วอชิงตัน โพสต์ - ผลกระทบหลังแผ่นดินไหว ทำหลายโรงงานหยุดนิ่ง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ชี้สาเหตุหลักไม่ใช่เพราะขาดวัตถุดิบ หรือเครื่องจักรพัง แต่เป็นเพราะแรงงานขวัญผวาไม่กล้ากลับเข้าทำงาน
“ผู้คนต่างหวาดหวั่น จนไม่กล้ากลับไปทำงาน” จาง เจิ้งเจีย พนักงานขายของ บริษัทสือฝางอันต๋า เคมีคอล ผู้ผลิตปุ๋ยส่งออกรายใหญ่ในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) กล่าว พร้อมระบุว่า แผ่นดินไหวครั้งมหากาฬสร้างความเสียหายให้กับโรงงานเพียงเล็กน้อย และขณะนี้ทางบริษัทก็พร้อมกลับมาดำเนินการผลิต ทว่าพนักงานกลับหนีหน้าไม่กล้ากลับมาทำงาน เนื่องจากยังหวาดกลัวอยู่
ผู้อำนวยการของโรงงานระบุว่า เมื่อวันจันทร์ (19) มีพนักงานเพียง 10 คนเท่านั้นที่มาทำงาน จากจำนวนพนักงานที่มีมากกว่า 130 คน ทางโรงงานคาดว่า หากได้เปิดดำเนินการตามปกติภายในสัปดาห์นี้ ก็จะส่งผลกระทบให้ราคาปุ๋ยอยู่ในระดับปัจจุบัน แต่ถ้าเหตุการณ์กลับตาลปัตร อาจทำให้ราคาปุ๋ยเพิ่ม เนื่องจากทางบริษัทผลิตเพื่อส่งออกสู่ตลาดอเมริกาและยุโรปจำนวนมาก
แผ่นดินไหวครั้งรายแรงที่อุบัติขึ้นไม่เพียงส่งผลกระทบทางกายเท่านั้น ผู้ที่มิได้ตกเป็นเหยื่อภัยธรรมชาติโดยตรง ต่างก็ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากภาพสุดสลดโดยรอบ
แม้รัฐบาลและนักวิชาการส่วนหนึ่งจะออกมาชี้ว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภัยธรรมชาติครั้งนี้อยู่ในวงจำกัด ไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนรุนแรงอย่างที่คาด ทว่าหนึ่งสัปดาห์หลังธรณีพิโรธ โรงงานหลายแห่งยังคงปิดดำเนินการ แถมคนงานจำนวนมากยังขวัญผวาไม่กล้ากลับเข้าทำงาน
ถึงซื่อชวนจะไม่ใช่ฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมที่สำคัญ ทว่าซื่อชวนก็เป็นแหล่งอาหารจำพวกธัญพืช, เนื้อหมู และพลังงานธรรมชาติที่สำคัญของจีน ฉะนั้นแม้หลายฝ่ายจะฟันธงว่า โดยรวมเศรษฐกิจจีนไม่น่าจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากการบูรณะด้วยโครงการก่อสร้างต่างๆ จะช่วยผลักดันให้เกิดการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ ทว่านักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งยังคงกังวลว่า เงินเฟ้ออาจเป็นอาฟเตอร์ช็อคที่ตามมาหลังแผ่นดินไหว
เสิ่น หมิงเกา นักวิเคราะห์จากซิติกรุ๊ป ปักกิ่ง แสดงทัศนะว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้ อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน เนื่องจากแผ่นดินไหวส่งผลกระทบต่ออุปทานภายในประเทศทำให้จีนต้องนำเข้าน้ำมันในปริมาณมากขึ้น เมื่อวันศุกร์ (16) ที่ตลาดนิวยอร์คราคาน้ำมันดิบทะยานขึ้นเป็น 128 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากหลายฝ่ายเก็งว่า จีนน่าจะนำเข้ามากขึ้น
ทั้งนี้ข้อมูลจากวิสาหกิจด้านการไฟฟ้าของจีนระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาโรงไฟฟ้า 10 แห่งแถบบริเวณมณฑลซื่อชวนได้รับผลกระทบทำให้ต้องหยุดการผลิต นอกจากนี้ปลายสัปดาห์ที่แล้วปิโตรไชน่า ก็เพิ่งออกมาแถลงว่า ทางบริษัทกลับมาทำการผลิตแก๊สได้เพียง 1/3 จากยอดการผลิตเดิมก่อนเกิดแผ่นดินไหว ส่วนสถานีและแท่นขุดเจาะอีกจำนวนมากก็ยังไม่ได้กลับมาดำเนินการตามปกติ
