xs
xsm
sm
md
lg

จับตา“บัวแก้ว”รุกสัมพันธ์การฑูตจีนปี’ 51 ยกระดับ 2 กงสุล-นำทัพธุรกิจเจาะจีนตอนใน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระทรวงต่างประเทศมีแผนยกระดับสำนักงานกงสุลเป็นสถานกงสุลใหญ่ 2 แห่ง ปี 2551 ได้แก่ สถานกงสุลใหญ่เมืองซีอาน และสถานกงสุลใหญ่นครหนานหนิง หวังคล่องตัวติดต่อธุรกิจระดับมณฑล บุกเบิกเส้นทางใหม่ให้นักลงทุนไทย ชี้ “ซีอาน-หนางหนิง” ล้วนเป็นจุดยุทธศาสตร์โลจิสติกส์
         
          การค้าการลงทุนในจีนของคนไทยนับวันยิ่งมากขึ้น นอกจากจะต้องอาศัยความถนัดเฉพาะตัวของผู้ประกอบการต่างๆ ในการเดินหน้าธุรกิจของตัวเองให้ประสบความสำเร็จ ยังต้องอาศัยหน่วยงานภาครัฐบาลไทยที่จะช่วยสนับสนุนการค้าการลงทุนของไทยในจีนให้มีมากขึ้นได้ โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการทูต ที่น่าจับตาคือปี 2551 กระทรวงต่างประเทศของไทยมีแผนที่จะยกระดับหน่วยงานระดับสำนักงานกงสุลเป็นสถานกงสุลใหญ่ที่สำคัญถึง 2 แห่งด้วยกัน และนั่นเป็นโอกาสที่ไม่ควรมองข้าม...
         
          ซีอานจุดพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-จีน
         
          แหล่งข่าวแวดวงการทูตไทยในประเทศจีน เปิดเผยว่า ในปีหน้านี้กระทรวงต่างประเทศของไทยจะมีการพัฒนาสำนักงานกงสุลเป็นสถานกงสุลใหญ่ 2 แห่งด้วยกันคือที่เมืองซีอาน มณฑลส่านซี และเมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซี จ้วง
         
          โดยตั้งแต่อดีตมาเกณฑ์การตั้งสถานกงสุลของไทยนั้น มักจะมีการพิจารณาจากจำนวนคนไทยว่ามีมากพอในการเข้าไปดูแลให้ความสะดวกหรือไม่ ซึ่งคนไทยที่นั้นๆ ก็อาจจะไปได้ทั้งวัตถุประสงค์ของการไปเที่ยว หรือไปลงทุนโดยตรง ซึ่งแม้ว่าปริมาณการค้าอาจจะยังไม่มากนัก แต่มีความจำเป็นต้องมีสถานกงสุลเพื่ออำนวยความสะดวก เช่น คุนหมิง เซี่ยเหมิน หรืออีกส่วนหนึ่งนั้นจะมีการพิจารณาจากที่ว่าเมืองนั้นๆ มีความสำคัญเป็นเมืองเศรษฐกิจ หรือเป็นเมืองท่าสำคัญ มีมูลค่าการค้าขายกับไทยเป็นจำนวนมาก เช่น เซี่ยงไฮ้ กวางเจา เฉิงตู หรือแม้กระทั่งน้องใหม่อย่างนครหนานหนิง
         
          สิ่งที่น่าสนใจคือ เมืองซีอาน เมืองซีอานไม่ได้อยู่ในข่ายองค์ประกอบในการตั้งสถานกงสุลหลายๆ ด้าน เพราะจำนวนคนไทยไม่มาก ปริมาณการค้าขายกับประเทศไทยก็สู้เมืองอื่นๆ ในจีนไม่ได้ ซีอานจึงตั้งขึ้นมาเพื่อตอบสนองทางการเมืองโดยแท้ เพราะรัฐบาลจีนได้มีการเจรจากับรัฐบาลไทยเพื่อให้มีการจัดตั้งสถานกงสุลขึ้น
         
          “รัฐบาลไทยสมัยที่แล้วที่สนองความต้องการของรัฐบาลจีนที่กำลังต้องการผลักดันให้ซีอานซึ่งเป็นเมืองด้านใน มีสถานกงสุลเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นประเทศอะไร ขอให้มีการเปิดนำเป็นประเทศแรกไปก่อนเพื่อที่ประเทศอื่นจะได้ตามมาเปิดด้วย”
         
