โดยสุรัตน์ ปรีชาธรรม
อารยธรรม,ศิวิไลซ์ ในภาษาจีน คือ文明 ออกเสียงว่า เหวินหมิง
วันที่เดินทางมาถึงปักกิ่งในตอนเย็น ผู้เขียนบึ่งแท็กซี่มายังที่พักย่านเสี่ยวซีเทียน โยนกระเป๋าไว้ที่ห้อง จากนั้น ก็รีบตรงไปยังสถานีรถไฟใต้ดินใกล้ที่พัก เพื่อไปพบบรรณาธิการบริหารและบรรณาธิการหน้าข่าวกีฬาของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการที่มาประชุมความร่วมมือสื่ออาเซียน+3ที่หนังสือพิมพ์ประชาชนจีนเป็นผู้จัด และกำลังร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำอยู่ที่โรงแรมปักกิ่ง แถวหวังฝู่จิ่ง
เมื่อเดินลงไปถึงบริเวณสถานีรถไฟใต้ดิน ผู้เขียนก็ได้เห็นสิ่งที่ผิดหูผิดตาไปอีก เคาน์เตอร์ใหญ่ที่มีคนนั่งขายตั๋วให้ผู้โดยสาร รับเงินทอนเงินให้กันกับมือ เริ่มหดหายไป มีเครื่องขายตั๋วมาแทนที่ เครื่องเช็คตั๋วโดยสารเรียงรายสลอน ก็ชักแถวเข้ามาแทนที่โต๊ะที่มีคนนั่งคอยฉีกตั๋วโดยสารตรงหัวกระไดทางลงไปยังชานชาลาเทียบรถไฟใต้ดิน
เมื่อก้าวเข้าไปในตู้ขบวนรถไฟซึ่งเป็นตู้ขบวนใหม่เอี่ยมด้วยเช่นกัน ผู้เขียนก็ต้องสะดุ้งเนื่องจากเสียงอาแปะคุยผ่านโทรศัพท์มือถือดังลั่นราวตื่นไฟ พร้อมพูดกับตัวเองในใจว่า “อา! มาถึงเมืองจีนแล้วนะนี่!”
บรรยากาศใหม่ที่ได้พบเห็นอีก ก็มีบางสถานีอย่างเช่นสถานีซีตันของย่านใจกลางนครปักกิ่ง มีเจ้าหน้าที่ยืนคุมเชิงเป็นระยะๆคอยดูแลการเข้าแถวขึ้นรถไฟ จากประสบการณ์ผู้เขียนก็เข้าใจได้ทันทีว่า นี่เป็นมาตรการสำคัญเพียงไรในการซักซ้อมระเบียบวินัย ปรับพฤติกรรมที่ศิวิไลซ์ มีมารยาทของชาวจีน
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงโฉมใหม่ทั่วนครปักกิ่ง มีป้ายรณรงค์อย่างหนึ่งที่ผุดขึ้นตามชานชาลาเทียบรถไฟใต้ดิน เหนือป้ายรถประจำทางทุกแห่ง ที่อาจแปลเป็นพากษ์ไทยได้ว่า “กรุณาขึ้นรถอย่างศิวิไลซ์” “กรุณาเข้าแถวขึ้นรถ” ประมาณนี้ เรื่องนี้ อาจดูเป็นเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง แต่มันเป็นเรื่องใหญ่ของจีน และเป็นเรื่องที่ผู้นำก็วิตกกังวลอยู่มากในการปรับปรุงภาพลักษณ์บ้านเมืองสำหรับงานช้างระดับโลกอย่างโอลิมปิก เกมส์ที่จะเปิดฉากในปักกิ่งเดือนสิงหาคมนี้
เมื่อปีที่แล้ว 2007 ผู้อำนวยการคณะกรรมการจัดการงานโอลิมปิกนายหลิว ฉี บอกว่าสิ่งที่เขาห่วงมากสุดอย่างหนึ่งก่อนเปิดงานโอลิมปิก ก็คือการปรับพฤติกรรมที่ศิวิไลซ์ และมารยาทประชาชนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
