เอเยนซี - แผ่นดินไหวซื่อชวน (เสฉวน) พลิกโฉมแผ่นดินใหญ่ เทียบชั้นวิกฤตการณ์เทียนอันเหมิน สานสัมพันธ์เมือง-ชนบท สร้างทัศนคติเห็นใจเพื่อนมนุษย์ กระตุ้นเด็กรุ่นใหม่บำเพ็ญประโยชน์ ผสานรอยร้าวในชาติ
ณ เวลา 14.28 นาฬิกา วันที่ 19 พ.ค. ผู้คนจำนวนมากต่างเดินทางมาชุมนุมที่จตุรัสเทียนอันเหมิน พวกเขาก้มศีรษะรักษาอาการสงบนิ่งหลายนาทีภายใต้บรรยากาศชวนหดหู่ หลายคนร้องไห้ทั้งน้ำตา หลังจากนั้นพวกเขาต่างชูกำปั้นขึ้น พร้อมร้องตะโกนดังอื้ออึงทั่วจตุรัส ทว่าคราวนี้เจ้าหน้าที่ไม่ได้เข้าสลายการชุมนุม เช่นเหตุการณ์ประท้วงที่จตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 เพราะว่าครั้งนี้ชาวจีนจำนวนมากมาชุมนุมเพื่อไว้อาลัยแก่เหยื่อแผ่นดินไหว
จตุรัสเทียนอันเหมินคือ พื้นที่ซึ่งบรรจุเปี่ยมไปด้วยความทรงจำแห่งการต่อสู้ทางการเมือง กระทั่งกลายเป็นพื้นที่อ่อนไหว ที่ทางการต้องคอยเฝ้าระวังการชุมนุมในบริเวณนี้เป็นพิเศษ เพราะการชุมนุมที่จัตุรัสแห่งนี้ในปี 1989 สร้างผลสะเทือนต่อจีนในปัจจุบันอย่างรุนแรง การปราบปรามผู้ชุมนุมในวันที่ 4 มิ.ย. 1989 กลายเป็นเหตุการณ์ที่โลกไม่ลืมและยังคงเป็นวิกฤตการณ์ที่ตามหลอกหลอนรัฐบาลในปัจจุบัน หลังการปราบปรามครั้งนั้นจีนได้เร่งเครื่องนโยบายเปิดและปฏิรูปประเทศ โดยให้เหตุผลว่า วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนายังเดินไปไม่สมบูรณ์ ทว่าหลายปีหลังการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเทศจีนต้องประสบกับปัญหามากมาย ทั้งช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบท และคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาท่ามกลางลัทธิบริโภคนิยม จนบางครั้งถูกนิยามว่าเห็นแก่ตัว ไม่มีจิตใจรับใช้ประชาชน เอื้ออารีเช่นคนรุ่นก่อน
อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหววันที่ 12 พ.ค. 2008 ที่มณฑลซื่อชวน จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศจีน และเป็นเหตุการณ์ที่จะถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ ต่อจากวิกฤตการณ์เทียนอันเหมิน
ซูซาน เชิร์ค ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ผู้แต่งหนังสือ “จีน: มหาอำนาจที่เปราะบาง” (China: Fragile Superpower) แสดงทัศนะว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวนี้จะเป็นที่จดจำของชาวจีน เช่นเดียวกับวิกฤตการณ์เทียนอันเหมิน และการปฏิวัติวัฒนธรรม
เยาวชนจีนจำนวนมากมุ่งหน้าไปยังซื่อชวนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย สันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์มณฑลเหอหนันก็ส่งทีมช่วยเหลือวัยรุ่นไปยังเป่ยชวน หนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด เพื่อบรรเทาสาธารณภัย
“เรามาที่นี่เพื่อบอกกับผู้ประสบภัยว่า พวกเขาไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว” หู ฟาง อาสาสมัครจากเซี่ยเหมินกล่าว หูและเพื่อน 4 คนจากองค์กรพุทธแห่งหนึ่งได้เดินทางมายังซื่อชวน เพื่อบรรเทาสาธารณภัย พวกเขาร่วมกันคนอื่นๆที่หลั่งใหลมาจากทั่วประเทศช่วยกันจัด และซ่อมแซมอารามในลัทธิเต้า (เต๋า) แห่งหนึ่งในซื่อฟาง เพื่อใช้เป็นฐานในการแจกจ่ายสิ่งของสำหรับผู้ประสบภัย
