xs
xsm
sm
md
lg

นักลงทุนรายย่อยไต้หวันครวญ โดนหางเลข“เลห์แมน”ล้มละลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เลห์แมน บราเธอร์ส อดีตวาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐฯ ได้ยื่นขอความคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลายที่นิวยอร์กเมื่อวันจันทร์ (15 ก.ย. 2551)
เอเชี่ยน วอลสตรีท เจอร์นัล – เหยื่อของวิกฤตการณ์ยักษ์วอลสตรีทล้มครืน ไม่จำกัดวงอยู่แค่กลุ่มธนาคารและบริษัทกองทุนเท่านั้นเสียแล้ว เพราะล่าสุดมีรายงานว่า นักลงทุนรายย่อยของไต้หวันเจอวิกฤตขาดทุนยับจากการลงทุนในตั๋วสัญญา (structured notes) ของเลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้งส์กว่า 40,000 ล้านเหรียญไต้หวัน

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา นักลงทุนไต้หวันจำนวนมากพยายามติดต่อธนาคารท้องถิ่นที่รับผิดชอบจำหน่ายตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (structured notes)ของเลห์แมน เพื่อหวังจะได้เงินคืนหรือได้รับเงินชดเชยเพราะขาดทุนหนักจากการลงทุนในตั๋วสัญญาดังกล่าว

ตามข้อมูลระบุว่า นักลงทุนในไต้หวันลงทุนในตั๋วสัญญา structured notes ของเลห์แมนเป็นมูลค่าสูงถึง 78,100 ล้านเหรียญไต้หวัน (2,440 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในจำนวนนี้นักลงทุนรายย่อยลงทุนไปเสีย 40,000 ล้านเหรียญไต้หวัน ซึ่งนับเป็นมูลค่าสูงกว่าครึ่งเสียอีก ขณะที่บริษัทการเงินอื่นๆ อาทิ ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจัดการกองทุน และบริษัทประกันภัยครองสัดส่วนที่เหลือ

ต่อปัญหาดังกล่าวในไต้หวัน ทางโฆษกของเลห์แมนประจำฮ่องกงกล่าวว่า ธนาคารปฏิเสธแสดงความเห็น ขณะที่เลขานุการของผู้อำนวยการบริษัทเลห์แมนสาขาไต้หวันก็ออกตัวว่า ทางเลห์แมนไต้หวันไม่ได้เป็นผู้จำหน่ายตั๋วสัญญาดังกล่าว และทางบริษัทไม่ขอออกความคิดเห็นใดๆ ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ ตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (structured notes) นั้น มีการกำหนดผลตอบแทนไว้ใกล้เคียงกับตราสารหนี้ อาทิ พันธบัตร เป็นต้น แต่แตกต่างกันในรายละเอียดเช่นจะมีการกำหนดผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยอ้างอิงกับตัวแปรอื่นๆ เช่น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ราคาน้ำมัน หรือสกุลเงินต่าง ๆ

นายธนาคารรายหนึ่งเผยว่า ไต้หวันเป็นหนึ่งในดินแดนไม่กี่แห่งของเอเชีย ที่สามารถจำหน่ายตั๋วสัญญา structured notes ให้แก่นักลงทุนรายย่อยได้ นอกจากนี้การที่ธนาคารท้องถิ่นเดินเครื่องผลักดันบริการด้านบริหารจัดการความมั่งคั่งมากขึ้น จึงทำให้การลงทุนตั๋วสัญญาประเภทนี้เริ่มเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว โดยคณะกรรมการกำกับดูแลภาคการเงินแห่งไต้หวัน (FSC) ประมาณการว่า มีธนาคารถึง 20 เจ้า ที่จำหน่ายตั๋วสัญญาของเลห์แมนไปให้แก่นักลงทุนรายย่อยราว 51,000 ราย

“คณะกรรมการกำกับดูแลภาคการเงินล้มเหลวในการตรวจสอบความเสี่ยงของเครื่องมือทางการเงิน แถมยังอนุมัติให้ธนาคารต่างๆ สามารถซื้อขายผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างเสี่ยงเหล่านี้ให้แก่นักลงทุนประเภทอนุรักษ์นิยม (Conservative) ที่ไม่ชอบความเสี่ยงและไม่คาดหวังผลตอบแทนสูงนักโดยไม่คิดรับผิดชอบ” อลิส หวง นักบัญชีจากบริษัทเอ็กซ์เซล ไฟแนนเชียล เซอร์วิส ซึ่งกำลังช่วยเหลือนักลงทุนกลุ่มหนึ่งเรียกร้องเงินชดเชยจากธนาคารไต้หวัน “ไชน่าทรัสต์ ไฟแนนเชียล โฮลดิ้ง” เพราะขาดทุนยับจากการลงทุนในตั๋วสัญญาเลห์แมน

ไชน่าทรัสต์ จำหน่ายตั๋วสัญญาเลห์แมนไปทั้งสิ้นมูลค่า 16,900 ล้านเหรียญไต้หวัน (526.9 ล้านเหรียญสหรัฐ) ให้แก่นักลงทุนรายย่อย ซึ่งทางบริษัทได้ออกมาแถลงข่าวแล้วว่า จะพยายามสุดความสามารถเพื่อช่วยให้นักลงทุนสามารถปล่อยตั๋วสัญญาและได้เงินคืน

ด้านซู เซิ่งหลง นักลงทุนเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งถือตั๋วสัญญาเลห์แมนมูลค่า 20,000 เหรียญสหรัฐระยะเวลา 2 ปี โดยจำหน่ายผ่านธนาคารต้าจ้ง (Ta Chong Bank) กล่าวว่า เขาเคยคิดว่าหลังจากถือครบ 2 ปีแล้ว จะได้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ย 7% ต่อปี แต่ตอนนี้เขากำลังเตรียมใจขาดทุน “ก็มันเป็นวิกฤตการณ์ทั่วโลกนี่นา” เขากล่าวอย่างปลงตก

นอกจากตั๋วสัญญาของเลห์แมนแล้ว ซูยังถือตั๋วสัญญาที่ออกโดยเมอร์ริลล์ ลินช์, ยูบีเอส และผู้ระดมทุนอีก 2 ราย แต่ตอนนี้เขาก็เริ่มปล่อยตั๋วที่ถืออยู่บ้างแล้ว

ด้านติง จื้อเจี๋ย ผู้จัดการฝ่ายทรัสต์ของธนาคารต้าจ้งกล่าวว่า กองทุนทั้งหมดของเลห์แมนถูกแช่แข็งเป็นเวลา 120 วัน นับตั้งแต่เลห์แมนยื่นคำร้องต่อศาลขอความคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลายของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามทางต้าจ้งรับปากว่าจะพยายามเต็มที่ในการช่วยเหลือนักลงทุนให้ปล่อยตั๋วสัญญาเหล่านี้ไปให้ได้

ขณะเดียวกันเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ต้าจ้งยังได้เริ่มอนุญาตให้นักลงทุนปล่อยตั๋วสัญญาที่ออกโดยธนาคารอื่นๆ ด้วย อาทิ ยูบีเอส และ มอร์แกน แสตนลีย์
กำลังโหลดความคิดเห็น