ไอเอชที - บริษัทเยอรมันโดดลงทุนตลาดจีน สวนกระแสเศรษฐกิจขาลง แต่ไม่วายบ่นแข่งไม่ง่ายเหมือนก่อน ชี้การแข่งขันดุเดือด หยวนแข็ง-ค่าแรงเพิ่ม บวกปัจจัยซับไพรม์สหรัฐฯทำธุรกิจเยอรมนีในจีนต้องปรับตัว ลดต้นทุนสร้างจุดต่างสุดฤทธิ์
แม้หลายฝ่ายจะกังวลว่า เศรษฐกิจขาลงในสหรัฐฯจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทำผู้ส่งออกจีนและซับพลายเออร์ต่างชาติของบริษัทจีนเหล่านั้นทรุดตาม ทว่าบรรดาบริษัทเยอรมนียังคงสวนกระแส เร่งลงทุนค้าขายสินค้าทุนกับจีน หวังฟันกำไรจากตลาดเกิดใหม่ที่มีกำลังซื้อมหาศาล
ปีเตอร์ ชาฟ ประธานและซีอีโอของ เมสเซอร์ คัตติ้ง ซิสเต็มส์ บริษัทเยอรมนีที่ผลิตอุปกรณ์เลเซอร์ความแม่นยำสูงสำหรับอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปี 2008 บริษัทของเขาเพิ่มการผลิตสินค้าให้กับตลาดตะวันออกถึงสองเท่า โดยเฉพาะตลาดจีน “ปีนี้ธุรกิจในจีนค่อนข้างไปได้สวย และคาดว่าปีหน้าก็น่าจะดีด้วย”
สายสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจจีนกับเยอรมนีเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ขับเคลื่อนให้ภาคการส่งออกของเยอรมนีเติบโต ขณะที่การแข็งค่าของเงินยูโรทำให้บางประเทศต้องเผชิญกับปัญหา ทว่าการส่งออกจากเยอรมนีไปจีนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2008 กลับเพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับปี 2007
อย่างไรก็ตามตลาดจีนที่กลุ่มบริษัทเยอรมันเข้าไปขุดทองนั้น ค่อนข้างเต็มไปด้วยท้าทายต่างๆมากมาย วิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐฯส่งผลต่อธุรกิจส่งออกจีน ดังนั้นซับพลายเออร์เยอรมนีจึงได้รับผลกระทบด้วย อย่างไรก็ตามอุปสงค์ภายในของจีนค่อนข้างแข็งแกร่ง แถมมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2008 ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่จะกระตุ้นให้ตลาดภายในประเทศคึกคัก ดังนั้นบรรดาซับพลายเออร์เยอรมันจึงต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของตนให้ทันสภาพความเปลี่ยนแปลงนี้
เร่งปรับตัวสร้างฐานผลิตในจีน-เน้นคุณภาพ
แม้แต่บริษัทที่กอบโกยผลประโยชน์มหาศาลจากตลาดจีน อาทิ เมสเซอร์ ยังต้องตัดสินใจไปสร้างฐานการผลิตที่จีน เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง และทำให้บริษัทสามารถติดต่อ ปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์สนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
คาร์ล ทรักล์ ผู้บริหารฝ่ายขายและการตลาดของ บอช เร็กร็อธ ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฮเทคสำหรับอุตสาหกรรมกล่าวว่า “การผลิตสินค้าสนองความต้องการเฉพาะของลูกค้าในจีนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก การแข่งขันในจีนค่อนข้างดุเดือด ทำให้เราต้องเร่งปรับเปลี่ยน พัฒนาสินค้าเพื่อสนองความต้องการของตลาด”
