xs
xsm
sm
md
lg

มังกรเริ่มตอบรับกระแสช่วยตลาดหุ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลิว หมิงคัง ประธาน CBRC
ไชน่านิวส์ – หลังจากที่หุ้นจีนที่ทำรีบาวด์ขึ้นมาเพียงเล็กน้อย แล้วก็ตกหนักที่สุดในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้กระแสการเรียกร้องให้ทางการยื่นมือเข้ามาแทรกแซงตลาดที่นายหลิว หมิงคังนายใหญ่ในวงการธนาคารจีนได้จุดเอาไว้เริ่มเด่นชัดมากขึ้น โดยหน่วยงานของรัฐหลายฝ่าย ได้เริ่มออกมาแสดงความเห็นหรือออกมาตรการที่เป็นประโยชน์ต่อตลาดหลักทรัพย์แล้ว

ในช่วงที่ผ่านมา ที่ตลาดหุ้นมังกรยังเดินหน้าดิ่งเหวไม่หยุด โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ได้ตกลงมาแล้วถึง 34% และหากเทียบกับช่วงสูงสุดในฤดูใบไม้ร่วงปีที่ผ่านมาก็ร่วงลงไปถึง 49.7% ในขณะที่ดัชนีของเซินเจิ้นก็ไม่ได้ดีไปกว่ากันเท่าไหร่ จนมีนักวิเคราะห์ และผู้เล่นหุ้นอีกไม่น้อยที่รู้สึกว่า การร่วงของหุ้นจีนในขณะนี้เป็นการที่หุ้นตกอย่างไม่สมเหตุสมผล อีกทั้งกำลังจะกลายเป็นหายนะทางหลักทรัพย์

เหตุการณ์ดังกล่า ทำให้เมื่อไม่นานมานี้ นายหลิว หมิงคัง ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการธนาคารจีน (CBRC) ได้ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะ และได้เรียกร้องในงานประชุมป๋อเอ๋าที่ผ่านมา โดยขอให้รัฐบาลจีนเข้ามาแทรกแซงตลาดได้แล้ว ซึ่งหลิวได้ระบุว่า “เมื่อแกนหลักของตลาดไม่สามารถที่จะควบคุมปัญหาได้ คณะกรรมการที่กำกับดูแลกิจการธนาคารและคณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์ก็จำเป็นต้องใช้มาตรการบางอย่าง เพื่อที่จะปกป้องรักษาผลประโยชน์ของผู้ฝากเงินหรือผู้ลงทุนในตลาด"

หลิว หมิงคังนับเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนคนแรกที่ออกมาเรียกร้องให้แทรกแซงเพื่อช่วยเหลือตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งถือว่าเป็นการจุดกระแสที่อยากให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือ จากนั้นนายหลี่ หรงหรง ประธานคณะกรรมการตรวจสอบและบริหารสินทรัพย์รัฐ(SASAC) ก็ได้ออกมาเปิดเผยว่า “หุ้นในส่วนของรัฐวิสาหกิจควรจะช่วยผลักดันให้เกิดความมั่นคงในตลาดหลักทรัพย์” อีกทั้งทางคณะกรรมการกำกับกิจการหลักทรัพย์จีน (CSRS) ก็ได้อนุมัติกองทุนหุ้นรายหนึ่ง และมีกองทุนที่ออกจำหน่ายหุ้นถึง 10 กว่ารายภายใน 1 สัปดาห์

ไม่เพียงเท่านั้น รองผู้จัดการของสำนักงานแห่งหนึ่งในธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (PBOC) ก็ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ ธนาคารกลางจะยังไม่มีนโยบายในการที่จะลดการปล่อยสินเชื่อกว่าที่เป็นอยู่ โดยระบุว่า “นโยบายใหม่ที่จะออกมารวมถึงการควบคุมทางมหภาคนั้นไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ตลาดหลักทรัพย์ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทว่าทางธนาคารกลางก็ยังจะคอยจับตาดูตลาดทั้งสองนี้อยู่ เพื่อพิจารณาการใช้นโยบายการควบคุมทางการเงินอย่างเหมาะสม”

