xs
xsm
sm
md
lg

อดีตเฟื่องฟู ปัจจุบันเมืองร้างที่ถูกลืม ไฟสุมขอน ร้อนเก้าอี้ผู้นำรัฐบาลจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพเงียบเหงาในเมืองอี้ว์เหมิน มณฑลกันซู่ - รอยเตอร์
รอยเตอร์ – อดีตเมืองเศรษฐกิจ อุดมทรัพยากรแร่และพลังงานยุคประธานเหมา กำลังเผชิญวิกฤตหนัก หลังน้ำมันและแร่ธาตุถูกสูบจนหมด ชาวเมืองตกงาน กลายสภาพตกอับยากจน ด้านรัฐบาลท้องถิ่นละเลย แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

ณ เมืองอี้ว์เหมิน มณฑลกันซู่ อดีตเมืองที่เฟื่องฟูสุดๆในสมัยประธานเหมา แหล่งเศรษฐกิจสุดคึกคัก ที่ผู้คนอาศัยอยู่อย่างสุขสบาย ปัจจุบันภาพดังกล่าวกำลังหายไป อี้ว์เหมินกำลังกลายเป็นเมืองร้าง ที่เหลือประชากรเพียงไม่กี่คน

รัฐบาลจีนในสมัยที่ประธานเหมา เจ๋อตงยังทรงอำนาจอยู่ ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามแนวทางสังคมนิยมอย่างเข้มข้น การผลิตถูกวางแผนมาจากส่วนกลางว่า ใครจะผลิตอะไร, ที่ไหน และอย่างไร อี้ว์เหมินซึ่งเป็นแหล่งน้ำมัน ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ถูกเปรียบเป็นทองคำดำ ก็ถูกวางให้เป็น หนึ่งในเมืองทรัพยากรเศรษฐกิจที่สำคัญ

การย้ายผู้ค้นมาอาศัยอยู่รอบแหล่งทรัพยากร เพื่อการผลิตกลายเป็นหนึ่งในโครงการที่สำคัญ และเมืองต่างๆก็ผุดขึ้นรอบเมืองทรัพยากรทั่วประเทศ ทว่าเมื่อทรัพยากรธรรมชาติเริ่มลดลง อนาคตของชาวเมืองนั้น ก็เริ่มจางหายและดับสูญไปในที่สุด

“สภาพการณ์นี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตามปกติ อี้ว์เหมินเป็นเพียง หนึ่งในตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม” ฟิลลิปส์ แอนดรูว์-สปีด ศ.ด้านนโยบายพลังงานจากมหาวิทยาลัยดันดีกล่าว พร้อมชี้ว่า นโยบายด้านพลังงานของจีนได้ละทิ้งผู้คนบางส่วน ที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตไว้เบื้องหลัง

นอกจากนี้ ศ.แห่งมหาวิทยาลัยดันดียังระบุว่า “ครั้นการผลิตปิดฉากลง แรงงานจำนวนมากถูกทิ้งไว้ในชุมชนที่ถูกลืม พวกเขากลายเป็นปัญหาหนักอก ของรัฐบาล เพราะความยากจน ไร้อนาคต ทำให้พวกเขาอาจก่อการประท้วง

หลังการผลิตน้ำมันเข้าสู่จุดสูงสุดในปี 1959 อี้ว์เหมินก็เริ่มถูกลดความสำคัญลง กอปรกับการค้นพบแหล่งนำมันใหม่ทำให้ วิสาหกิจยักษ์อย่างปิโตรไชน่า ตัดสินใจย้าย สำนักงานในอี้ว์เหมิน ไปยังเมืองอื่น

หลังจากนั้นไม่นาน ข้ารัฐการก็เอาอย่างบ้าง เมื่อเมืองหมดความสำคัญลง ก็มีการสร้างเมืองอี้ว์เหมินใหม่ ห่างจากเดิมไปราว 80 กม. ชาวบ้านและแรงงานจนๆ ที่ไม่สามารถย้ายตามได้ ต้องตื่นมาพบกับความจริงที่โหดร้ายว่า มูลค่าที่อยู่อาศัยของพวกเขาค่อยๆลดลง เมื่อคนอพยพออกจากเมือง ขณะที่ราคาอาหารก็แพงขึ้น เนื่องจากเหลือร้านค้าเพียงไม่กี่แห่ง

“ผมไม่ได้กินอยู่อย่างอิ่มหมีพีมัน ไม่มีปัญญาซื้อเสื้อผ้า แม้แต่คิดจะท่องเที่ยว หรือทำอะไรเพื่อความเพลิดเพลินยังทำไม่ได้ ผมได้แต่อยู่ไปวันๆ พวกเราเลือกที่จะออกไปประท้วงมาแล้ว” ชาวเมืองอี้ว์เหมินรายหนึ่งกล่าว

ในสมัยประธานเหมา การวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง พร้อมกับบทบาทของรัฐที่ให้การดูแลประชาชนตั้งแต่ออกจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนอย่างครบสูตร ทำให้ประชากรที่อาศัยอยู่ตามเมืองทรัพยากร ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อดึงดูดแรงงานในการผลิต สามารถใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย

ทว่าการวางแผนจากส่วนกลางดังกล่าว ไม่ได้คิดถึงผลในระยะยาวว่า หากทรัพยากรหมดลง ประชาชนรอบๆจะอยู่อย่างไร เมื่อรัฐไม่ได้ให้ที่พักพิง ดูแลประชากรตั้งแต่เกิดยันลาโลกเหมือนแต่ก่อน พวกเขาจึงไม่มีทางเลือกอะไรมากนัก นอกจากเก็บความไม่พอใจแสดงออกผ่านการประท้วง

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียระบุว่า จีนมีเมืองทรัพยากรลักษณะนี้ราว 118 แห่ง 18 แห่งไม่มีทรัพยากรเหลืออยู่แล้ว แต่เมืองบางแห่งผู้บริหารเริ่มโครงการอบรมอดีตแรงงานเหมืองทรัพยากร ฝึกทักษะงานด้านเกษตรกรรม, เทคโนโลยี และการท่องเที่ยว เพื่อสร้างทางเลือกในอนาคต

ด้านรัฐบาลเองก็เริ่มตระหนักถึงปัญหานี้ เนื่องจากช่องว่างความร่ำรวยในเมือง กับความยากจนในชนบท เป็นเชื้อปะทุทำให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาล รัฐมนตรีพาณิชย์จีนได้กล่าวถึงปัญหาเมืองทรัพยากร ในการประชุมสภาผู้แทนประชาชนครั้งล่าสุด สะท้อนความกังวลต่อปัญหาอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ไช่ ซิน ชาวเมืองอีว์เหมินเก่า ที่ย้ายมายังอี้ว์เหมินใหม่ได้ 6 ปี กล่าวถึงปัญหาว่า รัฐบาลท้องถิ่นไม่ได้ชดเชยอะไรให้กับพวกเขา มูลค่าที่อยู่อาศัยในเมืองเก่าลดลง แถมความเป็นอยู่ยังยากลำบาก แต่ไม่ได้รับการเหลียวแล ชดใช้เป็นเงิน รัฐบาลท้องถิ่นมัวแต่ผลาญ หมดเงินไปกับการสร้างถนนและจตุรัสต่างๆในเมืองใหม่

“แม้แต่จะออกเงินเพื่อช่วยย้ายถิ่นฐานจากเมืองเก่าสู่เมืองใหม่ รัฐบาลก็ไม่คิดช่วยเหลือเรา” ไช่กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น