xs
xsm
sm
md
lg

งามวิจิตรอลังการ "วัดบรมราชาฯ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก้าวข้ามประตูเข้าไปจะเจอกับบันไดสูงขึ้นสู่วิหารวิหารจตุโลกบาล
ช่วงนี้ เวลาที่ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" เล่นอินเตอร์เน็ตก็มักจะเห็นรูปวัดจีนแห่งหนึ่งอย่างบ่อยครั้ง มองผ่านไปก็คิดว่าเป็นวัดหรือพระราชวังในประเทศจีน แต่เมื่อได้ลองดูอย่างจริงจังแล้วก็ได้รู้ว่า วัดสถาปัตยกรรมจีนแห่งนี้ตั้งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล แค่บางบัวทองเท่านั้นเอง ใกล้กรุงฯแค่นี้แถมยังสวยงามโดดเด่นเป็นหัวข้อยอดนิยมขนาดนี้ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ก็ต้องขอบึ่งรถไปยลโฉมวัดงามแห่งนี้กันเสียหน่อย

และแล้วพวกเราก็เดินทางมาถึงยัง "วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์" ซึ่งก็ถึงกับอึ้ง...ทึ่ง ความใหญ่โตโอฬาร ความสวยงาม ความอลังการ ความรู้สึกทุกอย่างนั้นบังเกิดขึ้นเมื่อได้เห็นวัดแห่งนี้ด้วยสองตาของตัวเอง นี่เราอยู่ที่ประเทศไทยใช่ไหม "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ถามเพื่อนที่ยืนทึ่งอยู่ข้างๆเพื่อความมั่นใจว่าเราอยู่เมืองไทยไม่ใช่เมืองจีน

โดยวัดแห่งนี้ได้รับพระราชานุญาติจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้สร้างวัดและพระราชทานนามในปี พ.ศ.2540 ว่า "วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์" ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 12 ไร่ที่ตำบลโสนน้อย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี
เบื้องหน้าวัดบรมราชากาญจนาภิเษกฯดูสวยงามสง่า
แต่เดิมพื้นที่นี้เคยเป็นโรงเจขนาดเล็ก ที่ชาวบ้านบางบัวทองให้ความศรัทธามาช้านาน ต่อมาคณะสงฆ์จีนนิกายมีปณิธานจะพัฒนาที่ส่วนนี้ให้เป็นวัดที่สมบูรณ์ เพื่อเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และแสดงความจงรักภักดี กตัญญูกตเวทิตาถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระมหากษัตริย์ไทยทุกๆพระองค์ที่คณะสงฆ์จีนนิกาย ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร

และเพื่อตั้งเป็นพุทธสถานให้พุทธศาสนิกชนได้ปฏิบัติธรรมและประกอบพิธีกรรมพร้อมทั้งเป็นที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานจีนนิกาย อีกทั้งยังตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม ไทย-จีนเป็นที่ศึกษาพระธรรมวินัยของพระภิกษุสามเณรและสร้างศาสนทายาทของพระพุทธศาสนาสืบไปด้วย

ประตูทางเข้าขนาดใหญ่เปิดรอต้อนรับผู้มาเยือน ความสวยงามภายในเชื้อเชิญให้พวกเราเดินลอดใต้ประตูเข้าไปยังภายในวัด ที่สร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรมในยุคราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงของจีน หากใครได้เคยมีโอกาสไปเยือนพระราชวังต้องห้ามในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีนมาแล้ว จะรู้ในทันทีว่าวัดแห่งนี้สร้างในแบบจำลองมาในลักษณะเดียวกัน

โดยภายในพระอารามแห่งนี้ แบ่งเป็นสัดส่วนตามแบบวัดหลวง โดยลักษณะตัวอาคารมีทั้งหมด 4 ชั้น คือชั้นแรกเป็นหอฉันและกุฏิของสงฆ์ เมื่อพวกเราจัดแจงถอดรองเท้าตามระเบียบที่เขียนไว้แล้ว ก็เดินขึ้นบันไดหลายขั้นไปยังชั้นที่ 2 ตรงกลางของชั้นนี้ มี "วิหารจตุโลกบาล" ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าสุดอย่างโดดเด่นแลเห็นตั้งแต่หน้าประตูวัด ด้านหน้าพระวิหารมีรูปประติมากรรมสลักหินจากประเทศจีน แสดงเรื่องราวพุทธประวัติตอนต่างๆ
พระพุทธเจ้า 3 พระองค์ พระประธานของวัดบรมราชากาญจนาภิเษกฯ
ภายในวิหารจตุโลกบาลเป็นที่ประดิษฐานผู้ปกปักษ์รักษาพระพุทธสาสนา หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า "ฮูฮวบ" อันได้แก่ พระศรีอริยะเมตไตรยโพธิสัตว์ และธรรมบาลทั้งหลายคือ ท้าววิรุฬหกมหาราช ถือร่มหมายถึงฝน ปกครองทางทิศทักษิณ เจ้าแห่งกุมภัณฑ์, ท้าวธตรัฐมหาราช ถือพิณหมายถึงความถูกต้อง ปกครองทิศบูรพา เจ้าแห่งพวกคนธรรพ์, ท้าวกุเวรมหาราช (เวชสุวรรณ) ถือเจดีย์หมายถึงความราบรื่น ปกครองทิศอุดร เจ้าแห่งพวกยักษ์, ท้าววิรูปักษ์มหาราช ถือดาบและงูหมายถึง ลม ปกครองทิศปัจฉิม เจ้าแห่งนาค และเทพต่างๆอีก 8 องค์