          รัฐบาลของประเทศไทยจึงได้ตกปากรับคำและเปิดเป็นประเทศแรก ในปี 2549 โดยการเปิดในช่วงแรกๆนั้นเป็นข่าวใหญ่โตเนื่องจากเราเป็นประเทศแรกที่ได้เปิดหลังจากที่ผ่านช่วงรุ่งเรืองของซีอานเมื่อประมาณ 1000 ปีมาแล้ว โดยซีอานในอดีตเป็นจุดสำคัญของเส้นทางสายไหม ที่ชนชาติต่างๆ ได้เข้ามาทำการค้าขาย มีการติดต่อกับอารยประเทศ แต่หลังจากนั้นซีอานได้กลายเป็นเมืองชั้นในที่ยังไม่เจริญนัก
         
          ที่น่าสนใจคือ เมื่อมีการตั้งสำนักงานกงสุลได้ 1 ปี กลับพบว่าสำนักงานกงสุลซีอานได้ทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์มากมาย คนซีอานเริ่มรู้จักคนไทยและพูดถึงมากขึ้น ขณะที่ในแง่ของความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ถือว่าการทำตามคำร้องขอของจีนครั้งนี้ได้ทำให้ความสัมพันธ์ไทย-จีนรุกหน้าขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ในเรื่องเศรษฐกิจการค้าระหว่างกันก็มีมากขึ้น
         
          ทั้งด้านการเกษตร หรืออุตสาหกรรม ซึ่งรถเมล์แอร์ NGV ที่ทางกรุงเทพมหานครได้นำมาทดลองใช้ในบางสายอยู่ขณะนี้เช่น สาย 8 ก็ผลิตที่ซีอาน แถมยังมีการจองซื้อรถบรรทุกหนักอีกจำนวนไม่น้อย
         
          นอกจากนี้ซีอานยังเป็นเมืองที่เป็นฐานการผลิตบุคคลและสินค้าที่ต้องใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีป้อนตลาด เช่น เครื่องบินพาณิชย์ของจีนเอง และฐานการผลิตปีกเครื่องบินแอร์บัส มีฐานการวิจัยด้านอวกาศ ฯลฯ
         
          ที่ผ่านมาเกาหลีใต้เป็นประเทศที่สองที่ได้เปิดสถานกงสุลใหญ่ที่ซีอาน ระดับสูงกว่าไทยขั้นนึง เพราะของไทยยังเป็นเพียงสำนักงานสถานกงสุล ด้วยความสำเร็จหลายประการกระทรวงต่างประเทศของไทยจึงเตรียมการปรับให้เป็นสถานกงสุลใหญ่ในปีหน้านี้แล้ว ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ ที่สำคัญยังมีอีกหลายประเทศที่สนใจและกำลังพิจารณาที่จะเปิดกงสุลใหญ่ที่ซีอานนี้ด้วย อาทิ ญี่ปุ่น คาซัคสถาน ฮังการี และสหรัฐอเมริกา
         

ศูนย์กลางโลจิสติกส์ภายในจีน

แหล่งข่าวกองอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ว่า การยกระดับสำนักงานกงสุล เป็นสถานกงสุลใหญ่นี้ จะเป็นประโยชน์มากเพราะสถานะ อำนาจ และบทบาทของสถานกงสุลใหญ่จะมีมากกว่าสำนักงานกงสุล

สำหรับสำนักงานกงสุลซีอาน ปัจจุบันเป็นการทำงานที่ขึ้นอยู่กับสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำเมืองปักกิ่ง แต่ต่อไปเมื่อมีการยกระดับ จะสามารถประสานและทำงานเชิงรุกกับมณฑลท้องถิ่นได้สะดวก และคล่องตัวยิ่งขึ้น และมีอาณาเขตดูแลไปถึงมณฑลกานซู และมณฑลหนิงเซี่ยด้วย

เมื่อมองในภาพรวมแล้ว การยกระดับสำนักงานกงสุลที่ซีอาน เป็นสถานกงสุลใหญ่ครั้งนี้จะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์มาก โดยซีอาน ปัจจุบันถือว่าเป็นประตูสู่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือที่สำคัญของจีน เพราะได้ถูกวางยุทธศาสตร์ให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์เชื่อมทั้งมณฑลภาคตะวันออกและภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน โดยปัจจุบันมีความพร้อมทั้งเส้นทางทางบกและทางอากาศ โดยมีไฮเวย์ 9 สายความยาว 1,640 กิโลเมตร ขณะที่ทางอากาศ ซีอานมี 160 เส้นทางการบินในประเทศ และมี 25 เส้นทางการบินระหว่างประเทศ รวมทั้งมีรถไฟใต้ดิน 2 สายหลักด้วย