ด้วยจีนได้ฟังเสียงสะท้อนจากชาวโลกที่ทำหน้าแตกยับไม่รู้กี่ครั้งกี่หนระหว่างช่วงที่ประเทศทะยานขึ้นสู่อำนาจทางเศรษฐกิจ ชาวจีนมีเงินทองใช้จ่ายกันมากขึ้น ชนชั้นกลางขยายใหญ่เสียจนทำเอายักษ์ใหญ่บริษัทขายสินค้าทั่วโลกน้ำลายหก และจีนก็เปิดกว้างให้ประชาชนได้ไปเปิดหูเปิดตาต่างแดน ทั้งชาวต่างชาติจำนวนมากก็ได้เข้ามาสัมผัสได้เห็นได้มีประสบการณ์ในประเทศจีนมากขึ้น และเรื่องพฤติกรรมที่ไร้อารยะก็กลายเป็นที่เล่าลือที่ชาวต่างบ่นกันจนกลายเป็นข่าวตามสื่อโลกค่ายตะวันตก ในสื่อจีนภาษาจีนเองก็ได้สะท้อนเรื่องนี้ออกมาไม่น้อยด้วย
เรื่องถ่มน้ำลาย ผู้เขียนโดนมาอย่างไม่เลวร้ายนัก คือโดนชาวจีนที่ขี่จักรยานอยู่ข้างๆบ้วนน้ำลายผ่านหน้าไปขณะกำลังขี่จักรยานอยู่เช่นกัน
เรื่องคำ “ขอโทษ”ไม่ต้องพูดถึง เคยโดนแกงหน้าตาคล้ายเต้าหู้ทรงเครื่องน้ำแดงข้นคั่ก รดราดใส่เสื้อแบบเต็มๆ พี่ท่านไม่แม้แต่หันมาดู ราวกับทำแกงหกใส่ตอไม้ยังไงยังงั้น
เวลาคุณหิ้วของหนักอย่างหิ้วถุงหนังสือเป็นสิบเล่ม เหนื่อยเมื่อยแทบขาดใจ ก็อย่าหวังเลยว่าจีนๆในรถไฟใต้ดินที่นั่งห่างกันหลายคืบ คือมันเป็นระยะห่างที่จัดว่าห่างสำหรับคนนั่งเรียงกันบนที่นั่งยาว แต่เราจะแทรกตัวไปนั่งก็ไม่ได้ แต่ถ้า 3-4 จีนนั่น ขยับนั่งชิดให้มันพอเหมาะพอดี เรา(ผู้เขียน)ก็จะได้นั่งสบายไปอีกคน แต่ก็ผิดหวังไม่ว่าเราจะพยายามส่งสัญญาณ
หากคุณได้เข้ามายังย่านที่อยู่อาศัยของชาวจีน นั่งกินสารพัดอาหารเสียบไม้ย่างริมทางเท้า ก็จะเห็นกองขยะไม้เสียบอาหารเหล่านั้น เปลือกเมล็ดถั่วชนิดต่างๆ เศษกระดูกไก่ ฯลฯ กองพะเนินเป็นภูเขาน้อยๆ เรียงสลอนตามริมทางที่มีโต๊ะอาหารเรียงรายอยู่นั้น
มาปักกิ่งเที่ยวนี้ ผู้เขียนและเพื่อนรุ่นน้องยังโดนคนขับแท็กซี่สูบบุหรี่รมควันมาในรถตลอดทางจากโฮ่วไห่ถึงที่พัก ผู้เขียนพูดกับรุ่นน้องว่า "แน่จริง สูบบุหรี่ตอนมีผู้โดยสารฝรั่งอยู่ในรถแบบนี้ช่วงโอลิมปิกเดือนสิงหาคมดูซิ ประจานพฤติกรรมไร้อารยะตัวเองเสียให้หน่ำใจ
จากการสังเกตด้วยตัวเองขณะข้ามถนนตามแยกสัญญาณไฟจราจร ก็พบว่าเกือบ 100% ไม่รอสัญญาณไฟสัญลักษณ์คนเดินกระพริบเป็นสีเขียวก่อนข้ามถนน พวกเขาใช้กฎ “ไม่มีรถมา ข้ามได้ก็ข้าม”
ถ้าคุณๆได้ใช้ชีวิตในย่านที่ชาวจีนอยู่อาศัยกันจริงๆ โหนรถเมล์ นั่งรถไฟฟ้าใต้ดินเป็นกิจวัตร ไม่ช้าไม่นาน ก็จะมีประสบการณ์ประทับในใจเรื่องพฤติกรรมไร้ศิวิไลซ์และมารยาทจีนตามรายการที่ผู้นำจีนกำลังรณรงค์ครบถ้วน ทั้งการถ่มน้ำลาย พูดเสียงดังอย่างที่เขาว่าเจ็กคุยกันเหมือนคนไทยตีกัน ผจญศึกแย่งชิงกันขึ้นรถ ไม่ขอโทษเมื่อทำเรื่องเดือดร้อนรบกวนผู้อื่น ความเอื้อเฟื้อมีน้ำใจ เพื่อนชาวจีนผู้หนึ่งก็เคยบ่นและยอมรับกับผู้เขียนว่า คนจีนเห็นแก่ตัวมากขึ้นทุกวัน