ด้านข้างของวิหารจตุโลกบาล มีหอเล็กๆ 2 หลัง ขนาบทั้งทางด้านซ้ายคือ หอกลอง ภายในมีกลองใบใหญ่สีแดง ด้านข้างประดับด้วยลวดลายมังกรมองดูแล้วน่าเกรงขามเป็นอย่างยิ่ง และทางด้านขวาของวิหารได้แก่ หอระฆัง ภายในมีระฆังสำริดขนาด 195 เซนติเมตร ถือเป็นระฆังใบใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งทั้งกลองและระฆังนี้นำมาจากเมืองซัวเถา ประเทศจีน

ถัดจากชั้นวิหารจตุโลกบาล "ผู้จัดการท่องเที่ยว" เดินขึ้นบันไดไปยังชั้นที่ 3 เป็นที่ตั้งของ "พระอุโบสถ" ซึ่งถือเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดและใหญ่ที่สุดในพระอารามแห่งนี้ ด้านหน้าพระอุโบสถมีแผ่นไม้สักขนาดใหญ่สลักอักษรจีน 4 ตัวมีความหมายว่า บัลลังก์พระพุทธเจ้า หรือที่ประดิษฐานแห่งองค์พระประธานนั้นเอง

พระอุโบสถดูแล้วยิ่งใหญ่โอฬารยิ่งนัก ตรงกลางประดิษฐานพระประธานคือพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ด้วยกัน ได้แก่ พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน คือ พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า และด้านข้างทั้งสองพระองค์ได้แก่ พระอมิตาภพุทธเจ้า และ พระไภษัชยคุรุไวฑูรย์พุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าในอดีต
 ภายในวิหารสุขาวดีหมื่นพุทธมากมายด้วยพระพุทธรูปองค์จิ๋วถึงหมื่นองค์
สำหรับองค์พระประธานแต่ละองค์ ความสูงจากวัชรบัลลังก์ถึงยอดพระเกศา 4 เมตร 30 เซนติเมตร กว้าง 3 เมตร 4 เซนติเมตร จำลองมาจากพระประธานในพระอุโบสถวัดมังกรกมลาวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่ เป็นพุทธศิลป์จีนที่มีพุทธลักษณ์งดงาม พระพักตร์มีลักษณะมหาเมตตา มหากรุณา องค์พระมีพุทธลักษณะที่เด่นเป็นสง่าและงดงาม และเป็นพระประธานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย

ด้านข้างของพระประธานมีพระอัครสาวกของมหายาน เบื้องซ้ายได้แก่พระอานนท์มหาเถระ เบื้องขวาได้แก่พระมหากัสสปมหาเถระ ซึ่งเป็นผู้มีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาในเรื่องการทำสังคายนาพระธรรมวิยันครั้งแรกของโลก

รอบๆ ผนังด้านข้างมีแผ่นไม้แกะสลักเป็นรูป อรหันต์ พระพุทธเจ้าในอดีต 7 พระองค์ 8 มหาโพธิสัตว์ 500 พระอรหันต์ 24 ธรรมบาล และจตุมหาบรรพต แห่งประเทศจีน ซึ่งแผ่นไม้สักเหล่านี้นำมาจากประเทศจีน แกะสลักจากช่างที่มีฝีมือดีเยี่ยมของจีน

หลังจากที่กราบไหว้พระประธานทั้ง 3 พระองค์ และเดินชมภายในพระอุโบสถแล้ว "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ก็ขอนั่งพักสงบจิตสงบใจอยู่เบื้องหน้าพระประธาน ลมเย็นๆที่พัดโชยมาทำให้รู้สึกสบายกายเป็นอย่างมาก ความสงบเงียบแอบแว่วด้วยเสียงนกที่ขับขานอย่างรื่นหู ทำให้รู้สึกสบายใจอย่างบอกไม่ถูกเลยทีเดียว
ด้านข้างของวัดมีสถานที่จอดรถกว้างใหญ่มองเห็นวัดได้อย่างโดดเด่น
พวกเรานั่งอยู่ชั่วครู่เห็นผู้คนผลัดเปลี่ยนหน้ามาไหว้พระ จุดเทียน บ้าง บ้างก็มานั่งทำสมาธิ สวดมนต์ด้วยหนังสือสวดมนต์เล่มใหญ่ที่พกมาเอง ทำให้ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ยิ่งรู้สึกว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่สำหรับชาวพุทธโดยแท้ จากนั้นพวกเราก็เริ่มออกเดินสำรวจวัดแห่งนี้อีกครั้ง โดยเดินอ้อมไปทางด้านข้างของพระอุโบสถ ตรงเสาเราจะเห็นใบเสมาเป็นศิลปะแบบจีน ที่มีความงดงามเป็นเอกลักษณ์

