xs
xsm
sm
md
lg

สำนักงานปริวรรตไล่ซื้อหุ้นบีพี เผยรอยร้าวในวงการทุนสำรองจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พนักงานบีพี เติมไฮโดรเจนให้กับรถยนต์ของลูกค้า ซึ่งมาจอดรับบริการที่ปั๊มในมหานครปักกิ่ง - ไชน่า เดลี่
เอเชียน วอลล์สตรีท – สำนักงานปริวรรตเงินตราต่างประเทศจีน (SAFE) ลุยซื้อหุ้นบีพียักษ์น้ำมันแดนผู้ดี นักวิเคราะห์เผยข้อน่าสังเกต ชี้การที่สำนักปริวรรตฯโดดลงทุนหุ้นครั้งนี้ อาจมีปมขัดแย้งกับซีไอซีกองทุนความมั่งคั่งของจีน

เมื่อวันอังคาร (15 เม.ย.) บีพี ยักษ์น้ำมันจากอังกฤษยืนยันว่า กองทุนแห่งหนึ่งของจีนได้เข้าซื้อหุ้นจำนวน 1% ของบริษัท ซึ่งมีมูลค่าราว 2 ,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แหล่งข่าวใกล้ชิดระบุว่า กองทุนที่เข้ามาซื้อหุ้นของบีพี คือ สำนักงานปริวรรตเงินตราต่างประเทศจีน ซึ่งได้เข้าซื้อหุ้นของบีพีตั้งแต่ฤดูร้อนปีที่แล้ว

ข่าวดังกล่าวถูกเปิดเผยออกมา หลังจากมีข่าวออกมาว่า สำนักงานปริวรรตฯได้เดินหน้าซื้อหุ้นในบริษัทพลังงานชั้นนำ อาทิ บริษัทน้ำมัน โตตาล ของฝรั่งเศส ที่ทางสำนักงานได้เข้าไปซื้อหุ้นจำนวน 1.3% มูลค่า 2,450 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

แม้ทางสำนักงานไม่ได้ออกมาแสดงความเห็น หรือยอมรับเกี่ยวกับดีลดังกล่าว รวมทั้งยังไม่มีความชัดเจนว่า สำนักงานปริวรรตฯเข้าซื้อหุ้นในบริษัทน้ำมันเพราะเหตุใด บางฝ่ายคาดว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น เพื่อสู้กับภาวะราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด ที่ทำให้รัฐบาลจีนต้องสูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมาก กับตรึงราคาน้ำมัน ฉะนั้นการลงทุนในหุ้นของบริษัทน้ำมันจะเป็นการช่วยบรรเทาความสูญเสีย เนื่องจากยิ่งราคาน้ำมันพุ่งราคาหุ้นก็จะพุ่งตาม ช่วยชดเชยเงินที่สูญไปได้ส่วนหนึ่ง

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์อีกฝ่ายหนึ่งชี้ว่า ความเคลื่อนไหวของสำนักงานปริวรรตฯดังกล่าวกำลังสะท้อนรอยร้าวระหว่างผู้นำรัฐการเกี่ยวกับการบริหารทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจำนวนมหาศาลมูลค่ากว่า 1.68 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

การรุกลงทุนในหุ้นของสำนักงานปริวรรตฯไม่เพียงจำกัดอยู่ที่ หุ้นกลุ่มพลังงานเท่านั้น เมื่อเดือนธ.ค. 2007 บริษัทลงทุนสำนักงานปริวรรตเงินตรา (SAFE Investment Co.) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง และเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นโดยสำนักงานปริวรรตฯได้เริ่มเข้าไปถือหุ้นส่วนน้อยในธนาคารออสเตรเลียนหลายแห่ง

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจดูเป็นเรื่องปกติ สำหรับการ กระจายความเสี่ยงลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ทว่าทางรัฐบาลจีนได้ตั้งกองทุนความมั่งคั่งคือ ไชน่า อินเวสต์เมนต์ คอร์ป (ซีไอซี) บริหารทุนสำรองจำนวน 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯที่ได้รับโอนมาจากสำนักงานปริวรรต โดยซีไอซีจะรับหน้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่า ขณะที่สำนักงานปริวรรตฯ โดยปกติจะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ อาทิ พันธบัตร

แบรด เซตเซอร์ เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนของสหรัฐฯประมาณว่า 65%-70% ของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจีนอยู่ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ทางจีนเองก็ลงทุนในพันธบัตรอเมริกันเป็นจำนวนมาก

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ความเคลื่อนไหวของสำนักงานปริวรรตฯ ที่เข้าลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง เป็นการสะท้อนรอยร้าว ระหว่างหน่วยรัฐการจีน กล่วคือสำนักงานปริวรรตฯและธนาคารกลางจีนต้นสังกัดของสำนักงานปริวรรตฯ ไม่ค่อยพอใจการบริการเงินทุนสำรองของซีไอซี ฉะนั้นทางสำนักงานปริวรรตฯจึงกระโดดเข้าลงทุนสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงบ้าง เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า ทางสำนักงานก็สามารถบริหารเงินทุนสำรอง ด้วยการลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงได้เช่นกัน

ที่ผ่านมาซีไอซีเจ๊งกับการลงทุนครั้งสำคัญถึง 2 ครั้ง ในเดือนพ.ค. 2007 ซีไอซีได้ลงทุนซื้อหุ้นไอพีโอของแบล็คสโตนรวมมูลค่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทว่าหลังการลงทุนครั้งนั้นมูลค่าของหุ้นแบล็คสโตนก็ตกลงราว 40% ต่อมาเดือนธ.ค. 2007 ซีไอซีก็อัดฉีดเงินกว่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯลงไปกับมอร์แกน สแตนเลย์ ซึ่งเจอผลกระทบพิษซับไพรม์ หลังการลงทุนครั้งนั้น หุ้นของมอร์แกนก็ร่วงลงมาตลอด

สำหรับการรุกคืบลงทุนของสำนักงานปริวรรตฯ ค่อนข้างได้รับการต้อนรับอย่างดีจาก ยักษ์พลังงานฝรั่งเศส และอังกฤษ โฆษกของบีพีกล่าวว่า ทางบริษัทยินดีต้อนรับการลงทุนสำนักงานปริวรรตฯ ซึ่งการแสดงความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับรัฐบาลอังกฤษ ที่เชื่อว่า การเปิดตลาดและการค้าเสรีของอังกฤษ สะท้อนผ่านการเปิดกว้างรับการลงทุน รวมทั้งการลงทุนจากกองทุนความมั่งคั่ง ซึ่งบางประเทศเช่นสหรัฐฯ และยุโรป หวาดหวั่น

ส่วนโตตาล ยักษ์น้ำมันฝรั่งเศส ก็แสดงทัศนะในแง่บวกว่า การลงทุนของสำนักปริวรรตฯช่วยกระจายฐานผู้ถือหุ้น เนื่องจากปัจจุบันสัดส่วนผู้ถือหุ้นของโตตาลที่ไม่ใช่ชาวอเมริกันและยุโรปมีอยู่เพียง 3%

อย่างไรก็ตามข่าวดีดังกล่าว อาจเป็นข่าวร้ายสำหรับซีไอซีและรัฐบาลจีน ที่ความขัดแย้งภายในปะทุออกมาให้เห็น จากการช่วงชิงลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง.
กำลังโหลดความคิดเห็น