การรวมตัวเคลื่อนไหวดังกล่าวของวัยรุ่นเป็นเรื่องที่หาได้ยากในประเทศจีน ที่ผ่านมามีเพียงการปฏิวัติวัฒนธรรมในปี 1968 และวิกฤตการณ์เทียนอันเหมินปี 1989 เท่านั้นที่เยาวชนจีนระดมพล รวมตัวกันอย่างแน่นหนา และการรวมตัวดังกล่าวล้วนมีรากสาเหตุ โดยรัฐเป็นผู้ผลักดัน หรือเป็นชนวนต้นเหตุ
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ปลุกระดมกระแสชาตินิยมในหมู่วัยรุ่น ทว่ากลุ่มเยาวชนดังกล่าวก็มักสลายตัวไปเมื่อเหตุการณ์ และอารมณ์ของฝูงชนดำเนินไปถึงขั้นหนึ่ง ทว่าสำหรับการรวมตัวเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งนี้ แดเนียล เบลล์ แห่งมหาวิทยาลัยชิงหัวชี้ว่า เป็นกระแสชาตินิยมอย่างหนึ่ง ทว่าเป็นชาตินิยมที่ริเริ่มโดยภาคประชาชน และมีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์มากกว่าครั้งอื่น ที่สำคัญเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยภาคประชาชน
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ค่อนข้างทำให้รัฐบาลพอใจ ก่อนหน้าแผ่นดินไหวรัฐบาลต้องปวดหัวกับช่องว่างรวย-จน และความแตกต่างระหว่างเมือง-ชนบท เบลล์ชี้ว่า แผ่นดินไหวในซื่อชวนทำให้ผู้คนเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น ที่เฉิงตูกลุ่มเยาวชนถือกล่องบริจาคเดินไปทั่วเมือง พร้อมตะโกนให้กำลังใจผู้ประสบภัย บางคนก็ร้องเพลงเกี่ยวกับสันติภาพและความรัก นอกจากนี้เหตุการณ์แผ่นดินไหวยังทำให้เราเห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่ถูกซ่อนไว้อาทิ การคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ และการต่อต้านของประชาชน เบลล์หวังว่าคลื่นอารมณ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การเมืองเพื่อสังคมที่ยุติธรรม นำไปสู่การเกิดขึ้นขององค์กรเอกชนเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม, ต่อต้านการคอร์รัปชั่น และต่อสู้เพื่อสิทธิของแรงงานอพยพ
หู ฟาง กล่าวว่า “พวกเราบางคนที่เข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยหวังที่จะติดต่อกันต่อไป บางทีอาจจะมีการตั้งกระดานข่าวออนไลน์ของอาสาสมัคร หลังการช่วยเหลือจบสิ้น”
เชิร์ค กล่าวว่า การรวมตัวของเยาวชนครั้งนี้อาจนำไปสู่การเกิดขึ้นขององค์กร และเครือข่ายต่างๆ ซึ่งรัฐบาลอาจสงสัยว่า จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเมืองของรัฐหรือไม่ อย่างไรก็ตามรัฐอาจเรียนรู้และมองเห็นว่า เครือข่ายดังกล่าวไม่ได้ก่อผลเสีย สั่นคลอนบัลลังก์พรรคเช่นที่พรรคเคยมีอคติเมื่อปี 1989 “พลังเยาวชน และเครือข่ายภาคประชาชนครั้งนี้อาจช่วยผสานรอยร้าวต่างๆในประเทศได้ด้วยซ้ำ”
แม้แต่ ติง จื่อหลิน ผู้ตั้งกลุ่มมารดาผู้สูญเสียบุตรไปกับการปราบปรามของรัฐ ในวิกฤตการณ์เทียนอันเหมินยังรู้สึกทึ่งกับการเปลี่ยนแปลงหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว “การไว้อาลัยให้ความสำคัญกับผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นคนธรรมดา เช่นเดียวกับการไว้อาลัยให้ผู้นำระดับสูง เป็นการสะท้อนว่า มโนทัศน์เรื่องการเคารพให้ความสำคัญกับชีวิตมนุษย์เริ่มหยั่งราก และจะยิ่งหยั่งรากลึกลงในจีน” ติงกล่าวด้วยความหวัง หลังเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากซื่อชวนเอฟเฟกต์