เอเจนซี -จีนได้ฤกษ์เปิดตัวบริษัทผลิตจัมโบเจ็ทหรือเครื่องบินไอพ่นพาณิชย์ขนาดใหญ่ ที่เซี่ยงไฮ้เมื่อวันอาทิตย์(11 พ.ค.) อันเป็นอีกก้าวสู่ฝันอันยิ่งใหญ่ในการทะยานสู่แท่นยักษ์ใหญ่ผลิตเครื่องบินโลก และจะค่อยๆท้าชิงส่วนแบ่งตลาดกับสองยักษ์ใหญ่เครื่องบินโลกได้แก่แอร์บัสแห่งฝรั่งเศส และโบอิ้งแห่งสหรัฐอเมริกา
การเปิดตัวบริษัทผลิตเครื่องบินพาณิชย์จีนในครั้งนี้ จดทะเบียนภายใต้บริษัทชื่อ Commercial Aircraft corporation of China (CACC) โดยได้รับเงินทุนอัดฉีดทั้งสิ้นถึง 19,000 ล้านหยวน หรือราว 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับรับผิดชอบงานวิจัย พัฒนา ผลิต และทำการตลาดเครื่องบินเจ็ทขนาดใหญ่ หรือจัมโบเจ็ท รุ่น “เมด อิน ไชน่า” ซึ่งคาดว่าจะปรากฎโฉมในปี 2020
โดยเงินลงทุนก้อนใหญ่จำนวน 6,000 ล้านหยวน หรือ 30% ได้มาจากคณะกรรมการบริหารและดูแลสินทรัพย์ของรัฐ และกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายเดียวรายใหญ่ที่สุด
ขณะที่บริษัทการบินวิสาหกิจของรัฐเช่นบริษัทอุตสาหกรรมการบินจีนหมายเลข 1 และ 2 หรือ China Aviation Industry Corporation I - II (AVIC Iและ AVIC II ) ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของจีน และเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ ร่วมกันลงทุน 25 % หรือราว 5,000 ล้านหยวน
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทวิสาหกิจของรัฐรายอื่นๆ ที่เข้าร่วมลงขันอัดฉีดทุนก่อตั้งบริษัทผลิตจัมโบเจ็ท “เมด อิน ไชน่า” แห่งใหม่นี้ ได้แก่ เช่น บริษัท อลูมินัม คอร์ปอเรชั่น ออฟ ไชน่า (ไชน่าโคล )บริษัท ,บริษัทเป่าซัน ไอรอน แอนด์ สตีล (เป่าสตีล) และบริษัทซิโนเคม อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมลงทุนบริษัทละ 1,000 ล้านหยวน
นับเป็นความคืบหน้าก้าวใหญ่อีกก้าวในเส้นทางสู่ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเครื่องบินโลกของจีน เพื่อลดการพึ่งพิงเครื่องบินจากตะวันตก และยังเล็งท้าชิงเค้กส่วนแบ่งตลาดจากแอร์บัส และโบอิ้งด้วย แอร์บัสคาดการณ์ว่ากลุ่มสายการบินจีนต้องการเครื่องบินโดยสารขนาดกลางราว 2,650 ลำ ในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันสายการบินจีนต้องพึ่งพิงเครื่องบินจากโบอิ้ง และแอร์บัสเป็นหลักอยู่
จีนได้ประกาศเมื่อปีที่แล้วว่าจะผลิตเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่มากกว่า 150 ที่นั่ง หรือเครื่องบินขนส่งสินค้าที่สามารถรองรับน้ำหนักได้กว่า 100 ตัน
แต่นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมการบินหลายฝ่ายไม่ค่อยมั่นใจฝีมือการผลิตเครื่องบินเจ็ทขนาดใหญ่สัญชาติจีนสักเท่าใดนัก เนื่องจากยังอ่อนหัดประสบการณ์ด้านนี้อยู่
สำหรับจ้วง หลงจิน ผู้จัดการทั่วไปของซีเอซีซีกล่าวว่า ทางบริษัทจะยังคงเดินหน้าสร้างเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ต่อไป พร้อมทั้งเผยว่ายินดีต้อนรับบริษัทร่วมลงทุนทั้งจากภายในประเทศ และบริษัทต่างชาติที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนครั้งนี้
ความพยายามในการก่อร่างอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินโลกของจีน เริ่มขึ้นเมื่อAVIC I ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ ซีอัน อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ป เป็นผู้พัฒนาเครื่องบินเจ็ท หรือเครื่องบินโดยสารขนาดกลาง รุ่น ARJ21-700 ขนาด 90 ที่นั่ง สิทธิบัตรประเทศจีน 100% ซึ่งได้เปิดตัวไปเมื่อปลายปี และมีแผนนำออกทดลองบินในปีนี้ จากนั้น ก็จะเริ่มส่งมอบให้แก่ลูกค้าในปีหน้า
AVIC I มียอดใบสั่งซื้อเครื่องบินเจ็ทรุ่น ARJ21 จากบรรดาบริษัทการบินภายในประเทศ และล่าสุด ออเดอร์ ขณะที่ จีอี คอมเมอร์เชียล เอวิเอชั่น เซอร์วิส ได้ลงนามข้อตกลงเบื้องต้นในสัญญาซื้อขาย ARJ21 จำนวน 5 ลำ นับเป็นบริษัทการบินต่างชาติรายแรกที่สั่งซื้อเครื่องบินเจ็ทรุ่นดังกล่าว ขณะนี้ AVIC I มียอดสั่งซื้อเครื่องบิน ราว 181 ลำ
ขณะที่บริษัทฮาเฟย เอวิเอชั่น อินดัสทรี ของ AVIC II ก็ผลิตเครื่องบินขนาดกลาง ERJ-145 โดยร่วมมือกับบริษัทเอ็มเบรเออร์ ของบราซิล
สำหรับเทคโนโลยีที่จีนใช้ในการผลิตเครื่องบินเจ็ทรุ่น ARJ21 นั้น เป็นเทคโนโลยีที่ยังล้าหลังกว่าเครื่องบินเจ็ทสมัยใหม่ซึ่งใช้วัสดุน้ำหนักเบาและเทคโนโลยี ที่ช่วยลดการบริโภคเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ AVIC I และ AVIC ยังเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินให้กับ 2 ยักษ์ผลิตเครื่องบินโลกได้แก่แอร์บัส และโบอิ้ง สำหรับเครื่องบินเจ็ทรุ่น เอ380 และ ดรีมไลเนอร์ 787
สื่อจีนรายงานในเดือนมกราคมว่าสองยักษ์ผลิตนกเหล็กจีนนี้ จะผนึกกำลังกันลุยธุรกิจเครื่องบินพาณิชย์ และจัดตั้งบริษัทผลิตเครื่องบินเจ็ทโดยสารภายในประเทศ.