ณ มุมหนึ่งทางภาคตะวันออกของจีน เมืองเล็ก ๆ นามว่าอี้อูซุกตัวอยู่อย่างเงียบสงบมาช้านาน จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อพ่อค้าอาหรับคิ้วเข้ม ตาคม จมูกโด่งงุ้มดุจเหยี่ยว ย่างกรายเข้ามา ทุกสิ่งทุกอย่างก็แปรเปลี่ยนไป
เม็ดเงินจากดินแดนตะวันออกกลางพรั่งพรูสู่เมือง ราวกับนักมายากลร่ายมนตรา ปลุกเส้นทางค้าไหมในอดีตกาล สะดุ้งตื่นจากนิทราอันยาวนาน เมืองน้อยในมณฑลเจ้อเจียง มีผู้คนอาศัยอยู่ 2 ล้านคนแห่งนี้ กลับกลายเป็นเมืองค้าขายแหล่งใหญ่ เชื่อมระหว่างจีนกับตะวันออกกลางบนเส้นทางค้าไหมสายใหม่ในศตวรรษที่ 21
แต่ละปีพ่อค้าวานิชชาวอาหรับหลายแสนคนจะหลั่งไหลมายังอี้อู เหมือนฝูงผึ้งบิน
ตอมหึ่งๆ หาซื้อสินค้าราคาถูก เพื่อนำไปขายในบ้านเมืองของตน หากผ่านไปที่สุเหร่าใหญ่ในเมืองทุก ๆ วันศุกร์ ก็จะมองเห็นภาพแว่บหนึ่งของความรุ่งเรืองแห่งธุรกิจค้าขายที่นี่ คนซื้อของจากเลบานอน พ่อค้าจากเยเมน นักธุรกิจจากอียิปต์ ล้วนมาชุมนุมกัน ทำละหมาดประจำสัปดาห์ในสุเหร่าใหญ่แห่งนี้
หลายคนเดินจากตลาดค้าส่ง ซึ่งมีอยู่ทั่วเมือง ตรงแน่วมา พอเสร็จพิธีกรรมทางศาสนา ก็มักตรงดิ่งกลับไปทำมาหากินต่อ
นักธุรกิจชาวปาเลสไตน์ ฮาเซ็ม ชูคี วัย 30 ปี เป็นพวกแรก ที่รอนแรมเดินทางไกลมาถึงดินแดนแห่งนี้ในปี 2543 ย้อนกลับไปในเวลานั้น อี้อูยังเป็นเพียงเมืองค้าขายสินค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ในประเทศครั้นเหลือบมองแผงลอยในตลาด ซึ่งขายสินค้าจิปาถะ มีตั้งแต่แปรงสีฟันไปจนถึงเข็มขัด ความทรงจำอันแสนรัก เมื่อครั้งเริ่มต้นอาชีพ ก็ผุดขึ้นมา
“ตอนปี 2543 อี้อูเหมือนหมู่บ้านเล็ก ๆ หมู่บ้านหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ เป็นเมืองใหญ่โต ชาวต่างชาติ ชาวมุสลิมเยอะแยะเต็มไปหมด ทุกอย่างเปลี่ยนไป เพราะธุรกิจที่นี่”เขาเล่า
การมาถึงของพ่อค้าตะวันออกกลางและเงินทองทำให้เมืองน้อยเติบโตทีละน้อยจนกลายเป็นแหล่งขายสินค้าผลิตในจีนขายให้แขกอาหรับ เช่น เสื้อผ้า,เครื่องประดับประดา และข้าวของเครื่องใช้ทางศาสนา และอี้อูก็รุ่งเรืองนับแต่นั้นมา พ่อค้าหลายคนอย่างฮาเซ็มลงทุนเปิดร้านค้าในเมือง ขายสินค้าคุณภาพดีและราคาถูกแก่ชาวตะวันออกกลาง ซึ่งมาหาซื้อของ
พ่อค้าเหล่านี้มักเป็นคนหนุ่มชาวตะวันออกกลาง ซึ่งลองเสี่ยงทำธุรกิจครั้งแรกด้วยการมาหาซื้อของ เพื่อเป็นแหล่งจัดส่งสินค้าสำหรับใช้สอยประจำวันในบ้าน โดยสินค้าประเภทนี้เข้าไปหาซื้อไม่ได้ในบางเขต ซึ่งมีการต่อสู้กันในตะวันออกกลาง
ไม่มีอะไรเป็นอาวุธ นอกจากไหวพริบแหลมคมทางการค้า ธุรกิจของชาวอาหรับหลายคนดำเนินไปได้สวย พร้อมกันนั้น พวกเขายังหัดพูดภาษาอังกฤษและภาษาจีนกลาง เพื่อสลักเสลาอนาคตอาชีพการค้าให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ
นักธุรกิจมองว่า ข้อได้เปรียบของอี้อูวันนี้ก็คือราคาสินค้ามีความเหมาะสม และผู้มาซื้อสามารถซื้อสินค้าในปริมาณที่ต้องการได้
“นักธุรกิจชาวอาหรับหลายคนมุ่งหน้ามาทำธุรกิจที่นี่ เพราะกิตติศัพท์ของอี้อู นอกจากนั้น ลูกค้าชาวอาหรับของเราเองก็มาเหมือนกัน ไม่ไปที่อื่น เพราะเขาสามารถหาซื้อสินค้าปลีกจำนวนไม่มากนักกลับไปได้ ไม่ถูกเจาะจงให้ต้องซื้อกลับไปจำนวนมาก” อาลี ฮัสเซนี่ นักธุรกิจหนุ่มเลบานอน วัย 30 ปีเล่าด้วยภาษาจีนกลางคล่องปรื๋อ
นอกจากการค้าขายเฟื่องฟูแล้ว อี้อูยังกลายเป็นบ้านในอุดมคติสำหรับครอบครัวพ่อค้าอาหรับ ที่มาค้าขายอีกด้วยแต่ละวัน ฮาเซ็ม ชูคี จะเดินจากร้าน ซึ่งก็อยู่ภายในบ้านของเขาเอง ขึ้นบันไดไปชั้นบน รับประทานอาหารกลางวันกับภรรยาและลูกสาวทั้ง 3 คน เขาย้ายครอบครัวมาจากเมืองเฮบรอนเมื่อปีที่แล้ว โดยตอนนั้น ยังวิตกว่าอาจปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ได้
แล้วก็พบว่า เป็นความวิตกกังวลที่ไร้สาระ เพราะปรากฏว่าภรรยาใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสบาย ส่วนลูก ๆ ก็ได้เข้าโรงเรียน
“ชีวิตตอนนี้สบายมาก เพราะสถานการณ์ที่นี่ต่างจากปาเลสไตน์” ชีเรียน ชูคี วัย 25 ปีเผย
“ที่ปาเลสไตน์ บรรยากาศตึงเครียดมาก ก้ออย่างที่คุณทราบน่ะแหละ อิสราเอลควบคุมทุกอย่าง แม้แต่เศรษฐกิจ ฉันเลยว่าชีวิตที่นี่สบายกว่าแยะ”
แปลและเรียบเรียงจาก Middle East trade rekindles Silk Road in China city YIWU,China จากรอยเตอร์