xs
xsm
sm
md
lg

10 “บิ๊ก” ธุรกิจไทยในจีนที่พึ่งยามยากนักการค้า-ลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนังสือพ์รายสัปดาห์ - เปิด 10 บิ๊กนักธุรกิจไทยในจีน ที่นอกจากจะประสบความสำเร็จมากในจีนแล้ว หลายคนยังมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมสัมพันธ์ไทย-จีนให้แน่นแฟ้นมากขึ้น ขณะที่หลายคนเป็นที่พึ่งยามยากให้คนไทยที่ไปทำธุรกิจในจีนแล้วพบอุปสรรค!

ความสัมพันธ์ไทย-จีนนับวันยิ่งแน่นแฟ้น ตั้งแต่มีการเริ่มเปิดสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อ 30 ปีก่อน ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังจากนั้นไม่เพียงแต่ภาครัฐที่เป็นจุดเชื่อมประสานความสัมพันธ์ไทย-จีนให้มากขึ้น แต่หลายภาคส่วนได้ร่วมมีบทบาทสำคัญในการประสานสัมพันธ์กับจีนทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และมิติด้านความเชื่อมต่อทางด้านเชื้อชาติ ปัจจุบันหลายคนนอกจากจะประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจในจีนแล้ว หลายคนก็ได้รับความชื่นชมจากคนไทยด้วยกันอย่างมาก ขณะที่หลายคนเป็นที่รู้จักกันดีในจีน และคนจีนให้การยอมรับ!

“ธนินท์” นายกจีนโพ้นทะเลแห่งจีนคนแรก

คนแรกที่ต้องพูดถึงคือเจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” เจ้าสัวธนินท์ได้เข้าไปในจีนยุคแรกๆของจีนเมื่อเริ่มมีการเปิดประเทศ ซึ่งสิ่งที่ต้องพูดถึงคือ บริษัทซีพีในจีน หรือที่รู้จักกันในนามเจินต้า (เจียไต๋) เป็นบริษัทข้ามชาติแห่งแรกในจีนโดยได้จดทะเบียนหมายเลข 001 ซึ่งต่อมาเจ้าสัวธนินท์ ได้บุกเบิกเข้าไปทำธุรกิจในจีนจนประสบความสำเร็จที่เรียกว่าไม่มีคนจีนคนไหนไม่รู้จัก “เจินต้า” ถือว่าเป็นคนไทยที่ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจในจีนอย่างมาก ขณะเดียวกันคนไทยก็มองว่าเจ้าสัวธนินท์เป็นบิ๊กนักธุรกิจสำคัญในจีน

นอกจากนี้เจ้าสัวธนินท์ ยังได้รับการยอมรับจากรัฐบาลจีนอย่างมาก โดยตำแหน่งที่สำคัญคือเมื่อปี 2544 ได้รับคัดเลือกเป็นเป็นแขกรับเชิญพิเศษในการประชุมนักธุรกิจที่ปรึกษาผู้ว่าการนครเซี่ยงไฮ้,ปี 2545 เป็นที่ปรึกษาอาวุโสมณฑลส่านซี ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ,ปี 2546 เป็นสภาที่ปรึกษาผู้นำทางด้านธุรกิจของผู้ว่านครเซี่ยงไฮ้ และล่าสุดปี 2551 ธนินท์ ได้รับเลือกเป็น นายกคนแรกของสมาคมนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นสมาคมที่รัฐบาลจีนให้การรับรองและสนับสนุนด้วย

นอกจากนี้ธุรกิจซีพีถือว่าเป็นธุรกิจไทยธุรกิจเดียวในจีนที่มีการเตรียมทำการค้าเกือบทุกมณฑล จึงไม่แปลกใจที่ว่าการเดินทางนำนักธุรกิจไทยไปจีนเกือบทุกครั้ง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ จะต้องมีการพาไปดูงานที่ซีพี และมีการฝากฝังอย่างไม่เป็นทางการให้นักธุรกิจไทยสามารถปรึกษากับซีพีได้ หากไปดำเนินธุรกิจในจีนและประสบปัญหา

มิตรผล-ธนาคารกรุงเทพเจ๋ง

สมภพ เพทายบันลือ กรรมการรองเลขาธิการสภาธุรกิจไทยจีน แนะนำว่านักธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จในจีนที่สำคัญและประสบความสำเร็จในธุรกิจมากคือ สุนทร ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กลุ่มบริษัทมิตรผล ที่เริ่มต้นจากการตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลมิตรผลในจีน ที่เขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกว่างซี และขยายธุรกิจในการตั้งโรงงานผลิตกระดาษ และตั้งบริษัทโลจิสติกส์และมีเป้าหมายในการขยายธุรกิจไปสู่การผลิตเอทานอล