นอกจากนี้เขื่อนราว 400 แห่งก็ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ถนนสู่โรงไฟฟ้าพลังน้ำไท่ผิงอี้ ของหัวเหนิงกรุ๊ปวิสาหกิจการไฟฟ้าของจีนพังไม่มีชิ้นดี พนักงานกว่า 50 ชีวิตต้องติดอยู่ที่โรงไฟฟ้า สัปดาห์ที่ผ่านมา อู๋ เจี้ยนหลิง ผู้ประสานงานฉุกเฉินของบริษัทได้ติดต่อกับกองทัพเพื่อขอความช่วยเหลือทางอากาศ อย่างไรก็ตามอู๋กล่าวว่า ยังไม่สามารถระบุความเสียหายที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่ชัด และยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าจะกลับมาผลิตไฟฟ้าอีกเมื่อไร
จากสภาพการณ์ดังกล่าว ปัญหาหนักอกที่จีนต้องเผชิญหลังแผ่นดินไหว จึงเป็นเรื่องการคุมเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นความท้าทายว่า “ทางการจะสามารถคุมราคาสินค้าพื้นฐานโดยเฉพาะอาหาร ขณะที่เกิดปัญหาสะเทือนสังคมอย่างรุนแรงได้หรือไม่”
นับแต่ราคาเนื้อหมูพุ่งไม่หยุดตั้งแต่ปีที่แล้ว อัตราเงินเฟ้อของจีนก็พลอยพุ่งทะยานตาม กระทั่งหลายฝ่ายกังวลว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจนี้อาจนำไปสู่ การสั่นคลอนเสถียรภาพและความมั่นคงทางสังคม-การเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์
ซื่อชวนเป็นแหล่งผลิตเนื้อหมูที่สำคัญ ทำการผลิตเนื้อหมูเป็นสัดส่วน 11% ของเนื้อหมูจีน นอกจากนี้การผลิตธัญพืชของซื่อชวนยังเป็นเส้นเลือดสำคัญ ที่หล่อเลี้ยงประชากรจีน ดังนั้นหลายฝ่ายจึงตั้งข้อกังวลว่า “แผ่นดินไหวที่ซื่อชวนอาจส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ” ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้นำธัญพืชและน้ำมันพืชจำนวนนับแสนตันจากคลังสำรองปล่อยสู่ตลาด เพื่อบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อ
เฉิง เว่ยชิง จากซิติก ซีเคียวริตี้ส์ชี้ว่า “ราคาเนื้อหมูซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ดันยอดเงินเฟ้อพุ่งพรวด ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก อย่างไรก็ตามเฉิงเองก็ไม่ทราบว่า ภาวะดังกล่าวจะดำรงอยู่ได้นานเท่าไร”
ในรายงานวิจัยของเลห์มาน บราเธอร์ส ซุน หมิงชุนระบุว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวไม่น่าก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการผลิตด้านการเกษตรมากนัก อย่างไรก็ตามภัยธรรมชาติครั้งนี้ อาจก่อให้เกิดกระแสตื่นกลัวเรื่องอุปทานข้าว และเมื่อนำกระแสดังกล่าวมาพิจารณาคู่กับภาวะขาดแคลนข้าวในตลาดโลก ราคาข้าวในอนาคตน่าจะขยับตัวเพิ่มขึ้นอีก
นอกจากนี้แผ่นดินไหวยังส่งผลสะเทือนต่อราคาหุ้นของกิจการที่มีความเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาทิ เหอเป่ย ไท่หัง และ เอเชีย ซีเมนต์ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาหุ้นของทั้งสองบริษัทขยับตัวสูงขึ้น เนื่องจากหลายฝ่ายคาดว่าการบูรณะซ่อมแซมอาคารต่างๆจะก่อให้เกิดอุปสงค์ต่อสินค้า และวัสดุที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างจำนวนมาก