ด้านเศรษฐกิจก็มีอุตสาหกรรมที่สำคัญหลายอุตสาหกรรม เช่น ให้ความสำคัญกับอุตฯ การบินสูง อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ เช่น อาวุธยุทโธปกรณ์ รวมไปถึงอุตสาหกรรมการศึกษา โดยเป็นศูนย์รวมมหาวิทยาลัยมากถึง 72 แห่ง นอกจากนี้ยังมีศัยกภาพด้านตลาดการท่องเที่ยวสูง เพราะเป็นแหล่งวัฒนธรรม อารยธรรม โบราณคดีที่สำคัญของจีน ปัจจุบันมณฑลส่านซีก็ยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทย โดยเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับจังหวัดสุโขทัยด้วย

โดยนักธุรกิจไทยที่อยากมาลงทุนที่ซีอานก็จะมีโอกาสมาก เพราะเป็นมณฑลที่ยังไม่ค่อยมีนักลงทุนเข้าไปมากนัก การเป็นผู้เข้าไปในลักษณะของผู้บุกเบิกก็จะทำให้สามารถยึดหัวหาดได้ก่อน แต่ต้องศึกษาทั้งด้านการตลาด ด้านเศรษฐกิจให้ดีเสียก่อน

ธุรกิจที่แนะนำได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร,ผลไม้แปรรูป, น้ำผลไม้,ร้านอาหารไทยสปา ,ของประดับตกแต่งบ้าน และ อสังหาริมทรัพย์

หนานหนิงประตูจีนสู่อาเซียน

สำหรับสำนักงานกงสุลที่นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ปัจจุบันอยู่ในอาณาเขตของสถานกงสุลใหญ่กวางโจว ความสำคัญของหนานหนิงที่ทำให้กระทรวงต่างประเทศเล็งเห็นความสำคัญในการยกระดับครั้งนี้เป็นเพราะว่า ต่อไปหนานหนิงจะเป็นเมืองที่มีความสำคัญกับไทยมาก เพราะจีนได้วางยุทธศาสตร์ให้หนานหนิงเป็นเมืองประตูสู่อาเซียน ที่ผ่านมารัฐบาลกลางจีนก็จะให้มีการจัดงาน China-ASEAN Expo ทุกปีที่นครหนานหนิงนี้ด้วย เพื่อวางพื้นฐานให้เป็นเมืองศูนย์กลางติดต่อการค้ากับอาเซียน-จีน ตามกรอบ FTA อาเซียน-จีน

ทั้งนี้รัฐบาลกลางจีนได้ให้ความสำคัญกับหนานหนิงมากโดยเฉพาะการเชื่อมโยงโลจิสติกส์เชื่อมมาทางภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่สำคัญ โดยรัฐบาลกลางจีนได้อนุมัติให้กว่างซีร่วมกับยูนนาน ในการมีบทบาทกรอบความร่วมมืออนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะมีการจัดทำเส้นทางโลจิสติกส์ R3a-R3b เชื่อมระหว่างจีน –พม่า –ลาว และไทย และในปี 2549 ผู้นำกว่างซีได้เริ่มยุทธศาสตร์ “หนึ่งแกน สองปีก” เพื่อให้กว่างซีสามารถเชื่อมต่อภาคตะวันตก ภาคใต้ และภาคกลางของจีน กับประเทศอาเซียน ซึ่งได้มีการเสนอกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่ายเป่ยปู้ระหว่างจีน (กว่างซี กว่างตง ไหหลำ) กับ 6 ประเทศอาเซียนได้แก่ เวียดนาม มาเลยเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ที่รัฐบาลกว่างซีกับลังผลักดันให้เป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ

นอกจากนี้แม้ว่าหนานหนิงจะเป็นเขตที่เพิ่งจะมีการพัฒนา แต่เป็นเมืองที่มีวัตถุดิบจำนวนมาก ปัจจุบันจึงมีนักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนด้านอาหารสัตว์ วัสดุก่อสร้าง น้ำตาล และอาหารกันมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น