เอเอฟพี – ผลการศึกษานักวิจัยมะกันชี้ จีนแซงหน้าสหรัฐฯ ไปเรียบร้อยแล้วในฐานะชาติผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก พร้อมกับแนะให้เปลี่ยนวิธีมองปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในจีน เนื่องจากความหลากหลายด้านจำนวนประชากรและขนาดพื้นที่ทางภูมิศาสตร์
การศึกษาของนักวิจัยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียระบุว่า จีนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ (CO2) แซงหน้าสหรัฐฯ ในปี 2006 จากที่เคยคาดการณ์ก่อนหน้าว่าจะแซงหน้า
ในปี 2020
รายงานการวิจัย ซึ่งเขียนโดยศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ 2 ท่านคือศาสตราจารย์แม็กซิมิเลียน ออฟแฮมเม่อร์ แห่งวิทยาเขตเบิร์กลีย์และศาสตราจารย์ริชาร์ด คาร์สัน แห่งวิทยาเขตซานดิเอโก้ จะมีการตีพิมพ์ในวารสารเศรษฐศาสตร์และการบริหารด้านสิ่งแวดล้อม (the Journal of Environmental Economics and Management) ในเดือนพฤษภาคมนี้
หลังจากรวบรวมข้อมูลการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินในมณฑลต่าง ๆ ของจีน นักวิจัยได้คาดทำนายว่า ระหว่างปี2004-2010 จีนจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 ต่อปี ขณะที่การคาดการณ์ก่อนหน้านี้ อัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.5- 5
รายงานยังระบุด้วยว่า ความพยายามของชาติต่าง ๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กรอบพิธีสารโตเกียว ถูกหักล้างไปเสียเป็นอันมากจากการสร้างมลพิษในอากาศที่พุ่งพรวดของจีน
นักวิจัยทำนายว่าภายในปี 2010 “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของจีนจะเพิ่มจากระดับเมื่อปี 2000 ถึง 600 ล้านเมตริกตัน”
ปริมาณที่เพิ่มขึ้นนี้จะ “เคลื่อนบดบังคำมั่นสัญญาของบรรดาชาติร่ำรวยในพิธีสารโตเกียว ที่ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 116 ล้านเมตริกตัน”
“กล่าวอีกนัยหนึ่ง การเพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอนตามที่คาดการณ์เฉพาะในจีนในช่วง2-3 ปีข้างหน้านั้น จะมีปริมาณมากกว่าปริมาณการปล่อยก๊าซของอังกฤษ หรือของเยอรมนีเสียอีก”
นักวิจัยได้ศึกษาข้อมูลมลภาวะใน 30 มณฑลของจีนก็เพื่อให้ได้ภาพรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
“ทุกคนกำลังปฏิบัติกับจีนในลักษณะประเทศอันหนึ่งอันเดียว ทว่าแต่ละมณฑลของจีนนั้นมีขนาดกว้างใหญ่กว่าหลายประเทศในยุโรป ทั้งขนาดในแง่ภูมิศาสตร์และประชากร” ศาสตราจารย์คาร์สันกล่าว
“นอกเหนือจากนั้น การพัฒนาและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของแต่ละมณฑลก็มีความหลากหลายแตกต่างกันออกไป รวมทั้งความแตกต่างกันอย่างมากในแง่การเติบโตของประชากร ทั้งหลายทั้งปวงนี้มีผลต่อการบริโภคพลังงาน ซึ่งไม่สามารถแสดงให้เห็นได้อย่างง่ายดายในแบบจำลอง ที่สร้างขึ้นจากข้อมูลรวมกันของทั้งประเทศ”
ขณะที่ออฟแฮมเม่อร์ระบุว่า ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า “อัตราเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี้กำลังแซงหน้าการคาดการณ์ที่เลวร้ายที่สุดของเรา และนั่นย่อมหมายความว่าการบรรลุเป้าหมายในการรักษาระดับคงที่ของก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ในชั้นบรรยากาศจะมีความหนักหนาสาหัสมากขึ้น”