xs
xsm
sm
md
lg

แฉนโยบายต่างประเทศมังกร สร้างเขื่อนโขง เมินเพื่อนบ้าน

เผยแพร่:   โดย: สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์


เอเชีย ไทมส์ – ไทย-ลาวกังขานโยบายจีน ตั้งข้อสังเกตอุทกภัยครั้งใหญ่ อาจมีสาเหตุจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านจีน นักวิเคราะห์ชี้นโยบายต่างประเทศจีนต่ออาเซียนย้อนแย้ง ขณะที่ทำตัวเป็นพี่ใหญ่ใจดี ทุ่มทุกอย่างเพื่อบูรณาการเศรษฐกิจจีน-อาเซียน แต่นโยบายแม่น้ำโขงพี่ใหญ่ไม่ใจกว้าง

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พื้นที่บริเวณหลวงพระบาง และเวียงจัน ในประเทศลาว และ 7 จังหวัดทางภาคเหนือของไทย ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ โดยมีรายงานระบุว่าในบางพื้นที่นับได้ว่าเป็นอุทกภัยครั้งใหญ่สุดในรอบศตวรรษ โดยระดับน้ำในแม่น้ำโขง ณ วันที่ 14 สิงหาคม ในบางพื้นที่อยู่ที่ 13.7 เมตร ทำลายสถิติอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 1966 ที่ระดับน้ำในแม่น้ำอยู่ที่ 12.4 เมตร

ในส่วนของประเทศไทยคาดว่า มูลค่าความเสียหายอยู่ที่ราว 220 ล้านบาท ขณะที่ทางเวียงจันระบุว่า ที่หลวงพระบางเพียงแห่งเดียวมูลค่าความเสียหายอาจสูงถึง 400 ล้านบาท อย่างไรก็ตามตัวเลขความเสียหายดังกล่าวอาจเป็นตัวเลขชั่วคราว ที่จะถูกทุบสถิติในไม่ช้านี้ เนื่องจากปริมาณน้ำในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงประเทศเวียดนาม ได้เข้าสู่ระดับที่น่าวิตก ทางเวียดนามคาดว่าก่อนที่จะหมดฤดูฝน น่าจะมีอุทกภัยเกิดขึ้นอีกครั้ง

แม้ความเสียหายทางวัตถุจะมีมูลค่าระดับหนึ่ง ทว่าอุทกภัยครั้งนี้กลับก่อความเสียหายทางการทูตอย่างรุนแรง ด้วยบรรดาเพื่อนบ้านที่อยู่แถบแม่น้ำโขงตอนล่างต่างสงสัยว่า การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนของจีน มีส่วนทำให้เกิดอุทกภัยครั้งนี้ ชาวไทยจากอำเภอเชียงแสน และเชียงของจังหวัดเชียงราย รวมทั้งประชาชนจากมุกดาหารซึ่งตั้งอยู่ติดแม่น้ำโขงเชื่อว่า การปล่อยน้ำจากเขื่อน 3 แห่งในประเทศจีนมีส่วนหนุนให้อุทกภัย ที่เกิดจากฝนตกหนักรุนแรงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ชาวไทยยังเชื่อว่า การระเบิดเกาะแก่ง และขุดลอกแม่น้ำโขง เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของจีน เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงผิดปกติ

อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งรับผิดชอบการพัฒนาบริหารทรัพยากรน้ำ และการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน โดยประกอบด้วยสมาชิกจากประเทศกัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม กลับระบุว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่สูงขึ้นเกิดจากฝนตกหนัก ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปิดประตูระบายน้ำของจีน อุทกภัยมีสาเหตุมาจากพายุคามมูริที่เข้าสู่ภูมิภาคในช่วงวันที่ 8-10 สิงหาคม

