xs
xsm
sm
md
lg

“โลว์เทคโนโลยี” ความหวังเดียวในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในจีนและพม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สองเท้าได้ผลสุด---จีนต้องส่งทหารลุยเดินเท้าเข้าไปช่วยเหยื่อในเวิ่นชวน จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวในดงเทือกเขา ที่ถูกปิดล้อมด้วยเส้นทางขาด และสภาพอากาศที่ย่ำแย่ ทำให้เครื่องบิน และเฮลิคอปเตอร์ปฏิบัติการไม่ได้ใน “นาทีชีวิต” เช่นนี้--เอเอฟพี
เอเอฟพี - ทุกวันนี้เราอาจส่งยานอวกาศไปสำรวจชายขอบของระบบสุริยะ อาจแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารรวดเร็วทันใจกับเพื่อนที่อยู่อีกฟากหนึ่งของโลก หรือแม้แต่กระทั่งอาจผ่าตัดผู้ป่วยด้วยรีโมตคอนโทรลทางอินเทอร์เน็ต

ถ้าเช่นนั้น เราย่อมต้องมีเครื่องมือไฮเทคบางอย่างสำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติหลายแสนคนในพม่า และจีน ซึ่งชีวิตกำลังแขวนอยู่บนความตายด้วยน่ะสิ จริงมั้ย?

คำตอบที่สั้น และเศร้า ก็คือไม่มี”


ภารกิจบรรเทาทุกข์ผู้ประสบหายนภัยในยุคต้นศตวรรษที่ 21 ยังมีความคล้ายคลึงอย่างน่าประหลาดใจกับการบรรเทาทุกข์ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 หรือแม้แต่ก่อนหน้านั้น

“ผมเคยเป็นเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ในโมแซมบิกสมัยทศวรรษ 80” เอียน เบรย์ โฆษกองค์การบรรเทาทุกข์ออกซแฟม เล่าให้เอเอฟพีฟัง

“ผมต้องเดินทางจากโมแซมบิกมายังกรุงฮาราเร โดยนั่งมาในรถแลนด์โรเวอร์ทั้งวัน เพื่อที่จะส่งโทรพิมพ์ชิ้นหนึ่งกลับไปให้สำนักงานออกซแฟมในเมืองออกซฟอร์ด เดี๋ยวนี้ผมต่อโทรศัพท์ถึงแป๊บเดียว นั่นคือตัวอย่างว่าเทคโนโลยีช่วยเราได้ยังไง”

แต่พื้นฐานยังคงเหมือนเดิม ผู้คนยังต้องการอาหาร, น้ำดื่มสะอาด และการสุขาภิบาล พวกเขาต้องการสิ่งของธรรมดาๆ อย่างสบู่ ถังน้ำสำหรับล้างมือ หลังจากทำกิจธุระขับถ่ายแล้ว เพื่อฆ่าเชื้อโรค คุณส่งสิ่งของเหล่านี้ไปให้ทางอีเมลไม่ได้หรอก”

เบรย์บอกว่า การใช้รถบรรทุก หรือเรือขนกระสอบข้าวสาร, ผ้าห่ม, อุปกรณ์สำหรับสร้างที่พักพิงชั่วคราว หรือข้าวของชิ้นใหญ่ๆ อย่างอื่นยังคงเป็นวิธีการที่เหมาะสมทางหนึ่งในการส่งความช่วยเหลือไปให้แก่พื้นที่ห่างไกล ซึ่งถูกพายุไซโคลนถล่มในพม่า และในมณฑลเสฉวนที่เจอแผ่นดินไหว

การขนส่งทางอากาศอาจรวดเร็วและทันสมัยกว่า “แต่เป็นการส่งความช่วยเหลือที่ไม่ได้ผลสักเท่าไร และเป็นวิธีการที่เสียเงินมาก”

เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงสิ่งของได้คราวละเล็กน้อย และการหย่อนอาหารลงมาจากเครื่องบินก็อาจทำให้ผู้อพยพเบียดเสียดยื้อแย่งกันจนเลือดตกยางออก คนที่แข็งแรงเท่านั้นถึงจะแย่งเอามาได้

นอกจากนั้น สิ่งของบรรเทาทุกข์ประเภทเครื่องทำน้ำดื่มสะอาด และเครื่องเวชภัณฑ์ยังต้องเป็นของง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และบึกบึนทนทานจึงจะทนกับสภาพอากาศรุนแรงจัด และความชื้นได้ และอึดกับการขนส่งที่ลำบากลำบน นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นยังจะต้องสามารถใช้งานได้อีกด้วย

ดังนั้น จึงตัดออกไปได้เลยสำหรับเครื่องสแกนเนอร์อันแสนทันสมัย ซึ่งใช้การได้อย่างดีตามโรงพยาบาลในเมืองเซอร์เรย์ หรือในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีวิศวกรสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอยช่วยเหลือ
ปัจจัยที่จำเป็นที่สุดของชีวิตเหยื่อแผ่นดินไหว ที่สิ้นเนื้อประดาตัว –เอเอฟพี
สำหรับการสร้างที่พักพิงฉุกเฉินนั้น สิ่งของช่วยเหลือซึ่งปราดเปรื่องที่สุดก็คือสิ่งของที่มีความเรียบง่ายที่สุด เกรแฮม ซอนเดอร์ แห่งสมาพันธ์กาชาดสากลกล่าว โดยต้องเป็นสิ่งของที่นำมาประกอบเข้าด้วยกันได้ง่ายที่สุดรวดเร็วที่สุด และคุ้มเงินมากที่สุด

