xs
xsm
sm
md
lg

PPI จีนสูงสุดในรอบ 12 ปี โหมกระแสเงินเฟ้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผังแสดงดัชนีราคาผู้ผลิตในจีนของเดือน ก.ค. ที่พุ่งสูง 10.0%  ซึ่งสูงสุดในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่ปี 1996 -รอยเตอร์
เอเอฟพี – กรมสถิติจีนเผยดัชนีราคาผู้ผลิต(พีพีไอ) ประจำเดือนกรกฎาคมทยานตัวสูงแตะ 10.0 % สูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 12 ปี ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญวิตกอาจกระทบเงินเฟ้อ ขณะที่ยอดเกินดุลจีน บ่ายหน้าลดลงต่อไป

สำนักข่าวซินหัวระบุดัชนีราคาผู้ผลิต(พีพีไอ) หรือดัชนีราคาขายส่ง ซึ่งเป็นการวัดราคาก่อนจะนำสินค้าออกจากโรงงานไปขายต่อยังร้านค้าปลีกในเดือนกรกฎาคมพุ่งสูงถึงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งนับว่าขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงสุดในรอบ 12 ปี นับจากปี 1996 และส่งผลให้ดัชนีพีพีไอเดือนม.ค.- ก.ค. พุ่งสูงที่ 8.0 % ขณะที่พีพีไอครึ่งปีแรกในปี 2008 ทะยานขึ้นร้อยละ 7.6

ทั้งนี้ พีพีไอเป็นเครื่องบ่งชี้สำคัญอีกตัวที่สะท้อนภาวะเงินเฟ้อ นอกเหนือจากดัชนีราคาผู้บริโภคหรือซีพีไอซึ่งเป็นปรอทวัดเงินเฟ้อตัวหลัก

สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น จาง ลี่ฉวินนักวิจัยจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจมหภาคแห่งศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งชาติจีน(DRC) ระบุว่า สืบเนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานและราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น จึงทำให้ราคาขายส่งที่ผลิตออกมามีราคาสูงขึ้นด้วย ซึ่งจางยังได้กล่าวอีกว่า ในสภาพเช่นนี้อาจทำให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจยากยิ่งขึ้น จนอาจก่อให้เกิดเงินเฟ้อในที่สุด หรือไม่เช่นนั้น ก็อาจจะผลักดันให้ผู้ประกอบการเร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตอีกระดับ

โดยในเดือนก.ค. ที่ผ่านมา ราคาจัดซื้อวัตถุดิบ เชื้อเพลิง และพลังงานได้ขยับขึ้นร้อยละ 15.4 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าราคาจัดซื้อในเดือนมิถุนายนถึงร้อยละ 1.9

วันเดียวกัน  สำนักข่าวซินรายงานโดยอ้างกรมศุลกากรจีน ระบุว่ายอดเกินดุลการค้าจีนตกลง 9.6% ระหว่างช่วง 7 เดือนแรกของปี 2008 นี้ เท่ากับ 123,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยยอดเกินดุลการค้าเฉพาะในกรกฎาคม เท่ากับ 25,300 ล้านเหรียญสหรัฐ  หดลงไปราว 900 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า

กลุ่มนักวิเคราะห์ที่ไม่ระบุชื่อชี้เหตุที่หั่นยอดเกินดุลนี้ลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายของรัฐบาล ที่จงใจลดยอดเกินดุลการค้า อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญก็มาจากราคาวัตถุดิบและพลังงานนำเข้าที่เพิ่มสูงด้วย

ทั้งนี้ ยอดเกินดุลการค้าได้เป็นเหตุความบาดหมางระหว่างกลุ่มคู่ค้ารายใหญ่ของจีนได้แก่ สหรัฐ และยุโรป ซึ่งต่างกล่าวหาว่าจีนจงใจกดค่าหยวนให้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และสร้างความได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรมแก่ผู้ส่งออกจีน จนมีการบีบการปรับค่าเงินหยวน  จนกระทั่งกลุ่มผู้กำหนดนโยบายจีนต้องออกมาตรการคลี่คลายปัญหา.
กำลังโหลดความคิดเห็น