ทางคณะกรรมาธิการยังระบุว่า สำหรับอุทกภัยที่เวียงจันนั้นระดับน้ำครึ่งหนึ่งมีต้นกำเนิดมาจากจีน ส่วนที่เหลือมาจากแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง คณะกรรมาธิการสรุปว่า “ระดับน้ำที่สูงขึ้นเป็นผลจากปัจจัยอุตุนิยมวิทยา ไม่ใช่จากเขื่อนในจีนที่สะสมปริมาณเพียงเล็กน้อย ไม่ถึงขั้นที่จะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขง”

ทัศนะดังกล่าวได้รับการสนุบสนันจากอดีตนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช และกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขงได้ออกแถลงการณ์คัดค้านทัศนะข้างต้น พร้อมเรียกร้องให้จีนเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนในประเทศ นอกจากทางเครือข่ายแล้วในหมู่ข้าราชการระดับสูงของไทยเอง ก็มีทัศนะไปในด้านตรงข้ามกับอดีตนายกรัฐมนตรี

ประสงค์ โฆษิตานนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่กำลังศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอุทกภัย และเราอาจขอข้อมูลเกี่ยวกับเวลาและปริมาณน้ำที่ปล่อยออกจากเขื่อนจีน ประสงค์กล่าวว่า หากไม่ได้รับความร่วมมือจากจีน ภาคอีสานอาจต้องเผชิญกับอุทกภัยที่ร้ายแรงกว่านี้ แม้แต่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงประจำประเทศไทย ยังมีทัศนะที่ต่างจากสำนักงานใหญ่ โดยคณะกรรมาธิการแสดงท่าทีว่าจะขอให้รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ช่วยขอข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนในประเทศจีน
การประมงริมฝั่งโขง วิถีชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงในแม่โขง - เอเยนซี
จีนนิ่งไม่เปิดแผยข้อมูล

อย่างไรก็ตามทางการจีนยังคงลังเลที่จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อน ซึ่งรวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อระบบนิเวศและระดับน้ำ การปกปิดข้อมูลนี้ทำให้จีนถูกโจมตีจากบรรดานักอนุรักษ์ และเพื่อนบ้านอาเซียนที่ต้องการความชัดเจน เธนศ ดาวาสุวรรณ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำเปิดเผยกับบางกอกโพสต์ว่า ทางกรมมีข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนจีนจำกัด ขณะที่ บูรฉัตร บัวสุวรรณ เจ้าหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเจ้าหน้าที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงกล่าวว่า “จีนเปิดเผยข้อมูลการระบายน้ำออกจากเขื่อนในช่วงฤดูฝนเท่านั้น ที่ผ่านมาเราทำเรื่องขอข้อมูลไปหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบกลับ”

ทั้งนี้จีนได้สร้างเขื่อน 3 แห่งในแม่น้ำโขงตอนบน ประกอบด้วยเขื่อนม่านวาน เขื่อนต้าเฉาชาน และเขื่อนจิ่งหง โดยทั้งสามเขื่อนสามารถกักเก็บน้ำรวมกันเป็นปริมาณ 3,043 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นปริมาณที่สามารถก่อผลกระทบต่อการไหลเวียนของกระแสน้ำในแม่น้ำโขงตอนบน อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่จีนให้เหตุผลปฏิเสธว่า เขื่อนไม่กระทบต่อการไหลเวียนของน้ำในแม่น้ำโขง เนื่องจากปริมาณน้ำในพื้นที่ตอนบนที่เขื่อนตั้งอยู่มีสัดส่วนไม่มาก ดังนั้นจึงไม่ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขงตอนล่าง

