xs
xsm
sm
md
lg

WALLPAPER: Rave of Beijing

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บางคนกล่าวว่า ช่วงก่อนกีฬาโอลิมปิกกรุงปักกิ่งเปรียบเสมือน “สนามเด็กเล่นแห่งใหม่” ของบรรดาสถาปนิกระดับโลก บ้างเปรียบเปรยว่าช่วงเวลานี้กรุงปักกิ่งกำลังอยู่ในช่วงเวลาของการ “ก้าวกระโดดครั้งใหญ่ทางสถาปัตยกรรม (The Great Architecture Leap Forward)” ซึ่งเป็นการล้อประวัติศาสตร์จีนในยุคก้าวกระโดดครั้งใหญ่ (The Great Leap Forward หรือ 大跃进) ซึ่งเป็นนโยบายของประธานเหมา เจ๋อตงในช่วงปี ค.ศ.1958-1960 ที่พยายามจะเพิ่มกำลังการผลิตอาหารและอุตสาหกรรมในประเทศจีน ทว่า ประสบความล้มเหลวจนทำให้มีประชาชนชาวจีนอดตายไปนับสิบล้านคน

นิตยสาร Wallpaper ฉบับเดือนมิถุนายน 2551 ภาคภาษาไทย นิตยสารที่เรียกตัวเองว่า International Design Interiors Fashion Travel ลงทุนบุกไปถึงกรุงปักกิ่งเพื่อพิสูจน์คำพูดที่ว่านั้นและก็ได้หลักฐานกลับมาเพียบไม่ว่าจะเป็น

Terminal 3 อาคารผู้โดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งใหม่ของสนามบินนานาชาติที่เพิ่งสร้างเสร็จภายใต้ฝีมือการออกแบบของ Norman Foster สถาปนิกชาวอังกฤษ

สนามกีฬาแห่งชาติแห่งใหม่ของกรุงปักกิ่ง (Beijing National Stadium) หรือที่รู้จักกันในนาม สนามกีฬารังนก (Bird’s Nest) ที่ออกแบบโดย Herzog & de Meuron บริษัทจากสวิตเซอร์แลนด์

ศูนย์การแข่งขันกีฬาทางน้ำแห่งชาติ (National Aquatics Center) หรือที่มีชื่อเล่นว่า ลูกบาศก์น้ำ (Water Cube) อาคารที่ได้รับรางวัลการออกแบบมามากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยลูกบาศก์น้ำกลางกรุงปักกิ่งนี้ออกแบบโดยทีมสถาปนิก PTW จากออสเตรเลีย CSCEC (China State Construction Engineering Corporation) ของจีน และทีมวิศวกรของ Arup จากอังกฤษ

ตึกสถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CCTV) และ Television Cultural Center (TVCC) อาคารสำนักงานแห่งใหม่รูปตัว Z ชนกันสองตัว ซึ่งออกแบบโดยทีมสถาปนิกจากยุโรป OMA ซึ่งมีหัวหน้าสถาปนิกคือ Rem Koolhass สถาปนิกจากเนเธอร์แลนด์

โรงอุปรากรแห่งชาติ (National Centre for the Performing Arts หรือ NCPA) โรงอุปรากรที่ตั้งอยู่ติดกับมหาศาลาประชาชนใกล้จัตุรัสเทียนอันเหมินและพระราชวังต้องห้าม ด้วยรูปลักษณ์ทำให้โรงอุปรากรแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นไข่ยักษ์ (巨蛋) หยดน้ำยักษ์ หรือ ซาลาเปายักษ์ แล้วแต่ใครจะเรียก ทั้งนี้อาคารรูปทรงแปลกที่ผุดขึ้น ณ ศูนย์กลางของกรุงปักกิ่งแห่งนี้ออกแบบโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศสนาม Paul Andreu

The Palace (世贸天街) แหล่งชอปปิ้งในเขตตะวันออกของกรุงปักกิ่งที่ดึงดูดผู้มาเยือนด้วยหลังคาจอภาพขนาดยักษ์ (Sky Screen) มีความกว้าง 30 เมตร สูง 30 เมตร ยาว 250 เมตร และมีขนาดครอบคลุมพื้นที่กว่า 7,500 ตารางเมตร หลังคาประดับ LED แห่งนี้ออกแบบโดย Jeremy Railton แห่ง Entertainment Design Group ผู้สร้างจอยักษ์ The Canopy ของ Fremont Street Experience ในลาส เวกัส

นอกจากบรรดาสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ว่าแล้ว Wallpaper ฉบับนี้ก็ยังพาไปดู การโละบ้านเก่ามาทำเมืองใหม่ต้าจ้าล่าน (大栅栏) ย่านเฉียนเหมิน, Financial District (金融街), Part Hyatt Beijing, China World Trade Center Tower ,อาคาร New Beijing Poly Plaza, New Town SOHO, ย่านศิลปะ 789 Art District รวมถึงไปฟังศิลปิน-สถาปนิกจีนคุยถึงรูปโฉมใหม่เอี่ยมอ่องของกรุงปักกิ่ง อีกด้วย

แม้นี่จะย่างเข้าเดือนกรกฎาคมแล้ว แต่ Wallpaper ฉบับ Rave of Beijing นี้ก็ยังพอให้ซื้อได้ตามแผงทั่วไป

รายละเอียดหนังสือ
ชื่อหนังสือ Wallpaper : Rave of Beijing ฉบับเดือนมิถุนายน 2551
ผู้พิมพ์ บริษัท มีเดีย เอกซ์เพอร์ทีส อินเตอร์เนชั่นแล (ประเทศไทย) จำกัด
ISSN 1686-994x
ราคา 120 บาท

*หน่วยงาน/บุคคลใดที่ต้องการแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับจีนในรูปแบบหนังสือ สามารถส่งหนังสือมาได้ที่ “โต๊ะจีน หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 102/1 ถ.พระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200” กรุณาวงเล็บด้วยว่า “(คอลัมน์หิ้งหนังสือ)”

กำลังโหลดความคิดเห็น