แต่ก็ดูมันจะไม่เปลี่ยนแปลงไปเสียง่ายๆ เหมือนวัตถุที่อาจแลกมาด้วยอำนาจเงินอย่างสิ่งก่อสร้างใหม่มหัศจรรย์อย่างอาคารผู้โดยสารใหม่แห่งที่ 3 สนามกีฬารังนก โรงละครแห่งชาติไข่ยักษ์ หรือใช้เวลาสร้างกันไม่กี่ปีอย่างสิ่งก่อสร้างเหล่านี้
มาฟังเสียงจากชาวจีนเองบ้าง นายจาง ฮุ่ยกวงผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมเมืองหลวง กล่าวว่าการถ่มน้ำลาย การคุยเสียงดัง การแซงคิว ที่เห็นกันอยู่เป็นปกติในเมืองหลวงคงจะไม่เป็นที่พิสมัยของแขกชาวต่างชาตินับแสนที่จะหลั่งไหลเข้ามาในปี 2008 และท่านก็ได้พูดอย่างกังวลว่า “การสร้างตึกนั้นง่าย แต่การเสริมสร้างคุณภาพและวัฒนธรรมสากลให้แก่ประชาชนนั้น ไม่สามารถกระทำได้ในเวลาเพียง 1 หรือ 2 เดือน หรือแม้แต่ 1 หรือ 2 ปี”
คณะกรรมการจัดงานโอลิมปักกิ่ง ก็ได้เจียดงบประมาณถึง ราว 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 105 ล้านบาท สำหรับรณรงค์พลเมืองให้มีพฤติกรรมที่ศิวิไลซ์ เป็นอารยชน ที่คนจีนเขาใช้คำว่าอย่างมี เหวินหมิง 文明 อาทิเช่น จัดพิมพ์คู่มือแนะนำมารยาทกว่า 2 ล้านฉบับแจกประชาชน คำแนะนำในการ “ถ่มน้ำลายอย่างมีวัฒนธรรม” พร้อมแจกถุงกระดาษสำหรับบ้วนน้ำลายหลายล้านใบ ติดตั้งถังขยะทุก 300 ฟุตบนถนนสายหลักและพื้นที่สาธารณะเพื่อชักชวนให้คนเลิกนิสัยทิ้งขยะเกลื่อนกราด เป็นต้น
นอกไปจากตามป้ายจอดรถประจำทาง ได้ติดข้อความรณรงค์การขึ้นรถอย่างศิวิไลซ์ ระดมการประชาสัมพันธ์ผ่านหลายช่องทาง เช่นภาพยนตร์และภาพการ์ตูนเผยแพร่ผ่านทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ และยังใช้เครื่องมืออื่นๆ อีกมากมาย ในปี 2007 ที่ผ่านมานี้ จีนยังถึงกับกำหนดให้ทุกวันที่ 11 ของแต่ละเดือน เป็น“วันเข้าแถว” รณรงค์ให้ชาวจีนเลิกพฤติกรรมแซงคิวผู้อื่น และในเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ ก็ยังมีการกำหนดให้ทุกวันที่ 22 ของแต่ละเดือน เป็น “วันเอื้อเฟื้อที่นั่ง” กระตุ้นให้ชาวเมืองทั้งหลายมีน้ำใจแก่เพื่อนร่วมทาง