การขยายตัวของเศรษฐกิจทำให้ทางการจีนต้องการไฟฟ้าจำนวนมาก และทางรัฐบาลก็มีโครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงถึง 15 แห่ง ในระยะใกล้นี้คาดว่า จะสามารถสร้างเขื่อนเสี่ยววาน ซึ่งมีระดับความสูง 292 เมตรแล้วเสร็จในปี 2013 โดยเสี่ยววานจะมีศักยภาพผลิตไฟฟ้าได้ 4,200 เมกะวัตต์ ความใหญ่โตของเขื่อนเสี่ยววานทำให้บรรดาผู้ที่อยู่ในบริเวณแม่น้ำโขงตอนล่างกังวล ทว่าทางการจีนกลับให้ข้อมูลว่า ในฤดูฝนเขื่อนจะช่วยลดปริมาณการไหลของน้ำ 17% และในฤดูแล้งจะเพิ่มปริมาณการไหลเวียนของน้ำ 40%

อย่างไรก็ตามเป็นที่แน่ชัดว่า การสร้างเขื่อนมีผลกระทบต่อระบบนิเวศและระดับน้ำ ชาวบ้านในเชียงของระบุว่า เมื่อทางการจีนเปิดประตูระบายน้ำ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนทางนักอนุกรักษ์ก็เปิดเผยว่า เขื่อนส่งผลกระทบต่อกระแสน้ำ ทำลายเกาะแก่งซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพันธุ์ปลาหลากชนิด
แผนที่แสดงการสร้างเขื่อนของจีน - เอเยนซี
นอกจากเรื่องอุทกภัยแล้ว ที่ผ่านมาการสร้างเขื่อนของจีนมักถูกวิจารณ์ว่า เป็นตัวการกักเก็บน้ำทำให้เกิดภาวะแห้งแล้ง เมื่อปี 2004 จีนถูกวิจารณ์ว่า เป็นตัวการทำให้เกิดภาวะแห้งแล้งทำลายพืชผลและการประมงในแม่น้ำโขงตอนล่าง รวมทั้งทำให้ปริมาณน้ำลดจนเรือเกยตื้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการขนส่งสิ้นค้าทางเรือหลายรายระบุว่า ในช่วงที่จีนก่อสร้างเขื่อนมีการกักเก็บน้ำ กระทั่งทำให้ปริมาณน้ำลดลง การเดินทางที่ใช้เวลาไม่กี่วันกลายเป็นหลายสัปดาห์

ผลประโยชน์พี่ใหญ่มาก่อน

เมื่อปี 2004 คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแถลงว่า เขื่อนจีนส่งผลทำให้ภัยแล้งรุนแรงยิ่งขึ้น พร้อมทั้งส่งจดหมายไปยังทางการจีนเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนในแม่น้ำโขง อย่างไรก็ตามทางการจีนมิได้เปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนออกมา นอกจากนี้จีนยังไม่อนุญาตให้มีการศึกษาผลกระทบจากเขื่อนโดยกลุ่มศึกษาอิสระ ในประเทศจีนการถกเถียงเกี่ยวกับผลกระทบของเขื่อนไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงกันมากนัก ด้วยประเด็นดังกล่าวถูกจัดอยู่ในเรื่องความมั่นคงของชาติ

ทางปักกิ่งย้ำเสมอมาว่า จีนพัฒนาพื้นที่แม่น้ำโขงตอนบน ซึ่งอยู่ในเขตอธิปไตยจีน ดังนั้นจึงไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงตอนล่าง ข้อเรียกร้องโดยองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ที่ขอให้จีนชดเชยค่าเสียหายให้กับบรรดาผู้ที่ได้รับผลกระทบก็มักถูกปฏิเสธ