นั่นก็แปลว่า หน่วยงานต่างๆที่สังกัดคณะรัฐมนตรีจีน ได้เริ่มทยอยลงมือในการที่จะช่วยเหลือตลาดหลักทรัพย์แล้ว จึงได้มีการออกมาให้ความคิดเห็น หรือใช้มาตรการต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของตลาดหลักทรัพย์

นอกจากนั้น ล่าสุดคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์จีน ได้ออกประกาศใหม่ในคืนวันอาทิตย์ (20 เม.ย.) ที่ผ่านมา ให้ผู้ที่ถือหุ้นที่ติดไซเลนซ์ พีเรียดในมือ นำออกจำหน่ายภายใน 1 เดือน โดยจำนวนที่นำออกจำหน่ายรวมแล้วจะต้องไม่น้อยกว่า 1% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

นอกจากนั้นยังมีการกำหนดให้ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นมากกว่า 5% ขึ้นไป หากจะมีการเคลื่อนไหวในการจำหน่ายหุ้น จะต้องทำตามกฎระเบียบที่ทางคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ได้ระบุ และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ซึ่งมาตรการดังกล่าวที่ประกาศออกมา ได้ทำให้ในเช้าวันจันทร์ (21 เม.ย.) ดัชนีตลาดเซี่ยงไฮ้ดีดตัวขึ้นทันที 6.8% หลังเปิดตลาด

หนิ่ว เหวินซินนักวิเคราะห์เศรษฐกิจการเงินอาวุโส ได้เปิดเผยว่า “เมื่อทางการจีนเริ่มต้นในการฟื้นความเชื่อมั่นในตลาดหลักทรัพย์ ก็แปลว่าเริ่มคลำพบต้นตอของปัญหาแล้ว”

“สิ่งที่ทางการจะต้องทำก็คือ การบอกความจริงแก่ผู้ลงทุน ในขณะเดียวกันก็ต้องอัดฉีดสภาพคล่องให้กับตลาดหลักทรัพย์ เพราะหากปล่อยให้ตลาดหลักทรัพย์เข้าสู่ภาวะซบเซาอย่างไม่สมเหตุสมผลแล้วค่อยลงมือ ก็คงจะสายเกินไป” หนิ่วระบุ

การที่เจ้าหน้าที่สูงสุดของซีบีอาร์ซีได้ออกมาเรียกร้องให้ช่วยตลาดหุ้นนั้น ทำให้หลายฝ่ายต้องคิดอย่างหนัก ผู้เชี่ยวชาญได้เปิดเผยว่า “การกระทำเช่นนี้ของหลิว หมิงคัง ไม่ได้เป็นการก้าวก่ายข้ามหน้าที่ เพราะหากตลาดหุ้นพังเมื่อไหร่ ก็จะเกิดผลกระดับอย่างใหญ่หลวงต่อการพัฒนาและความมั่นคงของภาคธนาคาร ดังนั้นการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือตลาดหลักทรัพย์ ก็เท่ากับส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือภาคธนาคารด้วย”

หนิ่ว ได้วิเคราะห์ว่า “เมื่อใดที่ตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะซบเซา เงินทุนก็จะไหลกลับไปสู่ธนาคาร เช่นนี้จะสร้างปัญหาในหลายด้าน โดยธนาคารเองก็จะต้องแบกรับภาระในการบริหารมากขึ้น ยิ่งในปัจจุบันที่การปล่อยสินเชื่อของธนาคารถูกควบคุม สภาพคล่องล้นยิ่งกว่าเคยเป็นมาในอดีต และในช่วงที่ผ่านมาตัวเลขเงินออมภาคประชาชนก็มากขึ้นอีกขั้นหนึ่ง ดังนั้นหากตลาดหุ้นซบเซา ธนาคารก็จะเดือดร้อนไปด้วยแน่”


ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าเป็นช่วงพีคของการปล่อยหุ้นที่ติดไซเลนซ์ พีเรียดไว้ โดยผู้ที่อยู่วงในตลาดหลักทรัพย์ได้ประเมินว่า ในปี 2008 จะมีการปล่อยหุ้นเหล่านี้ออกมาเป็นมูลค่าทั้งสิ้นราว 3 ล้านล้านหยวน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดแรงกดดันต่อสภาพคล่องในตลาดหลักทรัพย์ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น