ในชุดผ้ายืดสแปนเด๊กซ์ สีส้มแปร๊ด เจ้าหล่อนก้าวสู่ฟลอร์เต้นรำ อันว่างเปล่าของคลับแห่งนั้น พลันจังหวะดนตรีเร่าร้อนก็เริ่มขึ้น ร่างนั้นหมุนพลิ้ว ยักสะโพก สะบัดแก้มไปพร้อมกับคู่เต้น หัวใจระทึกหนักหน่วงไปตามเสียงกระแทกกระทั้นของแตรเป่า และกลองตี
กลุ่มนักธุรกิจ ที่กำลังเคี้ยวซิการ์ และมึนได้ที่ ถึงกับสร่างเมา จ้องตาค้าง
เจ้าหล่อนที่วาดลวดลายบนฟลอร์ก็คืออู๋ อี้จวิน สาววัย 32 ปี ซึ่งเมื่อ 2 ปีก่อน ทำงานเป็นผู้ช่วยนักบริหาร แล้วสีสันชีวิตก็เปลี่ยนไป เมื่อเพื่อนพาเธอไปที่โรงเรียนสอนเต้นซัลซ่าแห่งหนึ่ง
“ วันนั้นเป็นวันที่ฉันตกหลุมรัก” เธอเล่า พลางสูดลมหายใจ หลังจากเสร็จสิ้นการแสดงที่คลับเดอะ เวิลด์ ออฟ ซูซี่ หว่อง
“ซัลช่าน่ะ เร่าร้อนและเซ็กซี่ดีชะมัด”
อู๋ก็เลยลาออกจากงานมาเป็นครูสอนเต้นซัลช่าเต็มตัว
เวลานี้ ซัลซ่าฟีเวอร์ หรือโรคคลั่งการเต้นซัลซ่า ซึ่งเป็นการเต้นรำจังหวะละตินแบบหนึ่งกำลังมาแรงในจีน
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีสตูดิโอฝึกสอนการเต้นรำจังหวะละตินเปิดนับสิบแห่งในกรุงปักกิ่ง และในช่วงปลายเดือนกันยายน-ต้นเดือนตุลาคม เป็นเวลา 4 วัน ยังมีการจัดงานชุมนุมการเต้นซัลซ่าประจำปีของจีน ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 3 และมีแฟนๆหลายพันคนจากทั่วสารทิศมาร่วม โดยมีการแสดงเต้นรำและการแข่งขันให้ดูกันอย่างเต็มตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดงานครั้งนี้ยังนับเป็นปีที่ 2 ที่จัดขึ้นบริเวณกำแพงเมืองจีน
เมล็ดพืชพันธุ์ซัลซ่าหยั่งรากบนแผ่นดินมังกรเมื่อปลายทศวรรษ 1990
ตอนนั้น พวกนักการทูตและนักธุรกิจแถบละตินอเมริกา เริ่มออกไปเที่ยวเต้นรำตอนกลางคืนตามคลับ ซึ่งมีอยู่ไม่กี่แห่งในกรุงปักกิ่ง และนครเซี่ยงไฮ้ ชาวคิวบา, โคลัมเบีย และโดมินิกัน พากันโชว์เท้าไฟวาดลวดลายซัลซ่า,เมอเรงเก้ และแมมโบ้ จังหวะที่ร้อนอ้าวไปด้วยอารมณ์อันรุนแรง และกระตุ้นความรู้สึกอย่างประหลาด มันเย้ายวนชาวจีนให้พากันมาดู และตกหลุมเสน่ห์จนถอนตัวไม่ขึ้น
ในประเทศจีน ซึ่งการเต้นรำบอลล์รูมมีประวัติมายาวนาน ยามค่ำคืนอันอบอุ่นในฤดูร้อน จะเห็นผู้สูงอายุพากันจับคู่ลีลาศวอลต์ซกันตามสวนสาธารณะในเมือง
ขณะที่หมวยตี๋ ที่กรี๊ดกับซัลช่าจำต้องเร้นตัวในเงามืด, หวั่นกลัว และไม่แน่ใจ ที่จะออกไปโชว์เท้าไฟ
“ย้อนไปสมัยนั้น มีแต่ชาวละตินอเมริกาเท่านั้นที่เต้นได้” เจิน เจิน ครูสอนซัลซ่าอีกคนเล่า
“คนจีนอยากเรียน แต่ไปเรียนที่ไหนกันล่ะจ๊ะ? ไม่มีชั้นเรียน ไม่มีทีมงานสอน ไม่มีการจัดตั้งอะไรเลย”
