กำแพงเมืองจีน พระราชวังต้องห้าม มรดกโลกจิ่วไจ้โกว ลี่เจียง......ฯลฯ ล้วนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเลื่องชื่อของจีนที่ใครได้ไปเยี่ยมชมต่างต้องกลับมาเล่าถึงความงดงามให้ฟัง แต่นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว ที่ที่นักท่องเที่ยวร้อยละร้อยนิยมกล่าวขวัญถึงไม่แพ้กันเวลาไปเที่ยวประเทศจีนเห็นจะหนีไม่พ้น “ห้องน้ำ” ที่ขึ้นชื่อเรื่องความสกปรก และโจ๋งครึ้มมากๆ จนนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่กล้าเยื้องกรายเข้าไป
บางคนไปเจอห้องน้ำแบบราง กล่าวคือเป็นห้องน้ำที่ทำธุระใส่รางและราดน้ำ ของเสียทั้งหมดจะไหลผ่านไปแต่ละห้องๆ และไปกองรวมกันอยู่ที่ห้องสุดท้าย บางคนเจอห้องน้ำแบบไม่มีประตู จะทำธุระทีต้องหาหนังสือพิมพ์มานั่งกางปิดหน้าตัวเอง
เรื่องแบบนี้ชาวจีนเขารู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดาและธรรมชาติเอามากๆ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่สำหรับชาวต่างชาติที่ไม่คุ้นชินแล้วก็อาจจะรู้สึกอึ้งบวกอายไม่กล้าเข้ากันไปเลย แม้ว่าเดี๋ยวนี้ในโรงแรม ห้างสรรพสินค้า และสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งจะมีการปรับปรุงเรื่องห้องน้ำห้องท่าให้ดูเป็นสากลมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าห้องน้ำส่วนใหญ่ อาทิ ตามโรงเรียน ร้านอาหารบางแห่ง ก็ยังคงอนุรักษ์ของเดิมไว้อยู่ อย่างไรก็ตาม ห้องน้ำจีนในวันนี้ก็เรียกได้ว่า พัฒนาจากห้องน้ำในอดีตอยู่มากโข
ปักกิ่ง เมืองหลวงที่ไร้ห้องน้ำ
ย้อนไปในอดีต..ปักกิ่งซึ่งเป็นเมืองหลวงของจีนนั้น เคยเผชิญกับวิกฤตสุขอนามัยการขับถ่ายมาแล้ว
ในสายตาของชาวโลก เมืองปักกิ่งเป็นเมืองหลวงสำคัญ และเป็นที่ประทับของฮ่องเต้จีนหลายต่อหลายสมัย ซึ่งความเจริญต่างๆ น่าจะกระจุกตัวอยู่ที่นี่อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ใครเลยจะเชื่อว่าในอดีตบรรยากาศเหนือเมืองปักกิ่งนั้นเคยตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นเหม็นของสิ่งปฏิกูล เรื่องที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ทางที่ดีไม่ควรอ่านช่วงใกล้เวลารับประทานอาหาร เพราะจะพาลรับประทานอาหารไม่ลงเสียเปล่าๆ
ปักกิ่งในศตวรรษที่ 16-19 ซึ่งตรงกับราชวงศ์หมิง-ชิงนั้น ห้องน้ำสาธารณะถือว่าขาดแคลนเอามากๆ ถึงขั้นมีคำพูดที่ว่า “เมืองปักกิ่งไม่มีห้องน้ำ” เลยทีเดียว ในหนังสือ เหวินฟั่นเสียวผิ่น ของหวังซื่อเหริน ในสมัยราชวงศ์หมิงนั้น ถึงขนาดเปรียบเปรยปักกิ่งว่าเป็นห้องส้วมขนาดใหญ่ นี่เป็นการพูดเกินจริงไปหน่อยหรือเปล่า
แต่ในความเป็นจริงแล้ว สถานการณ์เลวร้ายกว่าที่หวังซื่อเหรินเปรียบไว้มากนัก เนื่องจากห้องน้ำสาธารณะในเมืองปักกิ่งนั้นมีน้อยมาก แถมยังเก็บค่าเข้าอีก ถ้าหากไม่ใช่ห่วงหน้าตา หรือ ถือสาเรื่องอื่นใดก็ตาม ตามปกติแล้วไม่มีใครใช้เวลาครึ่งค่อนวันเดินหาห้องน้ำเข้าหรอก ส่วนใหญ่ก็ตัดสินใจปัสสาวะกันข้างทางทั้งนั้น ไม่เฉพาะชาวบ้านคนธรรมดาเท่านั้น แม้แต่ข้าราชการบางคนก็ทำเช่นนี้เหมือนกัน ไม่เพียงแต่ชายที่ทำ หญิงก็ทำ มีทั้งปลดทุกข์หนัก ทุกข์เบา ทั้งมูลคน มูลสัตว์เรี่ยร่ายรายทาง นอกจากนี้ปักกิ่งยังไม่ใช่แค่ห้องน้ำสาธารณะขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังเป็นถังขยะยักษ์ ที่รองรับขยะทุกประเภทด้วย
กระทั่งถึงปลายราชวงศ์ชิง สถานการณ์ถึงได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ถนนแต่ละสายในเมืองปักกิ่งเริ่มมีการสร้างห้องน้ำสาธารณะขึ้นใช้ และไม่อนุญาตให้ชาวบ้านขับถ่ายเรี่ยราดอีก แถมยังพัฒนาขึ้นจนมีบริการรถสุขาเคลื่อนที่อีกด้วย จากเมืองหลวงที่อุดมไปด้วยกลิ่นเหม็น ก็ค่อยๆ สะอาดขึ้นเรื่อยๆ
แปล/เรียบเรียงโดย สุกัญญา แจ่มศุภพันธ์