จีนนั้น ดูยังเพียงไล่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ การกำหนดวันเข้าแถว วันเข้าคิว วันเอื้อเฟื้อ หรือการจัดชั้นเรียนอบรมสมบัติผู้ดี อย่างเมื่อเดือนกันยายน ปี 2006 สำนักงานคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่กว่า 30 คน ไปเข้ารับการอบรมจรรยามารยาท ซึ่งมีการฝึกอบรมตั้งแต่การสวมใส่เสื้อผ้า การรับรองแขก การตัดขนจมูก ความยาวเล็บที่เหมาะสม แขนเสื้อเชิร์ตตัวในควรยาวกว่าเสื้อนอกที่สวมทับอยู่ 1 ซม. ถึง 1.5 ซม. การยิ้มควรเผยให้เห็นฟันเพียง 8 ซีก ฯลฯ
พิจารณาดูแล้วพฤติกรรมที่ชาวจีนถูกวิพากษ์วิจารณ์นั้น ไม่ว่าจะเป็นความไร้ระเบียบ จรรยามารยาท ความสุภาพนั้น มีหลายระดับ สำหรับผู้เขียนถือว่าความบิดเบือนที่ถึงขั้นล้ำเส้นกลายเป็นปัญหาการปฏิบัติต่อผู้อื่น การขาดจิตสำนึกต่อส่วนรวมที่พึงมีพึงเป็น เป็นเรื่องนี้สำคัญ ไม่ใช่แค่มารยาท สมบัติผู้ดีที่สร้างขึ้นเพื่อตกแต่งกิริยาให้ดูสวยงามทั้งในแง่บวกคือเป็นความสุนทรีและแง่ลบก็คือความฉาบฉวยเท่านั้น หรือบางอย่างก็รับกันได้ในแง่ความแตกต่างทางวัฒนธรรม การตัดสินคุณค่าที่แตกต่างกันอาทิ การยกชามขึ้นมาซดแกง กินเส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นหมี่เสียงดังนั้น ก็เป็นวัฒนธรรมการแสดงออกในการกินอย่างหนึ่ง ซึ่งญี่ปุ่นก็เป็นอย่างนี้และยังปฏิบัติกันอยู่
ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้มันก็เป็นกระจกสะท้อนประสบการณ์สั่งสม วัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมที่บ่มเพาะพวกเขามา และที่การแสดงออกที่ดูร้ายๆนั้น ก็อาจมาจากแรงระเบิดของปัจเจกชน หรือการเป็นกบฏต่อสิ่งที่บีบคั้นพันธนาการชีวิตพวกเขาอยู่นั้น
ผู้เขียนขอตัดตอนการวิเคราะห์ความเห็นจากวงวิพากษ์วิจารณ์ของชาวจีนเอง ที่เคยนำเสนอใน “มุมจีน” มาแล้ว ให้อ่านให้คิดกันเล่นๆ
เหลียวหลังมองประวัติศาสตร์
ย้อนดูในประวัติศาสตร์ ก็น่าแปลกใจชวนพิศวง ที่ในยุคโบราณ จีนดูเป็นชาติพี่ใหญ่ที่หยิ่งทระนงในความเป็นอารยประเทศ มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี พิธีกรรมอันสูงส่ง
ในจีนเองก็มีการถกระหว่างนักวิชาการเกี่ยวกับพฤติกรรมไร้ศิวิไลซ์ ไร้สำนึกต่อส่วนรวม อย่างอาจารย์กัว เสี่ยวชงแห่งภาควิชาการเผยแพร่และวัฒนธรรมของสถาบันศึกษาการระหว่างประเทศ ได้เล่าว่า ในยุคราชวงศ์ถัง ราชวงศ์ซ่ง และราชวงศ์หมิง ที่ล่วงเลยมากว่าพันปี ชนชาติจีนนั้นได้ชื่อว่าเป็นจ้าวแห่งขนบประเพณีอันสูงส่ง จากบันทึกประวัติศาสตร์จีน ระบุว่าในยุคถังและซ่ง เมื่อพ่อค้าจีนออกไปค้าขายในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ได้รับการต้อนรับให้เกียรติอย่างพิเศษในฐานะสุภาพชนผู้เพียบพร้อมด้วยขนบประเพณี ถึงขนาดได้รับการยกเว้นค่าที่พัก ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีต่างก็เลียนแบบเจริญรอยตามจีน รับแบบแผนพิธีกรรมขงจื่อไปใช้