ถัดจากพระอุโบสถไปยังด้านหลังเป็น "วิหารอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์" ภายในประดิษฐานพระอวโลกิเตศวรสหัสกรสหัสเนตรมหาโพธิสัตว์ หรือพระกวนอิมมหาโพธิสัตว์ปางพันมือพันตา แกะสลักจากไม้สักขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยพระเนตรพันดวงเปรียบเสมือนผู้ตรวจดูความทุกข์สุขของเหล่าสรรพสัตว์ทั่วโลก และพร้อมจะใช้พระหัตถ์พันกรช่วยเหลือผู้ทุกข์เข็ญ นับเป็นจริยานุเคราะห์แบบอย่างอขงพระมหาโพธิสัตว์ผู้มีหมาเมตตามหากรุณา

หากใครต้องการข้อมูลของวัดบรมราชาฯ แห่งนี้ ทั้งการสร้างวัด คณะสงฆ์นิกาย พระพุทธรูปต่างๆ ภายในวิหารนี้มีบอร์ดนิทรรศการแสดงข้อมูลประวัติทั้งหมดให้ผู้มาเยือนได้รับความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องครบถ้วนอีกด้วย
เสาด้านข้างของพระอุโบสถทั้ง 4 ด้านเป็นที่ประดิษฐานของใบเสมา
เมื่อออกจากวิหารอวโลกิเตศวร "ผู้จัดการท่องเที่ยว" เดินขึ้นบันไดด้านข้างไปยังชั้นที่ 4 ได้แก่ "วิหารสุขาวดีหมื่นพุทธ" ฟังชื่อดูแล้วอาจจะงงงง แต่เมื่อได้เข้าไปด้านในก็เข้าใจอย่างกระจ่างแจ้งทันทีว่าเหตุใดจึงชื่อวิหารหมื่นพุทธ เนื่องจากผนังรายล้อมด้วยพระพุทธรูปองค์เล็กๆ หนึ่งหมื่นพระองค์สีทองอร่ามดูสวยงาม ตรงกลางวิหารประดิษฐานองค์พระอมิตตาภพุทธเจ้า พระอวโลกิเตศวร และพระมหาสถามปราบต์โพธิสัตว์ สีทองอร่ามตาเช่นกัน

จากชั้นวิหารสุขาวดีหมื่นพุทธ เราสามารถมองเห็นวิวในมุมสูงด้านหลังของพระอุโบสถได้อย่างชัดเจนเต็มตา แล้ว "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ก็ไปสะดุดตากับมุมของหลังคากระเบื้องเผาแบบจีนสีเหลืองเข้ม มีสัตว์เล็กๆเรียงอยู่ปลายมุมหลังคา 9 ตัว ด้วยกัน เมื่อได้ถามผู้รู้ก็ได้ความมาว่า สัตว์ที่อยู่ตรงมุมหลังคาทั้ง 4 มุม เป็นสัตว์มงคล หรือที่คนจีนเรียกว่า "กิ๊กเสี่ยงสิ่ว" อันได้แก่ เทวดาขี่หงส์ มังกร สิงโต ม้าน้ำ ม้าเทวดา แพะเทวดาเขาเดียว กระทิงเทวดา ปลาเทวดา และนกเค้าแมว

และแน่นอนว่าสัตว์ที่ประดับบนมุมหลังคาไม่ได้เลือกมาประดับเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องมีความหมายอันลึกซึ้งแฝงไว้ด้วย สำหรับ มังกรและหงส์ เป็นสัญลักษณ์ของการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข, สิงโตแสดงถึง ความกล้าหาญ, ม้าน้ำและม้าเทวดาแสดงถึงความโชคดี, กระทิง ปลาเทวดา และนกเค้าแมว เป็นสัญลักษณ์ของการป้องกันอัคคีภัย, แพะเทวดาเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นธรรม นั่นเอง

ซึ่งหลังจากที่เดินชมความงามอันน่าพิสมัยของ "วัดบรมราชากาญจนาภิเษกฯ" แห่งนี้แล้ว ก็ต้องขอบอกเลยว่าสวย งาม สง่า อลังการ มากจริงๆ ใครยังไม่เคยมายลด้วยตาตนเองล่ะก็ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ขอแนะนำให้หาวันว่างขับรถมาเที่ยวเสริมบุญกันได้ จะมาเดี่ยว มาคู่ หรือมาเป็นครอบครัวหมู่คณะ ก็ได้หมด ไม่ต้องไปไกลถึงปักกิ่งแค่นนทบุรีนี่เอง รับรองว่าคุ้มค่าจริงๆ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ ตั้งอยู่ที่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี มีรถเมล์สาย 127 ผ่าน ซึ่งผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร.0-2571-1155, 0-2920-2131


ชมรูปจากเรื่อง : งามวิจิตรอลังการ "วัดบรมราชาฯ" ต่อได้ที่นี่
กำลังโหลดความคิดเห็น