เจิน เจิน วัย 33 ปีค้นพบซัลซ่า คราวไปสวีเดนเมื่อปี 2540 พอกลับมาก็ขลุกอยู่ตามไนต์คลับในกรุงปักกิ่ง เพื่อสั่งสมประสบการณ์ ต่อมาในปี 2547 เจิน ได้รู้จักกับแจ็ค ดันน์ ครูสอนชาวอเมริกัน ลูกศิษย์ของเอ็ดดี้ ทอร์เรส ตำนานแห่งซัลซ่า โดยได้รับการถ่ายทอดศิลปะในนิวยอร์กซิตี้ และเดินทางมาจีนได้ไม่นาน
เจินได้รับเชิญให้มาสอนซัลช่าที่สตูดิโอ ต่อมา คนทั้งสองได้ร่วมก่อตั้งคณะเต้นรำฟีนิกซ์ (Phoenix Dance Company) ซึ่งปัจจุบัน เปิดเรียนสัปดาห์ละ 6 ครั้ง
บรรดาผู้กระตือรือล้นอยากเรียนเต้นซัลซ่าค่อย ๆ ทยอยมายังสตูดิโอแห่งนี้
“แรก ๆ ได้คนเรียนถึง 10 คน ก็โชคดีแล้ว” ดันน์ว่า
ปัจจุบัน ทางสตูดิโอ มักได้ผู้เรียนครบ 30 คน มาฝึกหมุนและยกตัว ซึ่งเปิดโอกาสให้เส้นใยสังเคราะห์สแปนแด๊กซ์ ภายใต้ชื่อการค้า Lycra มีส่วนในการตัดชุดแต่งกาย
พวกนักเรียนส่วนใหญ่มาที่นี่เพื่อเรียกเหงื่อและผ่อนคลายจากภารกิจประจำวัน ขณะที่นักเรียนคนอื่น ๆ มุ่งมั่นฝึกซ้อม หวังคว้ารางวัล ซึ่งคือสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้การแข่งขันเต้นซัลซาได้รับความนิยมอย่างมากที่นี่
“ในประเทศจีนนั้น ทุกคนอยากเป็นที่หนึ่ง” Zhen บอก
ภายในห้องกว้าง ติดบานกระจกใหญ่ของสตูดิโอซันนี เรย์ ซัลซ่า (Sunny Ray Salsa studio) ผู้มีความหวังกว่า 10 คน กำลังฝึกหมุนตัว ยักย้ายส่ายร่างไปตามจังหวะเพลง ที่ดังกระหึ่มมาจากลำโพงวิทยุ
ส่วนกลุ่มที่เพิ่งฝึกหัดใหม่นั้นยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องรางวัล เพราะภาพที่เห็นก็คือพวกผู้ชายยังหมุนตัวผิดทิศ ส่วนพวกผู้หญิงก็เหวี่ยงขาผิดทาง อานุภาพปานจระเข้ฟาดหาง ก่อความเสี่ยงว่าคนใกล้ ๆ อาจฟันหักเป็นแถบได้
หยวน เซียงเซียง ผู้ก่อตั้งสตูดิโอ และเคยเป็นลูกศิษย์ของดันน์เล่าว่า นับตั้งแต่เปิดสตูดิโอเมื่อ 3 ปีก่อน มีผู้สมัครเรียนแล้วกว่า 3,000 คน และทางสตูดิโอกำลังเคี่ยวนักเต้น 12 คู่ เพื่อคว้ารางวัลในการประกวดให้ได้
ตรงปลายโถงด้านโน้น จาง เฉา กำลังขะมักเขม้นฝึกซ้อมกับ หลี่ เหล่ย คู่เต้นของเขา หนุ่มจาง วัย 28 มีอาชีพเป็นเซลส์แมนขายซอฟต์แวร์ เขาเคยเต้นบอลล์รูมสมัยเรียนวิทยาลัย แต่ก็ชอบความอิสรเสรีของซัลซ่ามากกว่า
จางฝึกเต้นซัลซ่ามาได้ 2 ปีแล้ว ทว่าการครองตำแหน่งชนะเลิศยังเป็นงานหิน ทั้งคู่ทุ่มเทฝึกซ้อมสัปดาห์ละ 12 ชั่วโมงในสตูดิโอ เท่านั้น ยังไม่พอ ดึก ๆ ดื่น ๆ ยังฝึกซ้อมเต้นตามคลับหลายแห่งอีกด้วย ถึงกระนั้น ยังมีช่องโหว่ให้ต้องปรับปรุงอยู่ดี
“บางที ผมจะฝึกเต้นอยู่หน้ากระจกที่บ้าน”
นักเรียนหลายคนเห็นซัลซ่ามีความหมายยิ่งกว่าแค่งานอดิเรกยามว่าง ทว่ามันเป็นการสลัดคราบ เปลี่ยนแปลงตัวเองเลยทีเดียว
“ตอนทำงาน ฉันเป็นแค่เจ้าหน้าที่เทคนิกผู้เงียบขรึม วัน ๆ นั่งอยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์” อัน หลีน่า สาววัย 30 ปี เผยความลับ