ถึงยุคราชวงศ์หมิงที่ประชากรขยายตัวมาก ชนเร่ร่อนยิ่งทวีจำนวนมาก ทางการไม่อาจรับมือปัญหาสังคม สร้างความสงบเรียบร้อยกลมกลืน กระทั่งมีการรวมกลุ่มสมาคมเถื่อนต่างๆมากมาย อาทิ กลุ่มศาสนา กลุ่มพ่อค้าวานิช สำนักพรรคต่างๆ และการใช้ชีวิตสังคมยิ่งนับวันก็ยิ่งหยาบมากขึ้น
สภาพแบบนี้ ได้ตกทอดมาถึงปัจจุบัน มันเป็นผลมาจากความบีบคั้นในชีวิต ผู้คนเหล่านั้นรู้สึกเหนื่อยกับชีวิตและไม่มีทางออก ซึ่งคนเราทั่วไปนั้น ต้องการการปลดปล่อยและได้ใช้ชีวิตอย่างสงบตามลำพัง แต่วัฒนธรรมแบบนี้ไม่อาจปล่อยให้คุณได้อยู่สุขสงบตามลำพัง
กัวเสี่ยวชงยังวิเคราะห์ถึงสาเหตุอีกประการที่ทำให้คนจีนในวันนี้ มีพฤติกรรมไร้อารยะ ก็คือการปะทะกันระหว่างรูปแบบชีวิตตามขนบประเพณีและสังคมปัจจุบัน อุปมาดั่งคนบ้านนอกที่ไม่คุ้นเคยกับกฎระเบียบจราจรของเมืองกรุง ถ่มน้ำลายตามอำเภอใจ พูดคุยเสียงดัง เปลือยร่างท่อนบน คนที่เติบโตกลางท้องทุ่ง ก็เสมือนกับบุตรแห่งธรรมชาติ อิสระสบายๆ แต่เมื่อต้องมาอยู่ในเมืองใหญ่ ท่ามกลางผู้คนแปลกหน้าและหนีไม่พ้นที่จะต้องถูกกฎระเบียบต่างๆจำกัดการกระทำต่างๆ
บางความเห็นชี้ว่าการมีประชากรจำนวนมากนั้น นำไปสู่สังคมที่หยาบกระด้าง และความวิตกกลัวขาดแคลนทรัพยากรหรือไม่มีกินไม่มีใช้นั้น ได้นำไปสู่พฤติกรรมที่ไร้อารยะ
บางกลุ่มก็ชี้ไปที่ประวัติศาสตร์ยุคใหม่ อย่างอาจารย์เก่อ เจี้ยนฉงของมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งฝู่ตันในเซี่ยงไฮ้ได้โทษว่าพฤติธรรมอันไร้จรรยามารยาทของคนจีนนั้น เป็นผลพวงมาจาก “การปฏิวัติวัฒนธรรม” ซึ่งกินเวลานานนับ 10 ปี (ค.ศ.1966-77) การโฆษณาชวนเชื่อและปลุกระดมได้ผลักรุนให้บรรดาเด็กนักเรียนที่มีการศึกษาจำนวนมหาศาล เข้าร่วมปฏิบัติการต่อสู้ ไล่ล่าจับกุมปฏิปักษ์ เข้าสู่ชนบทใช้แรงงาน พวกเขาได้เรียนรู้พฤติกรรมที่ถ่อยลง ถ่มน้ำลาย ด่าทอบริภาษจิกหัวผู้อาวุโส
นายกัวเสี่ยวชงอาจารย์ภาควิชาการเผยแพร่และวัฒนธรรมของสถาบันศึกษากิจการระหว่างประเทศก็เห็นด้วยกับการวิเคราะห์ข้างต้น โดยกล่าวว่าพวกที่ผ่านการปฏิวัติวัฒนธรรม มักพูดคำว่า “ขอโทษ” ไม่เป็น และมักใช้กำปั้นในการแก้ปัญหา