ชาฟ ผู้บริหารของเมสเซอร์ ระบุว่า “ชื่อเสียงด้านคุณภาพ ทำให้สินค้าเยอรมันเป็นที่นิยมในจีน แม้ว่าเราจะผลิตสินค้าในจีน แต่เราก็ใช้เทคโนโลยีจากเยอรมนี ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเช่นเดียวกับที่ผลิตในเยอรมนี ดังนั้นสินค้าของเราจึงได้รับความนิยมสูง”
แคเตอร์พิลลาร์ ผู้ผลิตอุปกรณ์เหมืองแร่จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นลูกค้าของเมสเซอร์ ก็มีฐานการผลิตในจีนเช่นเดียวกัน แคเตอร์พิลลาร์ขายอุปกรณ์เหมืองแร่ให้กับบริษัทจีน แต่การที่จะสร้างอุปกรณ์ต่างๆเหล่านั้น แคเตอร์พิลลาร์ต้องอาศัยชิ้นส่วนที่ผลิตจากเมสเซอร์ด้วย
ชาฟกล่าวว่า “แคเตอร์พิลลาร์มักสั่งสินค้าที่มีรายละเอียดเฉพาะ ดังนั้นเพื่อเอาชนะคู่แข่งรายอื่นเราจึงต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ”
เครื่องจักรสิ่งทอทรุด ตกขบวนรถไฟ
อย่างไรก็ตาม บริษัทเยอรมันที่ผลิตสินค้าทุน อันได้แก่เครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตต่างๆ ก็มิได้ประสบความสำเร็จทุกรายไป แม้พวกเขาจะกระโจนสู่ตลาดแดนมังกร ที่เศรษฐกิจไตรมาสแรกโตอยู่ในอัตรา 10.6% ซึ่งนับว่าสูงมาก แม้จะลดลงจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2007 ซึ่งอยู่ที่ 11.2%
บรรดาบริษัทที่ต้องเผชิญกับความกดดันอย่างมากคือ ผู้ผลิตสินค้าทุนให้กับอุตสาหกรรมส่งออกสินค้าราคาถูกอาทิ สิ่งทอ เนื่องจากสินค้าราคาถูกพวกนี้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าลดลง ซึ่งส่งผลให้ความต้องการอุปกรณ์เครื่องจักรของผู้ผลิตกลุ่มนี้ถดถอยตาม
โธมัส วาลด์มันน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งทอของ VDMA engineering association ในเยอรมนีกล่าวว่า ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นและเงินหยวยนที่แข็งค่า เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลสะเทือนธุรกิจสิ่งทอจีน “เมื่อนำปัจจัยทั้งหมดมาพิจารณา ตลาดเครื่องจักรสิ่งทอปี 2008 จึงมีแนวโน้มซบเซา และคาดว่าต้นปี 2009 ก็จะเป็นเช่นเดียวกัน”
คาร์สเท่น วัยลานเดอร์ ผู้บริหารของ เออร์ลิคอน เท็กซ์ไทล์ ซึ่งผลิตเครื่องจักรขายให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอจีนระบุว่า “ยอดการสั่งซื้อปีนี้ลดลงราว 30% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว กระแสตลาดในจีนแย่มาก”
ทั้งนี้เออร์ลิคอนได้เข้าไปตั้งฐานการผลิตในจีน และจ้างแรงงานในจีนรวม 2,000 คน ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับยอดพนักงานของบริษัททั่วโลกที่มีทั้งหมด 8,000 คน ราคาวัตถุดิบ, ค่าแรง, และเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้น รวมทั้งปัจจัยเศรษฐกิจสหรัฐฯขาลงทำให้ตลาดสิ่งทอจีนเซื่องซึม
อย่างไรก็ตามผู้บริหารของเออร์ลิคอนยังคงมองโลกในแง่ดีว่า ในระยะยาวจีนจะยังคงเป็นฐานตลาดที่แข็งแกร่ง เพราะจีนมีประชากรมหาศาล เมื่อประชากรจีนให้ความสนใจกับแฟชั่นมากขึ้น ตลาดสิ่งทอจีนจะขยายตัวอย่างมาก