จุดสำคัญที่ทำให้ สุนทร นำธุรกิจสู่ความสำเร็จในจีน คือ การเลือกพื้นที่การลงทุนที่เป็นแหล่งผลิตน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งหลังจากร่วมทุนกับจีน ก็ได้ประสบความสำเร็จอย่างมาก

บริษัทมิตรผลนั้นตอนเข้าไปจีนอาจยังไม่มีใครรู้จักมากนัก แต่ยุทธศาสตร์การเลือกพื้นที่เข้าลงทุนที่ภายหลังทำให้มิตรผลเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของจีนนั้นได้ทำให้ทั้งคนจีนและคนไทยรู้จักมิตรผลมากขึ้น และเป็นกรณีศึกษาเส้นทางการประสบความสำเร็จของนักธุรกิจไทยในจีนที่ดีมาก

นอกจากนี้ก็มี ชาตรี โสภณพานิช ประธานบมจ.ธนาคารกรุงเทพ ที่ถือเป็นนักธุรกิจอาวุโสที่ได้รับการยอมรับในเมืองจีนโดยเฉพาะในวงการธนาคารในจีนอย่างมาก ปัจจุบันได้นำพาธนาคารกรุงเทพเข้าดำเนินการบริการทางการเงินครบวงจร มีพื้นที่ลงทุนที่ซัวเถา มหานครซ่างไห่ เซี่ยะเหมิน และปักกิ่ง ซึ่งลูกค้าหลักคือกลุ่มนักธุรกิจไต้หวันที่เป็นฐานลูกค้าเดิม

2 นักกม.ที่พึ่งนักธุรกิจไทย

ส่วนด้านกฎหมาย ที่รู้จักกันดีมี 2 คน คือ สงวน ลิ่วมโนมนต์ ประธานสำนักกฎหมายลิ่วมโนมนต์ทนายความ-การบัญชี สงวนได้ชื่อว่าเป็นทนายที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของซีพีในจีนคนหนึ่งที่สำคัญ เพราะสงวนเป็นผู้รู้ลึกกฎหมายจีนที่เก่งอย่างหาตัวจับยากคนหนึ่ง ภายหลังได้รับการยอมรับจากรัฐบาลจีนมากว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจีน จึงได้รับเชิญในการร่างกฎหมายจีนหลายฉบับ

ที่สำคัญได้รับเลือกเป็นเป็นที่ปรึกษาศูนย์ WTO ของเมืองเสิ่นเจิ้น ที่ปรึกษาสมาคมอุดมศึกษาทางด้านสถาบันทรัพย์สินทางปัญญา 200 กว่าแห่ง เป็นอนุญาโตตุลาการของมณฑล Shijiazhuang ฯลฯ

อีกคนหนึ่งคือ วิบูลย์ ตั้งกิตติภาภรณ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทที่ปรึกษากฎหมายฟาร์อีสต์ จำกัด ที่มีความรู้ด้านกฎหมายจีนไม่น้อย แต่หากเทียบกับสงวนแล้ว วิบูลย์ มีความเชี่ยวชาญด้านการต่อสู้ด้านกฎหมายเชิงธุรกิจอย่างมาก และมีข้อมูลเกี่ยวกับจีนแน่น อีกทั้งมีสำนักงานกฎหมายที่ตั้งอยู่ในจีน จึงสะดวกสำหรับนักธุรกิจไทยที่เพิ่งไปเมืองจีนไม่นานในการหาข้อมูล และเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ขณะที่ภาพทางสังคม สงวน ลิ่วมโนมนต์จะมีบทบาทในการช่วยรัฐบาลจีนอย่างมาก นี่คือความแตกต่างของนักกฎหมายที่เก่งกาจทั้งสองคน

สถานทูตไทยที่พึ่งอันดับแรกนักลงทุนไทย

อย่างไรก็ดี สำหรับคนไทยเริ่มเข้าไปทำธุรกิจในจีนและประสบปัญหาต่างๆ จากประสบการณ์พบว่า นักธุรกิจไทยมักจะไปปรึกษากับสถานทูตไทยเป็นอันดับแรก นอกจากนั้นก็นิยมไปปรึกษานายกสมาคมเกี่ยวกับการค้าไทยจีนต่างๆ ซึ่งคนที่คนจีนรู้จักกันดีและให้การยอมรับที่สุดที่ผ่านมาได้แก่ บุญทรง ศรีเฟื่องฟุ้ง ที่ดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าไทย-จีนยาวนานกว่า 10 ปี และเพิ่งพ้นตำแหน่งไป