เธอทำงานในบริษัทด้านพลังงานแห่งหนึ่ง และสมัครเรียนในชั้นของดันน์ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง
“แต่พอตกกลางคืน ฉันเปลี่ยนเป็นคนละคนเลยละ เวลาได้เต้นแล้ว ฉันจะเซ็กซี่มากกว่าปกติ”
นอกจากอัน กำลังทุ่มเทฝึกซ้อมเพื่อให้ได้ชัยชนะแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่ดึงให้เธอมาเข้าเรียนซัลซ่าก็คือ“ถ้าคุณโชคดี คุณอาจเจอคนที่ใช่ก็ได้นะ” หล่อนว่า
ในประเทศอย่างจีน ซึ่งช่วงสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมนั้น ทางการสั่งห้ามการเต้นรำในวงสังคมอย่างเด็ดขาด ขณะที่การแสดงอารมณ์รัก ๆ ใคร่ ๆ ของสตรีเพศถูกประณามหยามเหยียด ดังนั้น ท่าเต้นที่กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกทางเพศอย่างไม่สะทกสะท้านจึงเป็นมนต์เสน่ห์อย่างหนึ่งที่เย้ายวนหนุ่มสาวชาวจีนให้ติดหนึบ
“วัฒนธรรมจีนไม่ยอมให้ผู้หญิงแสดงออกทางเพศ ” หวัง ซวง สาวนักบริหารการตลาด วัย 35 ปีวิเคราะห์
เธอบอกว่าการเต้นซัลซ่าทำให้ตัวเองได้รู้จักความรู้สึกใหม่อีกแบบหนึ่ง
“ก็เพราะซัลซ่านี่แหละ ที่ทำให้ฉันได้รู้จักอารมณ์รักอย่างชนิดคลั่งไคล้รุนแรง”
ค่ำคืนหนึ่ง ที่ผันผ่านไปไม่นาน มอนคาดา (Moncada) วงดนตรีจากคิวบามาเปิดการแสดงที่บาร์ของโรงแรมระดับหรู ในกรุงปักกิ่ง และหวังกับเพื่อนร่วมชั้นพากันมาวาดลวดลายบนฟลอร์
ทันทีที่เสียงดนตรีในจังหวะละตินดังก้องกระชั้น ระรัวซึมซาบทุกอณูบรรยากาศ ที่อบอวลไปด้วยควันบุหรี่ภายในบาร์
หนุ่มจาง อี๋ว์ วัย 35 ปี สวมหมวกคาว์บอยสีแดง ก็โน้มร่างหญิงสาวผู้หนึ่งลงไปที่พื้น ส่วนหล่อนก็เกี่ยวกระหวัดขาทั้งสองข้างรอบเอวเขาอย่างเชิญชวน ริมฝีปากเกือบสัมผัสชิด ทั้งคู่อยู่ในท่าแนบสนิท สักครู่ก็ตวัดส้นรองเท้า ซึ่งสะท้อนประกายระยิบระยับ ลุกขึ้นมา เปิดยิ้มกว้างอย่างอิ่มเอมใจ เม็ดเหงื่อพราวใบหน้า
ขณะที่คู่เต้นอื่น ๆ ก็โชว์ลวดลายเข้ากับเนื้อเพลงสเปนกันอย่างเต็มที่ แม้ไม่เข้าใจเนื้อหาของเพลงก็ตาม
ทว่าขึ้นชื่อว่านักเต้นรำ ใจมันรักมาตั้งแต่เกิด
“ผมเต้นรำเป็นมาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่แล้วคร๊าบ” จาง ว่า
ฮอร์เก้ โกเมซ ผู้จัดการวง มอนคาดา วัย 54 ถึงกับงง เมื่อได้เห็นทักษะและความเร่าร้อนเช่นนี้บนฟลอร์แดนมังกร
“ถ้าเด็กผู้หญิงชาวจีนเต้นแบบนี้ในกรุงฮาวาน่า เธอจะทำให้ทุกคนแปลกใจเลยล่ะ” โกเมซ อรรถาธิบาย
“ในคิวบานะคุณ การเต้นรำมันอยู่ในสายเลือดในวัฒนธรรมของเรา แต่ที่นี่ คุณจะมองเห็นได้ในดวงตาในใบหน้าของคนเหล่านั้น แถมพวกเขากำลังพยายามทำให้มันฝังอยู่ในสายเลือดด้วยซ้ำ”