รอยเตอร์ – จีนกังวลความปลอดภัยโอลิมปิก อาศัยวาทกรรมก่อการร้าย ปราบปรามชนกลุ่มน้อยที่แข็งข้อ รอยเตอร์เผย สื่อเน้นแต่รายงานข่าวซินเจียงกับทิเบต ส่วนความรุนแรงที่มองโกเลียในกลับถูกลืม
แม้ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในจะปราศจากการประท้วงใหญ่โตเช่นที่ ซินเจียงหรือทิเบต ทว่าช่วงนี้รัฐบาลจีนกลับเดินหน้าจับกุมนักกิจกรรมชาวมองโกเลีย และผู้ที่ถูกทางการกล่าวหาว่ารณรงค์แบ่งแยกดินแดนอย่างเงียบๆ
เอนเฮบาทู โทโกชก จากศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนมองโกเลียใต้ ซึ่งมีฐานอยู่ที่นิวยอร์คระบุว่า “ไม่นานนี้กระแสความหวาดระแวงในหมู่เจ้าหน้าที่จีนเพิ่มสูงมาก พวกเขายึดของทุกอย่าง ที่พวกเขาคิดว่ามันเป็นอาวุธ แม้แต่มีดมองโกเลียที่ทำขายเป็นงานศิลป์ตามร้านค้าต่างๆยังถูกยึดเลย ส่วนชาวมองโกเลียในที่เดินทางไปปักกิ่งก็ถูกสงสัยว่า อาจเดินทางไปประกอบอาชญากรรม พวกเขาถูกเจ้าหน้าที่คุกคาม ถูกปฏิเสธมิให้พักในโรงแรมที่ปักกิ่ง”
เมื่อเดือนมีนาคมตำรวจได้เข้าจับกุมนารานบิลิก ผู้รณรงค์ต่อต้านนโยบายส่งเสริมให้ชาวฮั่นย้ายถิ่นเข้ามาในมองโกเลียใน โดยเจ้าหน้าทีได้กักบริเวณ ขังเข้าไว้ในบ้าน และก่อนหน้าที่นารานบิลิกจะถูกจับกุม 2 สัปดาห์ นักกิจกรรมเคราะห์ร้ายอีกรายก็ถูกจับกุม
เสียงที่ไม่ได้ยิน
ซินนา ภรรยาของฮาดะ นักกิจกรรมชื่อดังของมองโกเลียในที่ถูกจำคุกเผยว่า “ยิ่งโอลิมปิกปักกิ่งใกล้เปิดฉาก ตำรวจก็เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจตราเธอ และนักกิจกรรมคนอื่นๆ ตอนนี้ที่ไหนๆก็มีแต่ความหวาดกลัวเต็มไปหมด”
ฮาดะถูกจับกุมนำตัวขึ้นพิจารณาคดีอย่างลับๆในปี 1996 โดยเขาถูกตัดสินมีความผิด ต้องโทษจำคุก 15 ปีในข้อหาแบ่งแยกดินแดน, จารกรรม และสนับสนุนพันธมิตรประชาธิปไตยมองโกเลียใต้ ซึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิให้กับชาวมองโกเลีย ฮาดะปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด พร้อมแย้งว่าไม่เป็นความจริง
องค์การนิรโทษกรรมสากลจัดฮาดะว่าเป็นนักโทษทางความคิด ซึ่งหมายถึง บุคคลที่ถูกกักขัง เพราะสาเหตุแห่งความเชื่อเรื่องสีผิว เพศ เชื้อชาติ ภาษา หรือศาสนา โดยที่เขาไม่เคยใช้หรือสนับสนุนการกระทำที่ใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ทางองค์การยังได้แสดงความกังวลต่อสถานะภาพของเขา
ทั้งนี้เสียงของชาวมองโกเลียใน มักเป็นเสียงที่ผู้คนไม่ได้ยิน เพราะพวกเขาไม่มีผู้นำชื่อดังเป็นตัวแทน นำเรื่องของพวกเขาไปป่าวประกาศให้โลกรู้ ทิเบตมีองค์ทะไล ลามะ ซึ่งเป็นที่รู้จักของชาวโลก ซินเจียงมีราบียา คะเดียร์ ซึ่งได้ฉายาว่า “มารดาของชาวอุยกูร์” แต่มองโกเลียในไม่มีใคร
“คนทั่วโลกรู้จักทะไล ลามะ แต่เรามีใครที่ดังอย่างพระองค์ไหม? เราไม่มีใคร! นั่นทำให้ไม่มีใครได้ยินเสียงหรือรับรู้ปัญหาของพวกเรา" อูรัสกาล ผู้จัดการร้านขายงานศิลป์มองโกเลียใน ฮูฮอต เมืองเอกของมองโกเลียในกล่าว
ในทางทฤษฎีเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน, ทิเบต และซินเจียงควรจะมีอิสระในการปกครองตนเองพอสมควร ทว่าในทางปฏิบัติปักกิ่งได้เข้ามามีบทบาทมากในการจัดการปกครอง เนื่องจากทั้งสามที่เป็นจุดพรมแดนยุทธศาสตร์สำคัญ และทางปักกิ่งก็กังวลว่า ชาวท้องถิ่นอาจลุกฮือต่อต้านรัฐ
หลายสิบปีที่ผ่านมา การอพยพหลั่งไหลของชาวฮั่น ทำให้ชาวมองโกเลียกลายเป็นประชากรส่วนน้อยในดินแดนบ้านเกิดของตน สถิติทางการชึ้ว่า ชาวมองโกเลียมีสัดส่วนน้อยกว่า 20% ของประชากรมองโกเลียในทั้งหมด ซึ่งมีจำนวน 24 ล้านคน
ทั้งนี้ปัญหาในมองโกเลียในเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาการจลาจลในทิเบตและซินเจียง รวมทั้งการประท้วงคบเพลิงโอลิมปิกโดยผู้สนับสนุนทิเบตได้จุดกระแสความสนใจต่อความเป็นอยู่ของชนชาติส่วนน้อยในจีน อย่างไรก็ตามมองโกเลียในก็ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก
“ผมรู้สึกว่า เราเป็นพวกที่ถูกลืม” นักวิชาการชาวมองโกเลียใน ในฮูฮอตผู้หนึ่งกล่าว