xs
xsm
sm
md
lg

สร้าง “เสียง” เพื่อ “ศิลป์” โคอิฉิ ชิมิสึ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เสียงนั้นทำให้คนเราสงบหรือบ้าคลั่งก็ได้

“นักออกแบบเสียง” คือผู้หนึ่งที่มีส่วนสร้างสรรค์เสียงที่ดีที่ไพเราะเพื่อบรรณาการหูของเรา

สถานบริการหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น โรงแรม, สปา ตลอดจน คนทำภาพยนตร์, เพลงประกอบโฆษณา ฯลฯ ผู้เชื่อว่าเสียงมีความสำคัญต่อการสร้างบรรยากาศ ล้วนแต่เรียกใช้งานเหล่านักออกแบบเสียงทั้งสิ้น

แม้แต่ในแวดวงคนทำงานศิลปะที่มิได้เชื้อเชิญผู้ชมให้ใช้ตาดูเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องใช้หูฟังเพื่อจิตนาการและตามติดความคิดที่พวกเขาต้องการนำเสนอผ่านผลงานที่เรียกว่า Sound Art นอกเหนือจากการเป็น “ศิลปิน” บทบาทหนึ่งนั้นพวกเขาก็มีอาชีพเป็นนักออกแบบเสียง เพื่อรับใช้งานประเภท Commercial Art ด้วย

จากนิทรรศการศิลปะ Pause & Play ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งคิวเรเตอร์สาว เบญจภา ธนะภูมิกุล คัดสรรผลงานภาพถ่ายขาวดำของช่างภาพชาวไทย และงานออกแบบเสียงของนักออกแบบเสียงชาวญี่ปุ่น มาจัดแสดงเพื่อร่วมฉลองโอกาสครบ 120 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – ญี่ปุ่น

ทำให้หลายคนได้รู้จักกับ โคอิฉิ ชิมิสึ ศิลปินชาวญี่ปุ่นผู้ปักหลักทำอาชีพด้านการออกแบบเสียงในไทยมาร่วม 5 ปี

อันที่จริงหูของเราเคยได้ยินเสียงที่เขาออกแบบมาก่อนหน้าแล้ว ไม่ว่าจะผ่าน Party Event Concert ของค่าย SO::ON Dry FLOWER ที่มีเขาเป็นเจ้าของค่าย,เพลงของเหล่านักร้องอินดี้บางวง รวมถึงในหนังสั้น 3 เรื่องและภาพยนตร์ 2 เรื่องคือ Invisible Waves และ พลอย ของผู้กำกับ ต้อม - เป็นเอก รัตนเรือง,ภาพยนตร์เรื่อง Syndromes and a Century หรือ แสงศตวรรษ ของผู้กำกับ เจ้ย - อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และหนังสั้นเรื่อง Wanderful Town ของ ผู้กำกับ อาทิตย์ อัสสรัตน์ ที่ได้รับรางวัลที่ปูซาน

โคอิฉิ เรียนจบมาทางด้าน sound engineering จากกรุงนิวยอร์กประเทศสหรัฐอเมริกา ตอนอายุ 20 ปี เขาเดินทางมาเมืองไทยและใช้ชีวิตอยู่ที่นี่นานถึง 5 ปี ก่อนที่เขาและภรรยาชาวไทยซึ่งพบรักกันสมัยเรียนจะเดินทางกลับญี่ปุ่น และอยู่เป็นประชากรที่นั่นอีกราว 5 ปี กระทั่งย้อนคืนสู่เมืองไทยอีกรอบ

“ตอนมาเมืองไทยครั้งแรก ผมตั้งใจมาเที่ยว ขณะเดียวกันก็ได้ทำงานเป็นล่ามให้กับบริษัทญี่ปุ่น เวลานั้นเริ่มทำดนตรีบ้างแล้ว หลังจากนั้นกลับไปอยู่ญี่ปุ่นและเริ่มทำดนตรีอย่างจริงจัง ทำซีดีเพลงขาย เป็นเพลงจำพวก Dance Music พอกลับมาเมืองไทยหนล่าสุด ผมตั้งใจมาทำดนตรีโดยเฉพาะ” ศิลปินจากแดนปลาดิบบอกเล่า

จากสตูดิโอโคอิฉิพาตัวเองสู่พื้นที่งานศิลป์ โดยได้รับการชักชวนให้ร่วมแจมครั้งแรกในโครงการศิลปะ Platform เมื่อปี พ.ศ. 2548 ครั้งนั้นเขาเพียงทดลองเอาระบบและเสียงซึ่งถูกสร้างเอาไว้แล้วออกมาเซ็ตนอกสตูดิโอเพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัส แต่ในงานชุด Pause & Play ที่เพิ่งผ่านพ้นไป คือการประดิษฐ์เสียงเพื่อสร้างพื้นที่ใหม่ให้กลมกลืนไปกับความเงียบที่เขารับความรู้สึกมาจากภาพถ่ายขาวดำที่ช่างภาพชาวไทยนำเสนอ

เป็นภาพถ่ายซึ่งถูกบันทึกจากสถานที่ต่างๆในประเทศญี่ปุ่น ขณะที่เสียงที่โคอิฉิออกแบบเป็น “เสียงของประเทศไทย” ไม่ว่าจะเป็นเสียงของธรรมชาติที่เขาบันทึกไว้ เสียงของกระพรวนลม และเสียงของเครื่องดนตรีไทย ซึ่งทำเอาหลายคนที่ผ่านไปชมนิทรรศการเผลอหลับไปหลายราย

แม้จะทำงานด้านออกแบบเสียงมานาน แต่การสื่อสารกับผู้คนในพื้นที่ของงานแสดงศิลปะ โคอิฉิยอมรับว่า เขายังต้องเรียนรู้อีกเยอะ

“ผมถนัดในการดีไซน์เสียง แต่ยังไม่ถนัดการดีไซน์เสียงประกอบ Object ผมยังประสบการณ์น้อย ยังต้องเรียนรู้มากกว่านี้ เพื่อจะทำงานอาร์ตดีๆเสนอสู่ผู้ชม”

ในอนาคตเขาอยากจะลองเป็นผู้ออกแบบทั้งตัว Object และเสียง เสนอสู่ผู้ชมด้วยตัวเอง เพื่อให้ผู้ชม เมื่อปิดตาก็รู้สึกไพเราะหู และเมื่อปิดหูก็รู้สึกสบายใจ

เสียงเป็นงานศิลปะเพียงแต่มันไม่ได้มองผ่านตา ทว่าเรารับรู้ผ่านหู เรามโนภาพด้วยเสียง โคอิฉิเชื่อเช่นนั้น แต่นอกเหนือสิ่งอื่นใด ผู้ชมหรือผู้ได้ยินนั่นเองที่จะเป็นคนตัดสินว่ามันมีคุณค่าพอที่จะเป็นศิลปะที่ดีได้หรือไม่

ขณะที่งานศิลป์ประเภทอื่นขายตัวเองด้วยการที่ผู้พึงใจซื้อมันแล้วยกไปแขวนและติดตั้งที่บ้าน แต่ซาวน์อาร์ตหรือเสียงที่เขาออกแบบ การแสดงสู่ผู้ชมผ่านนิทรรศการแต่ครั้ง เท่ากับเป็นการสร้างความทรงที่ดีๆให้แก่ชม ก่อนที่ผลงานจะถูกบันทึกเก็บไว้เมื่อการแสดงปิดฉากลง ซึ่งหลังจากนั้นอาจมีผู้พอใจมาว่าจ้างเพื่อนำไปใช้เพื่อการค้าและการบริการอื่นใดในเวลาต่อมา เหมือนดังเช่นที่ภาพยนตร์และโฆษณาเรียกใช้บริการเสียงที่เขาออกแบบ

“การค้าและบริการหลายประเภท ผมคิดว่าพวกเขาน่าจะหันมาให้ความสำคัญในเรื่องของเสียงด้วย”

นักออกแบบเสียงวัย 35 ปี แสดงความเห็น เพราะในหลายประเทศให้ความสำคัญในเรื่องของเสียงเป็นอย่างมาก รวมถึงประเทศบ้านเกิดของเขา ไม่ว่าจะเป็นตามสถานีรถไฟ ย่านการค้า โรงแรม ออฟฟิศทำงาน สถานสปา ฯลฯ เสียงมีส่วนช่วยสร้างมาตรฐานที่ดีให้กับสถานที่เหล่านั้นมากยิ่งขึ้น

“ยกตัวอย่างเช่นการออกแบบที่อยู่อาศัย พวกเขาไม่ควรคำนึงถึงแต่เรื่องของการตกแต่งเพียงอย่างเดียว เพราะเสียงมีส่วนอย่างมากที่จะทำให้ผู้อยู่อาศัย อยู่สบายขึ้น มากกว่าการมองภาพวาดสวยๆเสียอีก”

ขณะที่เบญจภาเสริมว่า “เหมือนเช่นสถาปนิก มีอยู่สองแบบคือ สร้างบ้านให้ดูสบาย กับสร้างบ้านให้อยู่สบายด้วยประสาทสัมผัสทุกส่วนจริงๆ เวลาตื่นมาได้ยินเสียงนกร้องในตอนเช้า หรือทำไมเวลาที่สร้างกำแพง ต้องสร้างหลายๆชั้นเพื่อไม่ให้เสียงจากข้างนอกมารบกวน ทำไมต้องปลูกต้นไม้ที่มีใบให้ถี่ขึ้น ก็เพื่อเวลาลมพัดจะได้ยินเสียง หรือที่ญี่ปุ่นทำไมเขาต้องปลูกต้นไผ่ ก็เพื่อว่าเวลาที่มันตีกันมันจะได้ครีเอทเสียงที่ทำให้รู้สึกสบาย

สถาปนิกบางคนสร้างบ้านให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกสบายตาอย่างเดียว แต่ผู้อยู่อาศัยอยู่แล้วไม่สบาย เสาร์อาทิตย์จะต้องดั้นด้นไปต่างจังหวัด ไม่ใช่เพียงเพราะสิ่งที่เรารับรู้ผ่านตาเพียงอย่างเดียวหรอกที่ทำให้เวลาอยู่กรุงเทพแล้วไม่ได้ผ่อนคลายจริงๆ แต่เป็นเพราะหูของเราก็ไม่ผ่อนคลายด้วย”

ในฐานะคนที่ทำงานด้านออกแบบเสียงโคอิฉิเห็นว่าผู้ที่จะทำงานทางด้านนี้ ควรจะมีความรู้ในด้าน sound engineering ไม่เช่นนั้นเราจะไม่รู้เลยว่าเสียงอย่างไรที่ให้ความรู้สึกสบายหรือเสียงที่ทำลายหูเป็นอย่างไร วิธีการปรับเสียง การบาลานซ์เสียงเหล่านี้เป็นเรื่องที่ควรต้องรู้ทั้งสิ้น ดังนั้น sound engineering ค่อนข้างสำคัญ


กำลังโหลดความคิดเห็น