xs
xsm
sm
md
lg

จีนคืบหน้าปราบสินค้าผี หวังดันภาพลักษณ์ “เมด อิน ไชน่า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซี่ – ถึงแม้คนขายนาฬิกาโรเล็กซ์ปลอมเรือนละ 1 ดอลลาร์แถวนครต้องห้ามในกรุงปักกิ่งจะยังไม่สูญพันธุ์ไปจากแดนมังกร แต่ก็เริ่มมีคนปรบมือให้รัฐบาลจีนกันบ้างแล้ว เมื่อเห็นความพยายามในการปกป้องทรัยพ์สินทางปัญญา

เมื่อเดือนที่แล้ว ตำรวจจีนได้เข้าจับกุมผู้ปฏิบัติการเว็บไซต์ “โทเมโท การ์เด้น” (Tomato Garden) หลังจากพบว่ามีการลักลอบดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ของบริษัทไมโครซอฟต์หลายล้านเวอร์ชั่นจากเว็บไซต์รายนี้ นอกจากนั้น เมื่อฤดูใบไม้ผลิปีที่แล้ว ศาลของจีนยังมีการพิพากษาคดีหลายคดี อันเป็นประโยชน์ต่อเฟอร์เรโร่ (Ferrero) บริษัทผู้ผลิตช็อกโกแล็ตของอิตาลี และแบรนด์สินค้าหรูกุ๊ชชี่ (Gucci)

ลี แซนด์ส อดีตหัวหน้าผู้เจรจาการค้าของสหรัฐฯ กับจีนเห็นว่า จีนมีความคืบหน้าในการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างกว้างขวาง

“ รัฐบาลจีนมีการเปลี่ยนแปลงความคิดอย่างเห็นได้ชัด” แซนด์สระบุ

การหันไปกวาดล้างสินค้าเถื่อนย่อมสอดคล้องกับความประสงค์ของจีนเอง ที่ต้องการลบล้างภาพลักษณ์ของประเทศ ที่ผู้คนมองว่า แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกใช้งานหนักในโรงงานที่มีสภาพเลวร้าย เพียงเพื่อค่าตอบแทนอันน้อยนิด ขณะที่โรงงานเหล่านี้ปล่อยน้ำเสียและมลพิษในอากาศ

ในทรรศนะของรัฐบาลจีนนั้น “เมด อิน ไชน่า” ไม่ควรทำให้ใครนึกถึงดีวีดี ซึ่งผลิตออกมาพรวด ๆ แต่ต้องนึกถึงอุตสาหกรรม ที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้า , สร้างสรรค์ และสะอาด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นี่คือประเทศ ซึ่งมีสนามกีฬาโอลิมปิก ที่ทำให้โลกละลานตามาแล้ว และยังกำลังเตรียมส่งนักบินออกไปย่ำอวกาศเป็นครั้งแรกในเดือนนี้อีกด้วย

จีนอาจเป็นโรงงานของโลก แต่โดยตัวของจีนเองนั้น สร้างมูลค่าได้เพียงเล็กน้อย โดยไอพอดวิดีโอ 30 กิ๊กกะไบต์ของแอ๊ปเปิ้ล ที่ประกอบในจีน มีราคาส่งออกเครื่องหนึ่ง 150 ดอลลาร์เมื่อปี2549 แต่ราคาที่บวกเพิ่มโดยผู้ผลิตชาวจีนนั้นมีแค่ 4 ดอลลาร์เท่านั้น จากข้อมูลของเดอะ เนชั่นแนล บิวโร ออฟ อีโคโนมิก รีเสิร์ช (the National Bureau of Economic Research ) บริษัทวิจัยเอกชนของสหรัฐฯ
หวัง จวินยื่นข้อเสนอให้ LV ซื้อสิทธิบัตร “หลุยส์จีน” ในราคาเพียง 1 หยวน ในภาพ: หวังจวิน พร้อมเอกสารรับรองสิทธิบัตร หลุยส์ เมด อิน ไชน่า(ซ้าย), พรีเซนเตอร์กระเป๋าถือแบรนด์ดัง(ขวา)
จีนต้องการมีรายได้มากขึ้นจากการออกแบบสินค้าใหม่ ๆ และสร้างยี่ห้อสินค้าขึ้นมา นี่ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ

