชาวจีนต้องรับผิดชอบ เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล จ่ายค่าศึกษาบุตร และเผชิญความเสี่ยงในการหางานด้วยตนเอง
ภาวะดังกล่าวทำให้ประชากรในชนบทซึ่งเป็นผู้มีรายได้ต่ำ เกิดอาการเครียด กดดัน กระทั่งมีการเดินขบวนเรียกร้องความเป็นธรรมหลายครั้ง ทางรัฐบาลก็พยายามแก้ไขปัญหา โดยเล็งที่จะขยายประกันสังคม และระบบสวัสดิการสังคมให้ครอบคลุมพื้นที่ชนบท ทั้งนี้การขยายระบบดังกล่าวจะสร้างความพึงพอใจ และลดความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบทลงได้ ซึ่งเท่ากับเป็นไปตามนโยบายการสร้างสังคมปรองดอง
นอกจากนโยบายข้างต้น ในปีนี้ทางรัฐบาลยังดำเนินการลดภาษีสินค้าเกษตร, เพิ่มเงินอุดหนุนสินค้าเกษตร, ยกเลิกเก็บค่าเทอมการศึกษาชั้นประถมทั่วประเทศ และเริ่มโครงการประกันสุขภาพในเขตชนบท ด้านการเก็บภาษีเงินได้ รัฐบาลก็ได้เลื่อนระดับรายได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีจาก 1,600 หยวนต่อเดือนเป็น 2,000 หยวนต่อเดือน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2008
พ้นจากสารพัดมาตรการข้างต้น รัฐบาลยังช่วยเพิ่มกำลังซื้อของประชากร ด้วยการจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อ เมื่อเดือนมีนาคม นายกรัฐมนตรี เวิน เจียเป่า ได้ตั้งเป้าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ว่า จะต้องอยู่ที่ระดับ 4.8% ณ เดือนสิงหาคมอัตราเงินเฟ้อจีนก็ลดลงมาแตะระดับ 4.9% จากก่อนหน้านี้ที่เคยพุ่งทำสถติสูงสุดในรอบ 12 ปีอยู่ที่ 8.7% ในเดือนกุมภาพันธ์
ที่ผ่านมาทางการจีนได้ใช้นโยบายการเงินอย่างเข้มงวด ในการควบคุมเศรษฐกิจที่ร้อนแรง ในบรรดามาตรการต่างๆที่บังคับใช้รวมถึงการเพิ่มระดับเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ กระทั่งแตะระดับ 17.5% เพื่อแก้ปัญหาการลงทุนล้นเกิน นโยบายดังกล่าวช่วยชะลอความร้อนแรงในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นปัจจัยสร้างความร้อนแรง อย่างไรก็ตามบรรดาโรงงานหลายแห่งจำต้องปิดตัวลง เนื่องจากขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินการ เนื่องด้วยธนาคารไม่สามารถปล่อยกู้ได้ง่ายเหมือนก่อน
อย่างไรก็ตาม วิกฤตการเงินโลกที่ส่งผลสะเทือนมายังจีน ทำให้ต้องมีการปรับกระบวนทัพ จัดมาตรการทางเศรษฐกิจเสียใหม่ การคุมเข้มด้านการเงิน กระทั่งทำให้โรงงานหลายแห่งปิดตัว กับวิกฤตการเงินที่ทำให้อัตราการส่งออกสินค้าลดลง ทำให้ทางธนาคารกลางเริ่มพิจารณาปรับดอกเบี้ย
เมื่อวันที่ 15 กันยายน ธนาคารกลางจีนได้ปรับลดอัตราเงินดอกเบี้ยกู้นโยบายระยะเวลา 1 ปี ลง 0.27% จาก 7.47% เหลือ 7.20% และปรับอัตราเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ลง 1% จาก 17.5% เป็น 16.5% สำหรับธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด ยกเว้นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุด 5 แห่งของจีน และ ธนาคารไปรษณีย์จีน
เผิง เหวินเซิง เศรษฐกรของ บาร์เคลย์ส แคปิตอล กล่าวว่าใน 12 เดือนข้างหน้าอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงเป็นจำนวนรวม 0.81% และปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงรวม 0.54% โดยจุดประสงค์ของการผ่อนคลายนโยบายการเงินนี้ ก็เพื่อช่วยผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบรายเล็กสามารถเข้าถึงเงินทุนได้
นอกจากนี้ เมื่อเดือนกันยายน ไชน่า ว่านเคอ และ ซือเหมา พรอพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ ก็ได้ปรับลดราคาอพาร์ทเมนต์ลง 15% – 35% เพื่อกระตุ้นยอดขาย นักวิเคราะห์ระบุว่า ราคาบ้านในจีนอาจปรับลดลงสูงถึง 50% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ราคาที่ปรับลดลงจะทำให้บรรดาชนชั้นกลางออกมาใช้จ่ายซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ส่วนการผ่อนคลายด้านการเงินก็จะทำให้การลงทุนและการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีก