รอยเตอร์ – ศึกโฆษณาของบรรดาสปอนเซอร์และบริษัทข้ามชาติที่สนับสนุนโอลิมปิกปักกิ่ง เป็นไปอย่างคึกคัก ทำตลาดชูสินค้าหวังสร้างค่านิยมในกลุ่มผู้บริโภคแดนมังกรรุ่นใหม่
ในขณะที่ชาวจีนตั้งตารอคอยมหกรรมโอลิมปิกอย่างใจจดจ่อ โฆษณาและการประชาสัมพันธ์ของกลุ่มผู้สนับสนุนโอลิมปิกก็ผุดขึ้นทั่วเมืองอย่างหลากหลายรูปแบบ นับตั้งแต่แผ่นป้ายโฆษณาแบบดั้งเดิม ไปจนถึงสื่อโทรทัศน์และบนเวบไซต์ต่างๆ
“การลงทุนในลักษณะนี้ หาไม่ได้อีกแล้ว” เกร็ก พอลล์ ประธานบริษัท R3 Asia Pacific Consultant บริษัทชั้นนำที่ให้คำแนะนำด้านการลงทุนระบุ นอกจากนี้ R3 ยังระบุด้วยว่าเมื่อมหกรรมโอลิมปิกปักกิ่งจบสิ้นลง บริษัทต่างชาติ อาทิ โคลา-โคล่า,อดิดาส,อีลี่ กรุ๊ป และเลอเวอโนจะยังคงร่วมแบ่งชิ้นเค้กในตลาดจีนต่อไป
นอกจากนี้R3 เผยว่าในปี 2008 นี้ เม็ดเงินในระบบอุตสาหกรรมโฆษณาของจีนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 19 % คิดเป็นมูลค่า 54,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจากโอลิมปิกที่ช่วยหนุนทำให้งบการลงทุนโฆษณาจากต่างชาติเพิ่มขึ้น 8,600 ล้านเหรียญฯ นอกจากนี้พบว่าเงินลงทุนของกลุ่มสปอนเซอร์โอลิมปิกก็มีมากถึง 21,800 ล้านหยวน หรือ 3,200 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 52 จากปีก่อนหน้า
ด้านอดิดาสยักษ์ใหญ่อุปกรณ์กีฬาจากเยอรมนีซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนโอลิมปิกปักกิ่งอย่างเป็นทางการ ก็หวังว่าในปีนี้จะสามารถเจาะตลาดใหญ่อย่างจีนได้สำเร็จเหนือคู่แข่งอย่างไนกี้
“กิจกรรมการตลาดในประเทศจีนมีขนาดใหญ่สุด และเราได้มองจีนเป็นเวทีแห่งการต่อสู้ เพื่อที่จะสามารถก้าวขึ้นสู่แถวหน้าเหนือคู่แข่งรายอื่นในตลาดสำเร็จ” เอริกา เคอร์เนอร์หัวหน้าโครงการโอลิมปิกปักกิ่งของอดิดาส กล่าว
เศรษฐกิจเหนือการเมือง
ด้านแบรนด์ไนกี้ ผู้สนับสนุนนักกีฬาและทีมฟุตบอลจีน แต่กลับไม่สนฐานะผู้สนับสนุนโอลิมปิกอย่างเป็นทางการ เนื่องจากมองว่ายุทธศาสตร์ของโอลิมปิกที่มีต่อแบรนด์ค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศจีนมีระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้บริษัทข้ามชาติหลายรายต่างมองว่าเป็นตลาดสำคัญในการลงทุน เช่นเดียวกับอดิดาสที่คาดว่าในปี 2010 จีนจะกลายเป็นตลาดใหญ่อันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา
ทว่าทุกอย่างกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เมื่อเกิดเหตุการณ์จลาจลกลางกรุงลาซา เขตปกครองตนเองทิเบตในวันที่ 14 มีนาคม มีกลุ่มต่อต้านรัฐบาลจีนลุกฮือ ทำให้กลุ่มสปอนเซอร์ต่างผวาไปตามๆกัน หวั่นภาพลักษณ์เป็นแบรนด์เปื้อนเลือด หลังจากที่จีนใช้กำลังปราบผู้ก่อความไม่สงบในทิเบต
เมื่อกล่าวถึงประเด็นการเมืองก่อนมหกรรมโอลิมปิกเปิดฉาก พอลล์กล่าวว่า นี้คือบททดสอบหนึ่งของบริษัทข้ามชาติ ซึ่งพอลล์มองว่าในการดำเนินธุรกิจ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่อาจเลี่ยงได้ อีกทั้งปัญหาทางการเมืองก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโฆษณามากนัก ตรงกันข้ามบริษัทเหล่านี้กลับสามารถพลิกวิกฤตทำการตลาดโฆษณาสินค้าของตนเองได้
กลุ่มผู้สนับสนุนโอลิมปิกนอกจากจะมีรายจ่ายในส่วนของการทำโฆษณาแล้ว ยังมีกลยุทธ์อื่นๆอีกมากมายในการพัฒนาแบรนด์ของตนเอง เช่น บริษัทโคคา-โคล่า ได้ทุ่มเงินจำนวนหนึ่งให้กับลูกค้าซึ่งเป็นกลุ่มพนักงานบริษัทจีนเดินทางไปชมการแข่งขันโอลิมปิกที่ปักกิ่ง ส่วนอดิดาส ก็นำกลยุทธ์ประมูลสินค้าอุปกรณ์กีฬาการกุศล ที่ออกแบบโดยจิตรกรทั่วโลกถึง 75 คน ซึ่งรายได้ทั้งหมดจะมอบให้กับผู้ประสบภัยธรณีไหวในมณฑลเสฉวน