นายจูต้าเข่อนักวิชาการในเซี่ยงไฮ้ให้ความเห็นว่าการที่สังคมขาดจรรยามารยาทนั้น มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับ “การศึกษาการต่อสู้ทางชนชั้น” ที่บ่มเพาะมาเป็นเวลายาวนาน คนเหล่านี้จะมองคนอื่นเป็น “ศัตรูในจินตนาการ” มองเรื่องราวต่างๆในชีวิตประจำวันเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางชนชั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าไม่มีใครที่จะมีมรรยาทกับศัตรู “พวกเราไม่ได้ขาดการศึกษา แต่ศึกษามากเกินไป โดยเฉพาะศึกษาการต่อสู้มากเกินไป”
นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งบอกว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของประเทศจีนในช่วง 100 ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้การสืบทอดระเบียบแบบแผนในสังคมถูกตัดขาดหรือขาดช่วงไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือแบบแผนคำเรียกหรือสรรพนามแทนผู้อื่น ในสังคมแบบขนบประเพณีจะมีคำเรียกสรรพนามที่แสดงความความเคารพนับถือ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดหรือห่างออกไป อาทิ หลังการปฏิวัติจีนใหม่ในปีค.ศ. 1949 ทุกคนจะใช้สรรพนามเรียกอีกฝ่ายว่า “สหาย” ขณะที่ ทุกวันนี้ คำว่า “สหาย” หรือ “คุณ (ผู้หญิง小姐)”นั้น มีความหมายเฉพาะตัวแตกต่างกัน
พฤติกรรมของคนนั้น ไม่ได้เกิดและเปลี่ยนได้ในชั่วข้ามคืน เนื่องจากมันมาจากเหตุอันซับซ้อนที่สั่งสมมายาวนาน เมืองจีนนั้นผจญประวัติศาสตร์อันซับซ้อน ขมขื่นมายาวนานนับร้อยๆปี เมื่อประเทศลุกขึ้นยืนได้ในการปฏิวัติจีนใหม่ของคอมมิวนิสต์เมื่อ 59 ปีที่แล้ว ก็มีแต่กฎกรอบมากำกับควบคุมจิตใจโดยไร้สิ่งตอบสนองทางจิตวิญญาณที่ลุ่มลึกอย่างเช่นศาสนา เมื่อประเทศรุ่งโรจน์ทางเศรษฐกิจขึ้นมา ก็กลับพบปัญหาวัฒนธรรมจิตใจของประชาชน ที่สะท้อนออกจากพฤติกรรมไร้ศิวิไลซ์ ไร้มารยาท หากคุณภาพด้านนี้ของประชาชนในปริมาณสัดส่วนที่สูง ย่ำแย่ ประเทศชาติจะผงาดเจริญขึ้นอย่างแท้จริงได้หรือ?
จีนนั้น ก็มีภูมิปัญญาที่ลุ่มลึกมากมายในประวัติศาสตร์หลายพันปี ปราชญ์ที่ล้ำลึกสุดท่านหนึ่งของแผ่นดินจีนอย่างเหลาจื่อเคยกล่าวว่า
เมื่อคนปราศจากเต๋า ก็หันมาสู่คุณธรรม (德Virtue)
เมื่อคนปราศจากคุณธรรม ก็หันมาสู่มนุสสธรรม (仁Benevolence)
เมื่อคนขาดมนุสสธรรม ก็หันมาสู่จริยธรรม (义Righteousness)
เมื่อคนขาดจริยธรรม ก็หันมาสู่จารีตพิธีกรรม (礼Rites)
จีนคงต้องหวนทบทวนคำชี้แนะที่น่าสนใจของปราชญ์โบราณของตน ตีความค้นหามรรคา และทำงานแบบเข็นครกขึ้นเขาไปอีกนานหลังโอลิมปิก เกมส์.