นอกจากนี้อีกสมาคมที่สำคัญคือสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย สมาคมนี้เป็นสมาคมที่มีสมาชิกจำนวนมาก ถือเป็นสมาคมชาวจีนในเมืองไทยที่ใหญ่ที่สุด ฉะนั้นใครมาเป็นนายกสมาคมฯนี้จะได้รับการยอมรับจากคนจีนในไทยอย่างมาก และมักไปขอคำแนะนำในการทำธุรกิจในจีน

เจาะ 3 นักธุรกิจสานสัมพันธ์ไทย-จีน

ด้าน ผศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านจีน กล่าวว่า คนไทยในมุมมองของตัวเองที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-จีนอย่างยิ่ง ได้แก่,บัณฑูร ล่ำซำ,ไพโรจน์ อรุณไพโรจน์,พิพัฒ พะเนียงเวช

“บัณฑูร ล่ำซำ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ถือเป็นต้นแบบการทุ่มเทการศึกษาด้านจีนที่น่ายกย่อง เพราะบัณฑูรนั้นแรกเริ่มไม่มีความรู้ด้านภาษาจีน แต่เมื่อมีความสนใจที่จะไปลงทุนในประเทศจีนจึงให้ความสนใจศึกษาจีนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการเรียนภาษาจีนอย่างหนักจนภายหลังสามารถเป็นพูดปาฐถกถาเป็นภาษาจีนได้ยาวนานกว่า 30 นาที ซึ่งเป็นนักธุรกิจไทยที่เดินทางไปจีนบ่อยมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

นอกจากภาษาจีนแล้ว ยังให้ความสนใจด้านมิติเศรษฐกิจ วัฒนธรรมของจีนด้วย โดยทุกปี ธนาคารกสิกรไทยจะมีการจัดสัมมนาเรื่องจีนในเมืองไทยปีละครั้ง ซึ่งเป็นงานใหญ่ นอกจากนี้ยังได้มีการจัดสัมมนาที่จีน โดยปี 2550 ที่ผ่านมาได้มีการจัดงานสัมมนาที่เมืองเฉิงตู โดยร่วมมือกับ CCPIT หน่วยงานด้านการค้าการลงทุนของจีน (คล้ายๆบีโอไอไทย)โดยมีนักธุรกิจจีนกว่า 100 คนเข้าร่วมสัมมนา ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จมาก ทั้งนี้ บทบาทล่าสุดคือ บัณฑูร ได้เป็นหนึ่งใน 80 คนที่ได้เป็นผู้วิ่งคบเพลิงงานโอลิมปิกไม้ที่ 8 ที่เพิ่งผ่านไปนี้ด้วย

“มิตรผล”ซื้อใจคนจ้วง

สำหรับมิตรผลนั้น นอกจาก สุนทร ว่องกุศลกิจแล้ว คนที่น่าสนใจคือ “ไพโรจน์ อรุณไพโรจน์” ผู้บริหารมิตรผลในจีน บริษัทEast Asia Sugar โดยบริษัทมิตรผลได้ไปตั้งโรงงานในพื้นที่เขตปกครองตนเองชนชาติจ้วง กว่างสี ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวจ้วง ที่น่าประทับใจคือ ไพโรจน์ได้มีแนวคิดและได้จัดทำหนังสือขึ้นมา มี เนื้อหาเกี่ยวกับคนจ้วง มีเชื้อสายเชื่อมโยงกับไทย เน้นเป็นคนที่มีรากฐานมาจากที่เดียวกันกับคนไทย และบ่งบอกวิถีชีวิตที่ดีของชาวจ้วงซึ่งได้จัดทำเป็นภาษาไทย และได้แจกกับคนไทยในวาระโอกาสต่างๆ

การกระทำดังกล่าวกล่าวได้ว่ายิ่งเป็นการทำให้เกิดความใกล้ชิดระหว่างมิตรผลกับจีนมากขึ้น และได้ส่งเสริมภาพลักษณ์ของคนไทยในสายตาจ้วงที่ดีมากๆ ด้วย

อีกคนหนึ่งคือ “พิพัฒ พะเนียงเวช” กรรมการผู้อำนวยการบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือผู้จัดจำหน่ายบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อ “มาม่า”ในเมืองไทย

ผศ.ดร.อักษรศรี กล่าวว่า พิพัฒ ถือเป็นนักธุรกิจไทยที่มีรากฐานความสัมพันธ์กับจีนแน่นแฟ้นคนหนึ่ง โดยล่าสุดได้ทำหน้าที่เป็นพ่อสื่อในการเชื่อมโยงให้มีการวิ่งคบไฟโอลิมปิกในกรุงเทพมหานคร และปัจจุบันได้ชื่อว่าเป็นนักธุรกิจไทยที่เป็นผู้กว้างขวางในจีนตะวันตก
กำลังโหลดความคิดเห็น