ท่าทีแข็งกร้าวในเรื่องแม่น้ำโขงนี้ ตรงข้ามกับท่าทีที่นุ่มนวลในเรื่องการบูรณาการทางเศรษฐกิจกับอาเซียน ที่จีนยอมเปิดตลาดให้ ทั้งยังให้กู้เงินจำนวนมากสร้างสาธารณูปโภค หากพิจารณาจากมุมมองของจีน นโยบายต่ออาเซียนเป็นเรื่องของการเข้าถึงตลาด นำสินค้าจีนบุกทะลวงไปยังภูมิภาค พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ทางออกสู่ทะเลให้กับมณฑลตอนในของจีน มากกว่านโยบายใจดีที่จะเอื้อผลประโยชน์ให้กับเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้การที่จีนไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ทำให้หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าหากจีนไม่เข้าร่วม คณะกรรมาธิการก็เป็นได้แค่เสือกระดาษ ทว่าหากจีนเข้าร่วมเป็นสมาชิก จีนก็ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์มากมาย ซึ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ผลดีต่อทุกฝ่าย ฉะนั้นกฎเกณฑ์ดังกล่าวย่อมเป็นอุปสรรคขวางกั้นต่อการพัฒนาอย่างอิสระของจีน ซึ่งจีนรับไม่ได้

อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมาธิการได้ดึงจีนเข้ามาร่วมมือระดับหนึ่ง ในฐานะประเทศคู่เจรจาที่มิใช่สมาชิก ในปี 2002 คณะกรรมาธิการยังได้ชักจูงให้จีนแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับแม่น้ำโขงจากสถานีปฏิบัติการสองแห่ง หนึ่งในนั้นคือสถานีจิ่งหง ซึ่งตั้งอยู่ใต้เขื่อน 3 แห่ง ประเด็นเรื่องการพยากรณ์อุทกภัยกลายมาเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจมาก หลังจากอุกทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2000 ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 800 รายในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ครั้นปี 2005 ทางการจีนจึงตกลงที่จะจัดการประชุมเชิงเทคนิคกับคณะกรรมาธิการ โดยประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายร่วมพูดคุยกัน รวมถึงเรื่องการจัดการอุทกภัย

เมื่อปีที่แล้วทางปักกิ่งตกลงที่จะให้ข้อมูลระดับน้ำ 24 ชั่วโมงในแม่น้ำโขง และปริมาณน้ำฝน 12 ชั่วโมงกับทางคณะกรรมาธิการ โดยแลกเปลี่ยนกับข้อมูลการไหลของกระแสน้ำในแม่น้ำโขงตอนล่าง อย่างไรก็ตาม การเข้าเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการคงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายต้องฝันไปอีกนาน ด้วยจีนอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบในฐานะประเทศต้นน้ำ และความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ จะเป็นแรงผลักดันให้จีนต้องสร้างเขื่อนเพิ่ม ฉะนั้นการเข้าเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการจึงเป็นไปได้ยาก

ในสายตาจีน ณ ปัจจุบันแม่น้ำโขงเป็นทรัพยากรเพื่อการผลิตพลังงาน มากกว่าที่จะเป็นเส้นทางคมนาคม เนื่องด้วยการคมนาคมในแม่น้ำโขงได้ถูกแทนที่ด้วยเครือข่ายถนนเส้นทาง อาร์ 3 เอ ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างมณฑลหยุนหนัน (ยูนนาน) ลาว และไทย ทำให้การขนส่งสินค้าใช้เวลาลดลง จากมณฑลหยุนหนันสู่ภาคเหนือของไทย การขนส่งสินค้าผ่านแม่น้ำโขงซึ่งใช้เวลาหลายวัน จะถูกย่นระยะเวลาเหลือไม่กี่ชั่วโมง

หากการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างระหว่างอ.เชียงของ จังหวัดเชียงรายกับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ของลาวเพื่อรับถนนอาร์สามเอแล้วเสร็จ สินค้าจากหยุนหนันก็จะสามารถเข้าถึงตลาดอุษาคเนย์ได้โดยตรง นอกจากนี้มณฑลตอนในของจีนยังอาจใช้ท่าเรือที่อ่าวไทย หรือทะเลอันดามันกระจายสินค้าออกไปได้อีก และการที่จีนมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับพม่า ยังช่วยให้สามารถเปิดเส้นทางไปยังมหาสมุทรอินเดียผ่านท่าเรือซิตตเว
กำลังโหลดความคิดเห็น