“เต็นท์น้ำหนักเบาหลังหนึ่งมีราคา 265 ดอลลาร์ แต่ชุดอุปกรณ์สำหรับสร้างที่พักอาศัยชั่วคราวหลังหนึ่ง มีแผ่นผ้าพลาสติก, ถุงเครื่องมือ และตัวยึด รวมกันแล้วมีราคาแค่ 60 ดอลลาร์เท่านั้น” ซอนเดอร์จาระไน

หรือแม้กระทั่งเรื่องอาหารก็ตาม แม้นักโภชนการจะพยายามคิดค้นอาหารที่มีคุณค่าสูงสุด เช่น ขนมปังให้โปรตีนสูง หรืออาหารทดแทนที่เรียกกันว่า พลัมพีนัต (Plumpynut) ซึ่งเป็นอาหารในบรรจุภัณฑ์ ที่พร้อมแกะออกมารับประทานได้เลย อาหารจำพวกนี้ใช้สำหรับเยียวยาผู้รอดชีวิตที่อยู่ในภาวะขาดสารอาหารอย่างหนัก

ทว่าสำหรับผู้รอดชีวิตส่วนใหญ่แล้ว อาหารที่พวกเขาคุ้นเคย กินได้ และย่อยง่ายคือสิ่งที่พวกเขาต้องการอันดับหนึ่ง นี่คือเหตุผลอธิบายว่าทำไมข้าวจึงตัวเลือกสำคัญ

ซอนเดอร์เล่าย้อนไปเมื่อครั้งที่เขาไปปฏิบัติการบรรเทาทุกข์ในอัฟกานิสถาน และพบว่า อาหารที่ทหารอเมริกันแจกให้ประชาชน ซึ่งเป็นอาหารสำเร็จรูป เปิดกินได้ทันทีนั้น ชาวบ้านกลับเอามาใช้เป็นก้อนอิฐถมถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อเสียฉิบ! ไม่มีใครอธิบายให้ชาวบ้านทราบว่าห่อพลาสติกหน้าตาประหลาดนั้น มีอาหารอยู่ข้างใน

ไปดูสถานการณ์ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่จีนบ้าง จูลี ไรอัน จากสมาคมกู้ภัยระหว่างประเทศ (International Rescue Corp.) ซึ่งเป็นองค์กรกุศลของอังกฤษ กล่าวว่า การค้นหาผู้รอดชีวิตใต้ซากอาคารปรักพังจะใช้เทคโนโลยีหลายอย่างร่วมกัน และใช้สุนัขดมกลิ่น ตลอดจนใช้ประสบการณ์ที่ทราบกันดีว่า ซากอาคารที่ถล่มลงมานั้น อาจมีช่องโหว่ภายใน ซึ่งทำให้ผู้ติดอยู่รอดชีวิตได้

เครื่องมือค้นหาผู้รอดชีวิต เช่น การติดเครื่องไมโครโฟนบนซากปรักหักพัง เพื่อจับเสียงที่ดังมาจากผู้รอดชีวิต และค้นหาตำแหน่ง หรือ “สคูบาร์” ซึ่งเป็นกล้องติดบนไม้ยาว ที่สามารถแหย่เข้าไปในกองอิฐกองหินได้

นอกจากนั้นยังมีนวัตกรรมล่าสุดเป็นอุปกรณ์ ซึ่งเรียกว่าเครื่องวิเคราะห์คาร์บอนไดออกไซด์ “ถ้าคุณกำลังสลบอยู่ใต้โพรง ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในช่องโพรงจะสูงขึ้น” ไรอันอธิบาย

หรือการใช้เครื่องมือค้นหา ซึ่งเป็นต้นแบบการพัฒนาเครื่องมืออื่นๆ ตามมา ได้แก่ ระบบเรดาร์ภาคพื้นดิน ซึ่งส่งสัญญาณทะลุทะลวงซากปรักหักพัง เพื่อค้นหาช่องว่าง และถ้าโชคดี จะสามารถค้นหาเสียงหัวใจเต้นของผู้รอดชีวิตได้อีกด้วย

นอกจากนั้นยังมีเทคโนโลยีที่สามารถเจาะลึกไปไกลกว่านั้น โดยนักวิทยาศาสตร์กองทัพสหรัฐฯ ได้ทดลองฝึกหนูสำหรับค้นหาผู้รอดชีวิต และส่งสัญญาณวิทยุกลับมา โดยมีการฝังอุปกรณ์ไว้ในสมองของหนูเพื่อบ่งชี้ที่ตั้ง

“เรานำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กันมากขึ้นอย่างเอาจริงเอาจัง แต่งานนี้ก็ต้องอาศัยเรื่องของสัญชาตญาณเข้ามาช่วยเยอะด้วยเช่นกัน” ไรอันทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น