xs
xsm
sm
md
lg

บัลซัคกับสาวน้อยช่างเย็บผ้าชาวจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บัลซัคกับสาวน้อยช่างเย็บผ้าชาวจีน (Balzac et la petite tailleuse chinoise) เป็นนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติของนักเขียนจีนนาม ไต้ ซือเจี๋ย (戴思杰)

ไต้ ซือเจี๋ย เกิดเมื่อปี พ.ศ.2497 (ค.ศ.1954) ในครอบครัวปัญญาชนของจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวน ช่วงชีวิตวัยเยาว์ของไต้ ซือเจี๋ย ต้องผ่านเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของจีนและของโลกนั่นคือ การปฏิวัติทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่ (Cultural Revolution หรือ 文化大革命; พ.ศ.2509-2519) โดยเขาในฐานะของลูกหลานของชนชั้นปัญญาชนในเมืองต้องถูกส่งไปยังบ้านนอกในถิ่นทุรกันดาร หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า “ซ่างซานเซี่ยเซียง (上山下乡) โดยจุดประสงค์ของการส่งบรรดาเยาวชนออกสู่ชนบทนั้นนอกเหนือจากเหตุผลทางการเมืองแล้ว ก็คือ การส่งไปสัมมนาเพื่อดัดแปลงตัวเอง (Re-education หรือในภาษาจีนคือ 再教育)

สำหรับซือเจี๋ย เขาถูกส่งตัวไปในถิ่นทุรกันดารในช่วงปี พ.ศ.2514-2517 (ค.ศ.1971-1974) และนั่นก็คือที่มาของนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติเล่มนี้ ซึ่งในเวลาต่อมาหลังจากเขากลับเข้าสู่เมืองเพื่อศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาและศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลปะในระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยหนานไคแล้ว ในปี พ.ศ.2527 (ค.ศ.1984) เขาก็ได้ทุนไปศึกษาต่อ ณ ประเทศฝรั่งเศส และต่อมาก็อาศัยอยู่ที่ฝรั่งเศสเป็นการถาวรโดยหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์และนักเขียน

บัลซัคกับสาวน้อยช่างเย็บผ้าชาวจีน บอกเล่าเรื่องราวของเด็กชายวัยรุ่นสองคนจากครอบครัวของชนชั้นปัญญาชนชาวจีนที่ถูกส่งตัวไปสัมมนาเพื่อดัดแปลงตัวเองในหมู่บ้านอันแสนทุรกันดารบนภูเขาหัวซาน โดยระหว่างการใช้ชีวิตในฐานะชนชั้นแรงงานบนภูเขานั้นเขาก็มีโอกาสได้พบกับสาวน้อยช่างเย็บผ้า เด็กสาวชาวบ้านผู้ไร้เดียงสา

เมื่อพบกับสาวน้อยช่างเย็บผ้า เด็กหนุ่มทั้งสองคนคล้ายกับได้พานพบดอกบัวตูมอันแสนงดงามท่ามกลางความป่าเถื่อนของชีวิตในหุบเขา ทั้งนี้นอกจากสาวน้อยช่างเย็บผ้าแล้วเด็กหนุ่มสองคนยังได้ค้นพบแหล่งพักพิงทางจิตวิญญาณเป็นหนังสือวรรณกรรมของเหล่านักเขียนนามระบือโลกอย่าง บัลซัค, วิกเตอร์ ฮูโก, สเตนดาห์ล, รุสโซ, ตอลสตอย, โกโกล, ดอสโตเยฟสกี, ดิกเกนส์ ฯลฯ ซึ่งในห้วงเวลาของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่ในประเทศจีน วรรณกรรมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็น ‘หนังสือต้องห้าม’ ทั้งสิ้น ......

บัลซัคกับสาวน้อยช่างเย็บผ้าชาวจีน ถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2543 (ค.ศ.2000) ในภาษาฝรั่งเศสโดยได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มียอดพิมพ์ในฝรั่งเศสกว่า 650,000 เล่ม ทั้งยังได้รับรางวัลทางวรรณกรรมในฝรั่งเศส 5 รางวัล ขณะที่ในเวลาต่อมาได้ถูกแปลเป็นภาษาอื่นๆ มากกว่า 20 ภาษา และถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในอีกสามปีต่อมา (พ.ศ.2546)

ต้องถือเป็นความโชคดีของคนไทยที่มีโอกาสได้อ่านงานวรรณกรรมจีนยุคใหม่ที่เขียนถึงประวัติศาสตร์ในยุคของการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่ (แม้ต้นฉบับแรกเริ่มจะถูกตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศส แต่ก็อาจนับเป็นวรรณกรรมจีนได้) เพราะสำหรับคนไทยแล้วงานวรรณกรรมจีนยุคใหม่ชั้นดีนั้นหาอ่านได้ยากเต็มทน ทั้งนี้ทั้งนั้นคงต้องกล่าวแสดงความชื่นชมสำนักพิมพ์ Bliss Publishing และ ผู้แปลคือคุณโตมร ศุขปรีชา ที่ทำการศึกษาค้นคว้าและทำการบ้านเพื่อแปลวรรณกรรมเล่มนี้อย่างละเอียดลออ

สำหรับผู้เขียนแล้ว มีโอกาสอ่านวรรณกรรมเล่มนี้เป็นครั้งแรกเมื่อหนังสือฉบับภาษาไทยตีพิมพ์ออกมาใหม่ๆ และกลับมาอ่านหนังสือเล่มนี้อีกครั้งก่อนที่จะเขียนคอลัมน์หิ้งหนังสือนี้ได้ไม่นาน โดยพบว่าอรรถรสและประสบการณ์สองครั้งที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

กล่าวคือ ยิ่งอ่านก็ยิ่งพบว่านวนิยายเล่มนี้ นอกจากผู้อ่านจะสามารถอ่านเพื่อเก็บเกี่ยวเอาอรรถรสในรูปแบบของหนังสือนวนิยายได้แล้ว ยังสามารถอ่านเพื่อเก็บเกี่ยวเอาเนื้อหาสาระและเกร็ดทางสังคม-ประวัติศาสตร์ประเทศจีนในช่วงของการปฏิวัติวัฒนธรรมได้อีกด้วย

รายละเอียดหนังสือ
ชื่อหนังสือ บัลซัคกับสาวน้อยช่างเย็บผ้าชาวจีน
ผู้เขียน ไต้ ซือเจี๋ย
ผู้แปล โตมร ศุขปรีชา
สำนักพิมพ์ Bliss Publishing พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2547
ISBN 974-92224-1-5
ราคา 145 บาท




ตัวอย่างภาพยนตร์บัลซัคกับสาวน้อยช่างเย็บผ้าชาวจีน (ค.ศ.2002) เวอร์ชั่นภาษาฝรั่งเศส ที่นำแสดงโดยโจว ซวิ่น, หลิว เย่ และ เฉิน คุน โดยไต้ ซือเจี๋ยเป็นผู้เขียนบทและกำกับเอง ทั้งยังได้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศในปี พ.ศ.2546 (ค.ศ.2003) ด้วย

*หน่วยงาน/บุคคลใดที่ต้องการแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับจีนในรูปแบบหนังสือ สามารถส่งหนังสือมาได้ที่ “โต๊ะจีน หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 102/1 ถ.พระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200” กรุณาวงเล็บด้วยว่า “(คอลัมน์หิ้งหนังสือ)”
กำลังโหลดความคิดเห็น