xs
xsm
sm
md
lg

เล่าเรื่องชีวิตบรรณาการมนุษย์ผ่าน “มุกมังกร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการออนไลน์ – “มุกมังกร” ชื่อนี้หลายคนพอได้ฟังแล้วคงพอคุ้นๆ กันบ้าง ใช่แล้วเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ทางสถานีโทรทัศน์วิกหลายสีของไทยเคยหยิบเอาเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้มาถ่ายทอดเป็นละครโทรทัศน์มาแล้ว และในครั้งนี้ “มุกมังกร” กลับมาอีกครั้งพร้อมกับบ้านหลังใหม่ โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์ได้ซื้อลิขสิทธิ์ฉบับภาษาไทยมา และเพิ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ปกใหม่หนังสือมุกมังกร
ทุกตัวอักษรในหนังสือเล่มนี้กลั่นกรองมาจากชีวิตจริงของสิรินทร์ พัธโนทัย บุตรสาวของสังข์ พัธโนทัย คนสนิทของจอมพลป.พิบูลสงคราม ซึ่งผู้เขียนใช้เวลานับสิบปีทบทวนเรื่องราวของตัวเอง และใช้เวลาอีกนานนับปี เพื่อถ่ายทอดความทรงจำเหล่านั้นออกมาเป็นตัวอักษร

มุกมังกร เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของสิรินทร์ พัธโนทัย บุตรสาวของสังข์ พัธโนทัย ผู้ถูกส่งตัวไปอยู่เมืองจีนอย่างลับๆ ตั้งแต่อายุได้ 8 ขวบ พร้อมกับพี่ชายคนรองวัย 12 ปี ในฐานะเครื่องบรรณาการมีชีวิต หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นตัวประกัน เพื่อแสดงถึงความไว้วางใจต่อกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน หนังสือเล่มนี้ ได้เปิดเผยเรื่องราวความสัมพันธ์ลับๆ ระหว่างไทยกับจีนในช่วงสงครามเย็น เรื่องราวความวุ่นวายของการปฏิวัติวัฒนธรรม และความผันผวนทางการเมืองในจีน

การเติบโตขึ้นมาท่ามกลางความผูกพันกับผู้นำจีน ทำให้ชีวิตของเด็กหญิงคนหนึ่งกลายเป็นเรื่องไม่ธรรมดา ในฐานะที่เป็นเสมือนบุตรบุญธรรมของนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล ทำให้ชีวิตเธอมีภัยคุกคาม จนต้องไปหลบซ่อนตัวในชนบท และต้องหนีออกนอกประเทศในที่สุด แต่หลังจากนั้นเธอก็ได้กลับคืนมายังจีนอีกครั้ง เพื่อช่วยประสานความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน ที่ชะงักไปนานร่วมยี่สิบปี

คุณวรรณไว พัธโนทัย พี่ชายคนรองผู้ร่วมผจญภัยไปกับคุณสิรินทร์ในครั้งนั้น ได้เล่าให้ฟังระหว่างงานเปิดตัวหนังสือมุกมังกรที่ผ่านมา ถึงสิ่งที่จุดประกายให้คุณพ่อ หรือ คุณสังข์ พัธโนทัย ตัดสินใจส่งลูกชาย-หญิงไปเป็นบรรณาการมีชีวิตให้แก่จีนนั้น โดยเริ่มต้นจากการที่ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากรมีโอกาสเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยไปประชุมที่เมืองบันดง ประเทศอินโดนีเซีย และมีโอกาสพบกับนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลของจีน ในครั้งนั้นโจวเอินไหลปรารบกับพระองค์เจ้าวรรณไวทยากรว่า “เรามิได้ปรารถนาจะเป็นศัตรูกับไทย ทั้งยังยินดีที่จะผูกมิตรกับทุกประเทศในอาเซียน”

หลังกลับจากการประชุม พระองค์เจ้าวรรณไวทยากรได้นำเรื่องนี้มาถ่ายทอดต่อให้แก่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้จอมพล ป.คิดผูกมิตรกับจีน แต่ด้วยเพราะในช่วงนั้นหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ต่อต้านระบบคอมมิวนิสต์อย่างมาก แน่นอนรวมถึงจีนด้วย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องเสี่ยงหากไทยสานสัมพันธ์กับจีนอย่างออกหน้าออกตา ดังนั้นสังข์ พัธโนทัย คนสนิทของจอมพล ป. ผู้ซึ่งเคยศึกษาประวัติศาสตร์อันยาวนานของจีน และทราบมาว่าในอดีตนั้นแคว้นเล็กๆ จะมีการส่งบรรณาการมนุษย์ไปให้แก่แคว้นใหญ่ เพื่อเป็นเครื่องประกันความไว้วางใจระหว่างกัน นี่เองจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางนับหมื่นลี้ของเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่ชื่อ “สิรินทร์ พัธโนทัย”

มุกมังกร หรือ The Dragon’s Pearl
สิรินทร์ พัธโนทัย
เขียน
นุชนาฏ เนตรประเสริฐศรี แปล
พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2551
ราคา 345 บาท
ลิขสิทธิ์ภาษาไทย 2551 : สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์
กำลังโหลดความคิดเห็น