ดังนั้น วิธีการหนึ่งก็คือกำจัดโรงงานที่ผลิตสินค้าระดับล่างและใช้แรงงานหนักออกจากสาระบบธุรกิจ แล้วหันมาส่งเสริมการสร้างสิ่งใหม่ ๆ โดยเพิ่มความเข้มงวดกวดขันเกี่ยวกับลิขสิทธิ์และยี่ห้อสินค้าให้มากขึ้น

“สุดท้ายแล้ว มันเป็นเรื่องผลประโยชน์ของตัวเองล้วน ๆ” แซนด์สกล่าว ปัจจุบัน เขาเป็นผู้กรรมการผู้จัดการของเซียร์ร่า เอเชีย (Sierra Asia) บริษัทที่ปรึกษาการตลาดและการลงทุน ซึ่งเชี่ยวชาญเกี่ยวกับจีน

การละเมิดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเป็นปมขมขื่นในการดำเนินความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนกับชาติอื่น ๆ กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตภาพยนตร์, เพลง, ซอฟต์แวร์ และหนังสือของสหรัฐฯ ประเมินการขาดทุนโดยรวมในจีนเมื่อปีที่แล้วจากการถูกปลอมแปลงสินค้าจำนวน 3,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าเมื่อปี 2544 ถึง 3 เท่า

หอการค้าสหภาพยุโรป หรืออียู ระบุว่าการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในจีนยังคงเป็นความวิตกกังวลใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งในหมู่สมาชิก 1,300 ราย

นาย Jorg Wuttke ประธานหอการค้าอียูเคยแสดงความพิศวงงงงวย ที่พวกผู้นำจีนเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับแก๊งอาชญากรรม ที่อยู่เบื้องหลังการผลิตสินค้าปลอม ตั้งแต่เสื้อผ้ายี่ห้อดัง ไปจนถึงไม้กอล์ฟ

แต่ในรายงานประจำปีของหอการค้าอียูก็ได้ระบุว่า สินค้าปลอมจากจีนที่ยึดได้ตามพรมแดนอียูมีจำนวนลดลงจากร้อยละ 80 ในปี 2549 เหลือร้อยละ 60 เมื่อปีที่แล้ว

รายงานยังได้ชมเชยรัฐบาลปักกิ่ง ที่“พยายามอย่างเห็นได้ชัด” ในการปรับปรุงระบบกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ และระบุว่า สินค้าปลอม ซึ่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรจีนยึดได้ รวมมูลค่าแล้ว สูงกว่าในปี 2550 ถึง 2 เท่า

พอล แรนจาร์ด ประธานคณะทำงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของหอการค้าอียูระบุว่า ร่างกฎหมายสิทธิบัตร ซึ่งได้รับการพิจารณาทบทวนฉบับที่ 3 ของจีน มีการตอบสนองต่อข้อสงวนที่ระบุในกฎหมายของอียูถึงกว่าร้อยละ 80

“ เรารู้สึกโล่งอก เพราะได้เห็นความตั้งใจของจีน” เขากล่าว

แรงกดดันจากต่างชาติอาจเข้ามามีบทบาท แต่ความคืบหน้าครั้งนี้ยังเป็นผลมาจากการผลักดันของนักวิทยาศาสตร์และผู้สร้างภาพยนตร์ของจีนเองด้วย ที่ต้องการให้มีการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของพวกตนให้ดีขึ้น

สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งรัฐของจีนได้จดบันทึกการยื่นขอสิทธิบัตรถึงเกือบ 700,000 รายเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมากกว่าประเทศใด ๆ

หวัง จงจวิน ประธานไชน่า หัวอี้ บราเทอร์ส มีเดีย กรุ๊ป (China Huayi Brothers Media Group) บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์เอกชนรายใหญ่ที่สุดในจีนระบุว่า สินค้าผีเป็นสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งบนแดนมังกร

“แต่เป็นสิ่งดีที่คุณมองเห็นได้ว่ารัฐบาลกำลังเพิ่มการปราบปรามพวกลักลอบปลอมแปลงสินค้า” หวังกล่าว

“สถานการณ์ดีกว่าช่วงสองสามปีก่อนเยอะครับ”
กำลังโหลดความคิดเห็น